สถานีคิดเลขที่12 : โมเดลหลัง24มี.ค. โดย นฤตย์ เสกธีระ

ขอเก็บตกโมเดลหลังเลือกตั้งวันที่ 24 มีนาคม ที่นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญและติดตามการเมืองไทยมานานได้บอกไว้บนเวที “เลือกตั้ง 62 จุดเปลี่ยนประเทศไทย” ซึ่งมติชนได้จัดขึ้นไปเมื่อสัปดาห์ก่อน

หนึ่งในวิทยากรผู้เชี่ยวชาญคือ ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

อาจารย์สุรชาติมองว่าการเมืองไทยเป็นการต่อสู้กันระหว่างอุดมการณ์อนุรักษนิยม กับเสรีนิยม

การต่อสู้ในวันนี้ก็ยังเป็นเช่นนั้น

Advertisement

อธิบายเพิ่มเติมคือ ฝ่ายหนึ่งคือ คสช. อีกฝ่ายหนึ่งคือ ฝ่ายไม่เอา คสช.

แต่ละฝ่ายก็จะมีพรรคการเมืองที่ประกาศตัวเองออกมากันแล้ว

นอกจากนี้การเลือกตั้งและการตั้งรัฐบาลตามรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 มีข้อกำหนดพิเศษอีกอย่างที่เป็นตัวแปรสำคัญ

Advertisement

นั่นคือ ส.ว.จำนวน 250 คน มาโดยตำแหน่ง 6 คน แล้วที่เหลือ คสช.คัดเลือก

ขณะที่ ส.ส.มาจากการเลือกตั้ง 500 คน

การโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีต้องใช้เสียงข้างมากของรัฐสภา คือ ใช้เสียงทั้ง ส.ส. และ ส.ว.

แต่การผ่านกฎหมายอื่นๆ และการอภิปรายไม่ไว้วางใจ แต่ละสภาก็ดำเนินการไปตามที่เคยปฏิบัติ

ทั้งนี้ อาจารย์สุรชาติได้ตั้งสมมุติฐานหลังจากการเลือกตั้งวันที่ 24 มีนาคม เอาไว้ 3 อย่าง

อย่างแรก คือ ฝ่าย คสช.รวบเสียง ส.ส.ได้ 250 จะเกิดอาการเดียวกับพรรคสหประชาไทยของ จอมพลถนอม กิตติขจร โดยจัดตั้งรัฐบาลผสม

ผลที่ออกมา คือ รัฐบาลไม่มีเสถียรภาพ อายุของรัฐบาลไม่ยั่งยืน

อย่างที่สอง คือ ฝ่าย คสช.สามารถตั้งรัฐบาลได้โดยใช้เสียง ส.ว. จะเกิดรัฐบาลเสียงข้างน้อย เช่นเดียวกับรัฐบาล ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช แต่นายกรัฐมนตรีต้องมีความสามารถเหมือนกับ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์

อย่างที่สาม เป็นไปได้หรือไม่ที่พรรคปีกไม่เอา คสช.ในไทยจะชนะ แบบเดียวกับประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่พรรคฝ่ายค้านในพม่าชนะการเลือกตั้ง

หรือตัวอย่างจากการเลือกตั้งในประเทศมาเลเซียครั้งล่าสุด

จากข้อมูลในขณะนี้ สมมุติฐานต่างๆ ที่อาจารย์สุรชาติยกมานั้น ล้วนแล้วแต่มีโอกาสเกิดขึ้นได้ทั้งสิ้น

หากมองในมุมของ คสช. ย่อมมีความหวังกับสมมุติฐานข้อแรกที่จะเกิดรัฐบาลผสม โดยมีพรรคพลังประชารัฐเป็นแกนนำ

หากมองในมุมของฝ่ายไม่เอา คสช. ย่อมหวังว่า สมมุติฐานข้อสุดท้ายจะเกิดขึ้นในประเทศไทย

เหตุเพราะรัฐบาลในปัจจุบันถูกโจมตีเรื่องผลงานมาก

จากเดิมที่ถูกโจมตีเรื่องการจำกัดสิทธิเสรีภาพ และการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ

เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมาเริ่มถูกโจมตีเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหา “ฝุ่นจิ๋ว” ในเมืองกรุง

และหาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ รับปากที่จะไปลงบัญชีชื่อนายกฯของพรรคพลังประชารัฐ โดยไม่ลงจากเก้าอี้

การโจมตีจะเคลื่อนเข้าสู่เรื่องจริยธรรม ธรรมาภิบาล ประโยชน์ทับซ้อน และอื่นๆ

ส่วนสมมุติฐานข้อที่สองนั้น กลับเป็นสมมุติฐานที่มีผู้คนคาดหมายว่าจะเกิดขึ้นมากที่สุด

นั่นคือ เกิดรัฐบาลเสียงข้างน้อยขึ้นมาหลังเลือกตั้ง 24 มีนาคม

ทั้งหมดนี้เป็นโมเดลที่หยิบยกมาจากเวทีของมติชน

ส่วนผลหลังเลือกตั้งจะออกมาเช่นไรนั้น ไม่มีใครทราบได้

อาจารย์สุรชาติหยอดเป็นมุขบนเวทีในวันนั้นว่า เหตุการณ์หลังเลือกตั้งจะเป็นอย่างไร

คงต้องพึ่งโหราศาสตร์ (ฮา)

ไปลองอ่าน “ศาสตร์แห่งโหร” ของมติชนไปพลางๆ ก่อน

รอจนกว่าผลการเลือกตั้งจะออกมา แล้วเมื่อถึงเวลานั้น

อะไรๆ ก็คงจะมีคำตอบด้วยตัวของมันเอง

นฤตย์ เสกธีระ
[email protected]

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image