อดีต ผอ.ไทยพีบีเอส เผย ยอดผู้ชมทีวีดิจิทัลสูง 55%

นายสมชัย สุวรรณบรรณ อดีตผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส เปิดเผยในงานเอ็นบีทีซี พับบลิค ฟอรัม: ย้ายคลื่น 700 เมกะเฮิรตซ์ ใครได้ใครเสียและมีผลกระทบอย่างไรต่อผู้บริโภค ซึ่งจัดขึ้นโดยสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.), สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ณ อาคารหอประชุม กสทช. ว่า การเรียกคืนคลื่นความถี่ย่าน 700 เมกะเฮิรตซ์ ตามหลักการและกฎหมายในการจัดสรรคลื่นความถี่ เพื่อนำทรัพยากรสาธารณะไปแบ่งปันอย่างยุติธรรมและเท่าเทียม อีกทั้ง เพื่อให้สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของการปฏิรูปสื่อหลังเหตุการณ์ในปี 2535 ที่ต้องการให้เกิดการกระจายทรัพยากรสาธารณะออกจากมือผู้คุมอำนาจรัฐ และผู้นำทางกองทัพ ที่ใช้เป็นสมบัติส่วนตัวมานาน ทั้งนี้ มีการกำหนดให้ต้องมีการจัดสรรคลื่นความถี่ไม่น้อยกว่า 20% ให้กับภาคประชาชนและชุมชนด้วย แต่ปัจจุบันยังไม่เกิดขึ้น

นายสมชัย กล่าวว่า อย่างที่ทราบดีว่า ประเด็นการใช้งานคลื่นความถี่ย่าน 700 เมกะเฮิรตซ์ นั้น เป็นคลื่นความถี่ที่เกี่ยวพันในระดับสากลด้วย ซึ่งในยุโรปมีการทัดทานเรื่องนี้อย่างแข็งขัน กรณีที่ผู้กำกับดูแล ต้องการนำไปจัดสรรให้กับอุตสาหกรรมโทรคมนาคม จึงมีการจัดทำประชาพิจารณ์ผ่านมาแล้ว 2 ครั้ง ซึ่งพบว่า เสียงทัดทานส่วนใหญ่เกิดจากกลุ่มผู้บริโภค และกลุ่มผู้ให้บริการ ขณะที่ คลื่นความถี่ย่าน 700 เมกะเฮิรตซ์ ถือเป็นหัวคลื่น ที่มีความแรง ส่งผลได้ในระยะไกล โดยไม่ต้องติดตั้งสถานีย่อยเป็นจำนวนมากเหมือนคลื่นความถี่ย่านอื่น อีกทั้ง ผู้บริโภคติดตั้งเพียงหนวดกุ้ง ก็สามารถรับชมได้ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค ลดทุนต่ำ และได้รับประโยชน์ที่คุ้มค่า

“การนำคลื่นความถี่ย่าน 700 เมกะเฮิรตซ์ ไปใช้สำหรับกิจการโทรคมนาคม เพื่อรองรับ 5G นำมาซึ่งการเกิดอินเตอร์เน็ต ออฟ ธิงส์ (ไอโอที) รวมถึง ปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) เป็นต้น แต่ในท้ายที่สุด คงหนีความจริงไม่พ้นว่า ผู้ได้รับประโยชน์จากการย้ายคลื่นความถี่นี้ คือ ผู้ให้บริการโอทีที ในต่างชาติ ที่เมื่อทำกำไรได้ในประเทศ แต่ไม่สามารถเก็บภาษีได้ ส่งผลให้เงินตรารั่วไหลออกนอกประเทศ” นายสมชัย กล่าว

นายสมชัย กล่าวว่า ทั้งนี้ แม้กิจการโทรคมนาคมจะมีการขยายตัวดีขึ้น แต่ในขณะที่ ทีวีดิจิทัลในไทย ยังมีผู้บริโภครับชมอยู่ถึง 55% และในสัดส่วนอีกประมาณ 40-50% หันไปรับชมทีวีดิจิทัลผ่านช่องทางสมาร์ทโฟนมากขึ้น ดังนั้น การย้ายคลื่นความถี่ย่าน 700 เมกะเฮิรตซ์ ไปยังทิศทางใด ใครจะได้รับประโยชน์ และเสียประโยชน์บ้าง ควรมีการพิจารณาถึงกลุ่มผู้บริโภคเป็นหลัก ทั้งนี้ หากตัดสินใจย้ายคลื่นความถี่ย่าน 700 เมกะเฮิรตซ์ ไปใช้ในกิจการโทรคมนาคม ไทยจะถือเป็นประเทศแรกในภูมิภาค ซึ่งย่อมสร้างแนวโน้มให้กับประเทศอื่นๆ ต้องคล้อยตาม ซึ่งเป็นไปตามยุทธศาสตร์ของสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ไอทียู)

Advertisement

“การย้ายคลื่นความถี่นี้ จะมีผลกระทบต่อผู้บริโภคหรือไม่ เพราะยังมีผู้บริโภคที่รับชมทีวีดิจิทัล อยู่ถึง 55% หากต้องมีการปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ทั่วประเทศ เพื่อรับคลื่นสำหรับทีวีดิจิทัลใหม่ ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ ใครจะเป็นผู้เยียวยา ซึ่งหากมีการนำคลื่นความถี่ย่าน 700 เมกะเฮิรตซ์ ที่เป็นดั่งขุมทรัพย์ ไปจัดสรรใหม่แล้ว นำรายได้ที่เกิดขึ้นมาอุ้มกิจการทีวีดิจิทัล คำถามคือ ทำไมไม่มีการอุ้มภาคประชาชนและชุมชนบ้าง เพื่อให้การจัดสรรคลื่นความถี่ไม่น้อยกว่า 20% ในแผนแม่บทเป็นความจริงขึ้นมา” นายสมชัย กล่าว

เกาะกระแสเศรษฐกิจ กับ Line@มติชนเศรษฐกิจใกล้ตัว

Advertisement

เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image