จ๊าก!!เจ้าของ”รถเก่า”ต้องจ่าย”ค่าทำลาย”ดันกม.ใหม่-รีไซเคิลซาก 

เล็งออกกฎหมายใหม่กำจัดรถหมดสภาพ กำหนดเจ้าของรับผิดชอบค่าใช้จ่าย ปัจจุบันไทยมีรถเก่า 5 ล้านคัน อีก 20 ปีทะลัก 3 เท่า

เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ น.ส.สมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรม การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) และองค์การพัฒนาพลังงานใหม่และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม (เนโดะ) ลงนามความร่วมมือในการดำเนินโครงการสาธิตการรีไซเคิลซากรถยนต์ (อีแอลวี) เพื่อสาธิตเทคโนโลยีกระบวนการรีไซเคิลซากรถยนต์ที่หมดอายุใช้งานในประเทศไทยโดยวิธีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยจะใช้เทคโนโลยีโดยโตโยต้า ทูโช คอร์ปอเรชั่น (บริษัทลูกค่ายรถยนต์โตโยต้า) ติดตั้งในโรงงานสาธิต บริษัท กรีน เมทัลส์ (ประเทศไทย) จำกัด ตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมปิ่นทอง 3 จ.ชลบุรี ซึ่งเป็นผู้ประกอบการกิจการคัดแยกขยะและรีไซเคิล โดยความร่วมมือนี้วางเป้าหมายสร้างโมเดลต้นแบบการรีไซเคิลซากรถยนต์ในไทยและภูมิภาคเอเชียในอนาคต ดำเนินระยะเวลา 3 ปี (2562-2564) คาดว่าจะมีการรีไซเคิลประมาณ 50 คันต่อวัน หรือประมาณ 45,000 คันในช่วง 3 ปี

น.ส.สมจิณณ์กล่าวว่า ความร่วมมือดังกล่าวสืบเนื่องจากจากการที่รัฐบาลมีนโยบายให้ความสำคัญกับระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (เซอร์คูล่า อีโคโนมี) เพื่อบริหารจัดการด้านทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งประเทศไทยถือเป็นผู้นำการผลิตด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ในอาเซียน มีกำลังผลิตรถยนต์ประมาณ 2,000,000 คันต่อปี ขายในประเทศประมาณ 1,000,000 คันต่อปี แต่ยังไม่มีระบบการจัดการซากรถยนต์อย่างเป็นระบบแบบประเทศญี่ปุ่น ปัจจุบันรถยนต์ที่มีอายุไม่ต่ำกว่า 20 ปีในไทยบางส่วนถูกรื้อถอนซากชิ้นส่วนอะไหล่รถยนต์ด้วยแรงงานคน ซึ่งการรื้อถอนซากรถยนต์เหล่านี้ได้ส่งผลกระทบให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม อาทิ การปนเปื้อนในดินจากน้ำมันและสารเคมีเหลว ปัญหาคุณภาพน้ำ หรือการปล่อยสารฟรีออนจากระบบแอร์รถยนต์ที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน และเสี่ยงเกิดอันตรายกับผู้ถอดชิ้นส่วน ขณะที่รถยนต์เก่าส่วนใหญ่ไม่มีการกำจัดใช้วิธีจอดทิ้งไว้

น.ส.สมจิณณ์กล่าวว่า ภายในกรอบความร่วมมือ กระทรวงอุตสาหกรรมและ กนอ.พร้อมให้คำแนะนำและจะสนับสนุนในด้านต่างๆ ให้กับเนโดะและบริษัทฝ่ายญี่ปุ่นรวมถึงนิติบุคคลท้องถิ่นที่เข้าร่วมโครงการ อาทิ การอำนวยความสะดวกในการเข้าสำรวจสถานที่ การบริหารจัดการโครงการ พร้อมทั้งจะร่วมมือกันในการวางมาตรการออกแบบกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องในการจัดการวัสดุเหลือทิ้งที่ไม่สามารถกำจัดได้ภายในประเทศไทย อาทิ สารเร่งปฏิกิริยา แผงวงจรไฟฟ้า ซึ่งวัสดุเหล่านี้จะถูกนำไปรีไซเคิลและนำกลับมาใช้ใหม่อีกครั้ง โดยการวางมาตรการดังกล่าวจะอ้างอิงจากกฎหมายรีไซเคิลรถยนต์ของประเทศญี่ปุ่น

Advertisement

นายอภิจิณ โชติกเสถียร รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ปัจจุบันไทยมีรถยนต์เก่าอยู่ประมาณ 5 ล้านคัน และคาดว่าในระยะ 20 ปีข้างหน้าจะมีรถยนต์เก่าเพิ่มเป็น 16 ล้านคัน ดังนั้น การรีไซเคิลจึงมีความจำเป็น มีเพียงส่วนน้อยที่มีการกำจัดและพบว่าการถอดชิ้นส่วนเองเสี่ยงอันตราย อาทิ ถุงลมนิรภัย (แอร์แบ๊ก) หากถอดไม่ถูกวิธีเสี่ยงเป็นระเบิดได้ ซึ่งที่ผ่านมาเกิดระเบิดบ้างแล้ว ขณะที่รถยนต์ส่วนใหญ่ไม่มีการจำกัดเสี่ยงเป็นภาระสำคัญของประเทศ อย่างไรก็ตาม ระหว่างที่โครงการสาธิตดำเนินการในช่วง 3 ปี กระทรวงอุตสาหกรรมจะประสานกับกระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมและกระทรวงคมนาคม เพื่อหาแนวทางในการร่าง พ.ร.บ.กำจัดซากรถยนต์ โดยจะพยายามให้กฎหมายดังกล่าวมีผลบังคับใช้ โดยดูข้อกฎหมายจากประเทศญี่ปุ่นเป็นหลักซึ่งเป็นต้นแบบด้านนี้ โดยในกฎหมายจะกำหนดรูปแบบ แนวทางกำจัดที่เหมาะสม เบื้องต้นคาดว่าเจ้าของรถยนต์จะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการกำจัดอัตราที่เป็นธรรม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image