พระ : เหยื่อแห่งความไม่สงบ…โดย : เฉลิมพล พลมุข

สังคมของโลกเราทุกวันนี้ตั้งแต่อดีตกาลในวันเวลาที่ผ่านมาสภาพของปัญหาหนึ่งของคนหรือมนุษย์ก็คือ ความอยู่รอดในตน กลุ่มของตน เผ่าพันธุ์ของตนเองปัญหาความขัดแย้งนอกจากภัยธรรมชาติแผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิด คลื่นพายุในทะเลมหาสมุทร อุบัติเหตุ โรคระบาดเรื้อรังแล้ว ยังมีภัยอีกหนึ่งสำคัญก็คือความขัดแย้งอันเนื่องมาจากความคิด ความเชื่อ ความรู้ ศาสนาและการเมือง

ปัญหาของความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทยเราได้เกิดขึ้นตั้งแต่ครั้งอดีตมามากกว่าสามศตวรรษที่ผ่านมาแล้ว ในครั้งอดีตมีสงครามแก่งแย่งดินแดน ขยายอาณาเขตการปกครองของเจ้าผู้ปกครองรัฐแผ่ขยายเมืองประเทศในยังดินแดนต่างๆ ด้วยตรรกะเหตุผลทั้งที่สามารถเข้าใจได้ และบางเหตุผลยังคงเป็นความลังเลสงสัยใคร่รู้ของนักประวัติศาสตร์และศาสตร์อื่น ๆ มาจนกระทั่งปัจจุบัน

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 18 มกราคม พ.ศ.2562 ในช่วงเวลา 07.30 น. ได้มีการลอบวางระเบิดริมถนนเลียบทางรถไฟสายโต๊ะเด็ง-เทศบาล ต.ปะลุรู ต.โต๊ะเด็ง อ.สุไหงปาดี จ.นราธิวาส เป็นเหตุให้ทหารพราน ทพ.4814 กรมทหารพรานที่ 48 บาดเจ็บ 5 นาย เวลา 08.00 น. มีการลอบวางระเบิดบนถนนบ้านท่ายาลอ หมู่ 4 ต.ตุยง อ.หนองจิก จ.ปัตตานี มีตำรวจชุด รปภ.ครูได้รับบาดเจ็บ 2 นาย และเวลา 20.30 น. มีการยิงถล่มใส่กุฏิพระ วัดรัตนานุภาพ ต.โต๊ะเด็ง อ.สุไหงปาดี จ.นราธิวาส ทำให้พระครูประโชติรัตนานุรักษ์ เจ้าคณะอำเภอและเจ้าอาวาส และพระสมุห์อรรถพรขุนอำไพ (พระอู๊ด) มรณภาพในที่เกิดเหตุ และมีพระอีกหนึ่งรูปมรณภาพในเวลาต่อมาอีกหนึ่งรูปได้รับบาดเจ็บสาหัสหลังจากคนร้ายมากกว่าสิบคนเข้าลอบยิงด้วยอาวุธปืนสงครามชนิดเอ็ม 16…(มติชนรายวัน 21 มกราคม 2562 หน้า 11)

การที่พระภิกษุ หรือพระสงฆ์ในพุทธศาสนาถูกลอบทำร้ายหรือถูกยิงฆ่าในครั้งนี้มิใช่เป็นครั้งแรกในรอบสิบปีที่ผ่านมาเหตุการณ์ดังกล่าวมีมาอย่างต่อเนื่องนอกจากเป้าหมายของการทำร้าย การฆ่าให้ตายแล้วยังมีกลุ่มประชากรอื่นๆ ที่เป็นเหยื่อจากวิกฤตการณ์ดังกล่าวทั้งเด็กนักเรียน ครู ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน ผู้บริหารของท้องถิ่น ชาวบ้านไม่อาจจะนับรวมชีวิตของเจ้าหน้าที่ภาครัฐ ทหาร ตำรวจ ฝ่ายปกครองที่ต้องพบแก่ความตายในจำนวนหลายพันคนไม่อาจจะนับถึงการบาดเจ็บพิการอยู่เป็นจำนวนมาก

Advertisement

หลากหลายคำถามที่ตรงไปยังรัฐบาลที่ผ่านๆ มารวมถึงรัฐบาลทหารที่นำโดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่มีหน้าที่ความรับผิดชอบโดยตรงสภาพปัญหาดังกล่าวยังคงมีอยู่ในข้อเท็จจริงและคาดประมาณว่าก็จะยังคงดำเนินต่อเนื่องไปโดยเอาชีวิตของพี่น้องประชาชน ทหาร ตำรวจ เจ้าหน้าที่รัฐทุกภาคส่วนรวมถึงชีวิตของนักบวช พระภิกษุ พระสงฆ์ในศาสนาเป็นเดิมพันและเหยื่อที่จะเกิดขึ้นในอนาคตที่มิอาจจะทราบได้ว่าจะเป็นใคร เกิดขึ้นเมื่อใด

และบางคำถามที่อาจจะมิได้รับคำตอบก็คือเมื่อใดปัญหาชายแดนภาคใต้จะมีความสงบร่มเย็นเสมือนภาคอื่นๆ ของเมืองไทยที่ต้องพบกับความมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน…

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับปัจจุบันที่ได้ตราไว้เมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ.2560 ในรัชกาลปัจจุบัน ในมาตรา 1 บททั่วไประบุไว้ว่า “ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียว จะแบ่งแยกมิได้” และมาตรา 2 ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

Advertisement

ในรัฐธรรมนูญไทยทุกฉบับที่ผ่านมาในมาตราแรกก็มีระบุในหลักการเหตุผลดังกล่าวมาในทุกๆ ฉบับ ปัญหาความขัดแย้งของจังหวัดชายแดนของภาคใต้ได้มีงานวิจัย การประชุมสัมมนา การเจรจาต่อรอง โครงการ “สานใจใต้ สู่ใจไทย” ที่พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรีได้เป็นประธานในโครงการ ดังกล่าว อาจจะย้อนไปถึงคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 66/2523 ในสมัยของพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ได้กำหนดนโยบายเพื่อต่อสู้กับระบอบคอมมิวนิสต์ที่เปิดโอกาสให้ผู้หลงผิดเข้าร่วมพัฒนาชาติไทย…

ผู้เขียนใคร่ขอนำข้อมูลหนึ่งเมื่อสองปีที่แล้วและเข้าใจว่าหน่วยงานความมั่นคงของรัฐก็น่าจะมีชุดข้อมูลดังกล่าวอยู่ในมือเช่นกันโดยศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี โดยมีข้อมูลตั้งแต่เกิดเหตุบุกปล้นปืนค่ายกองพันพัฒนาที่ 4 อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2547 ในช่วงสี่ปีแรกคือ 2547-2550 มีเหตุการณ์รุนแรงเฉลี่ยปีละ 1,926 ครั้ง และระหว่างปี 2551-2558 เกิดเหตุการณ์ 674 ครั้ง ระหว่างปี 2556-2558 มีผู้เสียชีวิต 456 ราย 341 ราย 244 รายตามลำดับ สำหรับผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ มี 978 คน 672 คน และ 544 คนตามลำดับเช่นกัน ที่ผ่านมานโยบายของรัฐบาลก็มีความพยายามในการเจรจาพูดคุยเพื่อให้เกิดสันติภาพในภูมิภาคดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง แต่เหตุการณ์ในการลอบยิงฆ่าทำร้ายชีวิตของพระสงฆ์จากกรณีดังกล่าวก็ยังเกิดขึ้นได้โดยที่เราท่านก็มิปรารถนาจะให้เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นกับชีวิตของผู้คนใดๆ ที่อยู่ภายในดินแดนที่ชื่อว่าประเทศไทย (Posttoday.com)

จากการที่พระภิกษุ พระสงฆ์ถูกฆ่าทำร้ายถึงชีวิตอาจจะรวมไปถึงผู้นำของศาสนาอิสลามบางคนในอดีตที่ถูกฆ่าและทำร้ายดังกล่าวรวมอยู่ด้วยเป็นที่สะเทือนใจและนำมาซึ่งความสลดหดหู่ที่ว่า พระหรือนักบวชไม่มีอาวุธสงครามในการปกป้องตนเองรวมถึงวิถีชีวิตของพระสงฆ์เองก็ต้องยึดในหลักการของคำสอนแห่งศาสนาที่ว่าให้อภัย เมตตา ประสานสามัคคีเราท่านได้เห็นภาพหนึ่งของสื่อหลายประเภททั้งรายการโทรทัศน์และหนังสือพิมพ์ที่ได้เห็นผู้นำศาสนาอิสลาม ชาวมุสลิมหลายคนได้นั่งร่วมพิธีศพของพระสงฆ์ในศาลาที่จัดการทำพิธีศพพระ…

สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช ซึ่งเป็นประมุขสูงสุดของคณะสงฆ์ไทยได้มีพระบัญชาโปรดให้รับศพของพระภิกษุที่ได้มรณภาพและบาดเจ็บสาหัสไว้ในพระสังฆราชานุเคราะห์รวมถึงสำนักจุฬาราชมนตรีได้ออกแถลงการณ์เรื่อง “ขอประณามกรณีการสังหารพระสงฆ์ อิหม่ามและประชาชนผู้บริสุทธิ์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้” ตอนหนึ่งที่ว่า ขอประณามการกระทำอันเหี้ยมโหดและไร้มนุษยธรรมของผู้ก่อความไม่สงบทั้งหลายที่พยายามบ่อนทำลายความสงบสุขและกระบวนการสันติภาพในพื้นที่ การใช้ความรุนแรงอย่างไร้ขอบเขตโดยไม่คำนึงถึงประชาชน ผู้บริสุทธิ์ทั้งเด็ก สตรี ผู้สูงอายุ ผู้นำของทุกศาสนา เป็นการกระทำที่ไร้มนุษยธรรมและละเมิดหลักคำสอนอย่างร้ายแรง

สำหรับศาสนาอิสลามถือว่าเป็นบาปใหญ่ที่พระผู้เป็นเจ้าจะลงโทษในวันพิพากษาจากหะดิษศอเฮี๊ยะฮ์ของอิหม่ามบุคอรีที่ว่า สิ่งแรกที่จะถูกสอบสวนในวันพิพากษาของมนุษย์คือการทำร้ายเข่นฆ่าผู้อื่น…

ผู้เขียนอาจจะรวมถึงท่านผู้อ่านบางท่านที่คาดคิดว่าผู้บริหารของรัฐบาล และผู้บริหารของคณะสงฆ์ไทยและเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ต้องทำงานใกล้ชิดกับประชาชนในพื้นที่ของความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ดังกล่าว คงจะได้รับรู้ถึงสภาพของปัญหาเป็นอย่างดีทั้งความคิดเห็นต่างของศรัทธาความเชื่อในศาสนา ปัญหาของระบบการเมืองในชายแดนภาคใต้ สิ่งสำคัญยิ่งก็คือชีวิตและคุณค่าของชีวิตนักบวชในพระศาสนาของศาสนาพุทธที่ต้องเสียสละทั้งเลือดเนื้อชีวิตต้องตายและบาดเจ็บในผ้าเหลืองที่มิใช่เป็นการตายด้วยการป่วยด้วยโรคและการตายอันเนื่องจากการชราสูงอายุ

ในระบบการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัยสงฆ์ไทย มีการสอนทั้งในระดับปริญญาและบัณฑิตศึกษาในหลักสูตรสันติศึกษาด้วยหลักการเหตุผลหนึ่งที่ว่าโลกทั้งผองเป็นพี่น้องกัน ให้ผู้คนได้มีชีวิตอยู่ร่วมกันอย่างสันติวิธีในสังคมของพหุนิยม (Pluralism) โดยเฉพาะอย่างยิ่งชีวิตของพระครูประโชติรัตนานุรักษ์ ซึ่งเป็นศิษย์เก่าของมหาวิทยาลัยสงฆ์และท่านก็มีชีวิตอยู่ร่วมกับพี่น้องต่างศาสนาด้วยสันติวิธีมาโดยตลอดในสังคมของพหุวัฒนธรรม ทั้งเชื้อชาติ วัฒนธรรม ภาษาและศาสนา…

คำพูดหนึ่งของพระครูประโชติรัตนานุรักษ์ก็คือ “ผมเกิดที่นี่ เรียนหนังสือที่นี่ รุ่นผมมีชาวพุทธสองคนทุกคนเป็นเพื่อนกัน พ่อแม่ปู่ย่าตายายเป็นคนนราธิวาส ชีวิตผมเกิดมาชาติหนึ่ง ได้สร้างวัดด้วยตนเองถวายเป็นพุทธบูชา ผมเริ่มสร้างศาลาหลังแรกคือศาลาการเปรียญ (ศาลาโรงธรรม)ใช้ชื่อว่า ธรรมานุภาพแล้วก็สร้างโรงฉันชื่อว่า สังฆานุภาพ รวมทั้งหมดเข้าด้วยกันจึงเป็นชื่อว่า วัดรัตนานุภาพ และคำพูดที่ว่า ในชีวิตผมไม่อยากได้ยินคำว่า มีวัดร้างในพื้นที่ที่ผมอยู่ มีช่วงหนึ่งมีวัดหนึ่งชาวบ้านไม่มีที่พึ่ง อยากทำบุญ อยากฟังธรรมแต่ไม่มีพระ ผมคุยกับชาวบ้านโคกโกว่า วันพระช่วงเช้าจะที่โน้นให้ชาวบ้านได้ทำบุญ ต้องเดินเท้าไปตั้งแต่เย็นของอีกวันไปถึงดึก ตื่นเช้ามาชาวบ้านมาทำบุญก็ต้องรีบเดินทางกลับเพื่อให้ทันเพลที่วัดโคกโกเพราะชาวบ้านรออยู่ และมีคำพูดก่อนที่จะมรณภาพก็คือ พระพุทธศาสนาเป็นสิ่งที่รักสูงสุดของผม ลมหายใจที่มีอยู่ขอถวายเป็นพุทธบูชาและขอทำความดีเพื่อพระพุทธศาสนาจนกว่าจะสิ้นลมหายใจ…

เราท่านที่ต่างได้รับรู้ถึงความในใจและคำพูดของท่านพระครู เจ้าอาวาสและเจ้าคณะอำเภอสุไหงปาดีคงจะอดที่จะกลั้นน้ำตาของตนเองไว้มิได้จากพระภิกษุหนึ่งรูปและเพื่อนสหธรรมิกที่ได้ถูกฆ่าตายด้วยฝีมือของผู้ที่ลอบทำร้ายฆ่าโดยตัวท่านเองมิมีโอกาสที่จะปกป้องชีวิตในอนาคตเพื่อพระศาสนาอีกต่อไป เหตุการณ์ดังกล่าวรัฐบาลที่ถือว่ามีอำนาจอย่างเบ็ดเสร็จในมือขณะนี้หากมิได้กระทำสิ่งใดบางอย่างเพื่อชาติบ้านเมืองอย่างแท้จริงในเวลานี้ทั้งการปฏิรูปการเมือง ศาสนา การศึกษา การทหาร กองทัพ ความปรองดอง รวมถึงจะเดินตามยุทธศาสตร์ชาติยี่สิบปีหากไม่สามารถเห็นมรรคผลในรัฐบาลนี้แล้ว ผู้บริหารของรัฐบาล คสช.เมื่อผ่านวันเวลาไปคงจะตราตรึงอยู่ในอนาคตของคนรุ่นใหม่อย่างมิรู้ลืม ท่านจะเลือกวิธีการ หลักการในการปกครองประเทศแบบใดคงจะมีคำตอบทั้งในวันนี้และวันเวลาในอนาคต…

วันเวลาที่ผ่านมาได้มีวิกฤตในแวดวงของศาสนาโดยเฉพาะอย่างยิ่งบุคลากรของศาสนาทั้งพระภิกษุ พระสงฆ์ที่ประพฤติผิดพระธรรมวินัย บางรูปมีพฤติกรรมที่กระทำความผิดต่อกฎหมายบ้านเมืองอาจจะรวมไปถึงภาพลักษณ์ของพระสงฆ์ที่ถูกยกเป็นเรื่องที่ประชาชนชาวบ้านสงสัยในเรื่องของพฤติกรรมและความศรัทธาเชื่อมั่นที่จะเป็นเนื้อนาบุญทั้งกรณีเงินทอนวัด กระทำความผิดทางเพศ ยาเสพติด การพนันและความผิดอื่นๆ ที่มิควรต่อสมณวิสัย ข้อเท็จจริงหนึ่งตัวเลขของพระภิกษุ สามเณรประมาณสามแสนรูป มีวัด สำนักสงฆ์มากกว่าสามหมื่นแห่ง เมืองไทยเรามีวัดร้างที่เกือบจะไม่มีพระอยู่อาศัยเป็นจำนวนมาก พระภิกษุส่วนหนึ่งที่มีอุดมการณ์และเจตนาดีต่อพระศาสนาถูกฆ่าในจำนวนสัดส่วนที่มิได้มากนักเราท่านจะมีท่าทีเช่นไร

ผู้เขียนใคร่ขอนำโพสต์ในเฟซบุ๊กหนึ่งที่ชื่อ Ning Suchanya ที่ได้โพสต์อาลัย “หลวงอา” ที่ว่า สิ้นสุดเสียงปืนเงียบลง กลับกลายเป็นเสียงร้องเหมือนจะขาดใจของคนทั้งหมู่บ้าน ใจลูกแตกสลายเมื่อรู้ว่าหลวงอาสิ้นแล้ว # รัตนานุภาพสูญสิ้นจนหมดสิ้น หมู่บ้านที่เคยเงียบสงบร่มเย็น กลับโดนคนใจบาปทำลายจนสูญสิ้นแค่เพียงไม่กี่นาที #แต่ในวันนี้ที่เราคิดว่าปลอดภัยที่สุดในชีวิตของเรา กลับกลายที่ต้องอยู่ด้วยความหวาดระแวงและความกลัว เราต้องสูญเสียที่พึ่งทางใจน้ำตาแทบจะเป็นสายเลือด

เราทำใจยอมรับไม่ได้กับการสูญเสียครั้งนี้…

เฉลิมพล พลมุข

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image