ส่องเกณฑ์ รับม.1/ม.4žแก้แป๊ะเจี๊ยะ

žปรับกันจนโค้งสุดท้าย กับนโยบายและแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการรับนักเรียน สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ปีการศึกษา 2562 ของนักเรียนชั้น ม.1 และ ม.4 ซึ่งกำลังจะเริ่มรับสมัครในวันที่ 22-27 กุมภาพันธ์นี้

เพื่อให้สอดคล้องกับมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่เห็นชอบมาตรการป้องกันการทุจริตในการเรียกรับทรัพย์สินหรือประโยชน์ตอบแทน เพื่อโอกาสในการเข้าเรียนในสถานศึกษา สังกัด สพฐ.ของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)

รายละเอียดสำคัญคือ ปรับปรุงหลักเกณฑ์การรับนักเรียนเงื่อนไขพิเศษ ที่เดิมมี 7 ข้อ ลดเหลือ 4 ข้อ ได้แก่ 1.นักเรียนที่อยู่ในความอนุเคราะห์ของผู้บริจาคที่ดินเพื่อจัดตั้งโรงเรียน เนื่องจากเป็นข้อผูกพันเดิมของโรงเรียน

2.นักเรียนที่เป็นผู้ยากไร้ และด้อยโอกาส 3.นักเรียนที่เป็นบุตรผู้เสียสละเพื่อชาติ หรือผู้ประสบภัยพิบัติ ที่ต้องการได้รับการสงเคราะห์ดูแลเป็นพิเศษ และ 4.นักเรียนที่เป็นบุตรข้าราชการครู และบุคลากรของโรงเรียน

Advertisement

ส่วนที่ตัดออก 3 ข้อ ได้แก่ 1.นักเรียนที่ทำคะแนนสอบคัดเลือกเท่ากันในลำดับสุดท้าย 2.รับนักเรียนโควต้าตามข้อตกลงของโรงเรียนคู่สหกิจ หรือคู่พัฒนา หรือโรงเรียนเครือข่าย และ 3.นักเรียนที่อยู่ในอุปการะของผู้ทำคุณประโยชน์ให้กับโรงเรียนอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำ และเป็นการแก้ปัญหาการเรียกรับเงินเพื่อแลกที่นั่งเรียน หรือ แป๊ะเจี๊ยะ

Žรวมทั้งให้รับนักเรียนชั้น ม.3 เรียนต่อชั้น ม.4 ในโรงเรียนเดิมโดยอัตโนมัติทุกคน หากมีที่เหลือค่อยเปิดสอบคัดเลือกเด็กทั่วไปได้ ต่างจากเดิมที่ให้รับเด็กทั่วไป 20% ของแผนการรับนักเรียนชั้น ม.4 ซึ่งจะทำให้นักเรียนชั้น ม.3 ส่วนหนึ่งต้องหลุดออกจากโรงเรียนเดิม

ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่าเกณฑ์รับนักเรียนใหม่นี้ จะแก้ปัญหา แป๊ะเจี๊ยะŽ ได้จริงหรือไม่ รวมถึง เกิดคำถามถึงคุณภาพการศึกษา หลังประกาศให้โรงเรียนรับนักเรียนชั้น ม.3 ขึ้นชั้น ม.4 อัตโนมัติ

Advertisement

สวัสดิ์ เพชรบูรณ์ อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนหอวัง มองว่า การเรียนชั้น ม.4-ม.6 ไม่ใช่การศึกษาภาคบังคับ แต่ต้องดูศักยภาพในการของนักเรียนด้วย เรื่องนี้นักการเมืองอาจไม่เข้าใจว่าการเรียนชั้น ม.4-ม.6 เป็นการเรียนเพื่อเตรียมเข้ามหาวิทยาลัย หากเด็กไม่พร้อม ก็อาจไม่คุ้มค่าต่อการลงทุนของรัฐ รวมถึงจะกระทบกับการรับเด็กเข้าเรียนในสถาบันอาชีวศึกษาที่หลายแห่ง อาจถึงขั้นต้องปิดตัวลง ถือเป็นความสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ของการศึกษาไทย

ทั้งนี้ เด็กไม่จำเป็นต้องเข้าเรียนมัธยมปลายทุกคน เพราะประเทศไทยยังขาดผู้เรียนในสายอาชีพอีกหลากหลายสาขาที่สำคัญต่อการพัฒนาประเทศ

อีกทั้ง โดยปกติเด็กมัธยมต้นจะมากกว่าเด็กมัธยมปลาย หากให้โอกาสทุกคนเลื่อนชั้น ม.4 โรงเรียนเดิมได้อัตโนมัติ ก็อาจจะต้องขยายห้องเรียน ซึ่งก็ต้องถามกลับไปว่ารัฐบาลมีงบประมาณเพียงพอหรือไม่ ขณะเดียวกันเด็กก็จะไม่ตั้งใจเรียน เพราะไม่ว่าเกรดเฉลี่ยจะ 0.4 หรือ 4.00 ก็ได้เรียนต่อชั้น ม.4 โรงเรียนเดิม ทำให้เด็กไม่ตั้งใจเรียน

ส่วนการปรับแก้เกณฑ์รับนักเรียนเงื่อนไขพิเศษออก 3 ข้อ ก็ไม่แน่ใจว่าจะทำให้การรับแป๊ะเจี๊ยะหมดไปได้หรือไม่ เพราะคิดว่าน่าจะมีวิธีอื่นในการรับฝากเด็ก แต่เท่าที่ได้คุยกับผู้อำนวยการโรงเรียนดังหลายราย รู้สึกว่าการปรับแก้เกณฑ์ดังกล่าว เหมือนกับกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) มองผู้อำนวยการโรงเรียนชั่วร้าย หรือคดโกง ทำให้หลายคนรู้สึกหดหู่ แต่คงไม่มีใครกล้าวิจารณ์

“การพัฒนาบางเรื่อง จำเป็นต้องให้ผู้ปกครองสนับสนุนช่วยเหลือ เพื่อให้เด็กได้เรียนอย่างมีศักยภาพ โดยมีคณะกรรมการสถานศึกษาพิจารณาอย่างเป็นธรรม เพราะ ศธ.เองไม่สามารถดูแลได้ทั่วถึงŽ อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนหอวังให้ความเห็น”

ขณะที่ อดิศร เนาวนนท์ คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา เห็นสอดคล้องกันว่า การปรับแก้เกณฑ์รับนักเรียนเงื่อนไขพิเศษเหลือ 4 ข้อ ไม่ได้มีนัยสำคัญที่จะลดความเหลื่อมล้ำ หรือลดปัญหาการเรียกรับเงิน หรือ แป๊ะเจี๊ยะŽ ซึ่งไม่มีทางหมดไปได้ เพราะมีช่องทางอื่นๆ ในการรับ แป๊ะเจี๊ยะŽ อีกมากมายในระบบอุปถัมภ์ ที่ทำได้ในทางเทคนิค ซึ่งผมคงไม่สามารถอธิบายรายละเอียดได้ 

“ส่วนการรับนักเรียนชั้น ม.3 ขึ้นชั้น ม.4 โรงเรียนเดิมอัตโนมัติ ก็มีทั้งข้อดี ข้อเสีย คือทำให้มีการดูแลเด็กอย่างต่อเนื่อง แต่จะไม่ทำให้เกิดการแข่งขัน โรงเรียนขาดโอกาสในการคัดเลือกเด็กเก่งเข้าเรียน ส่งผลให้ในอนาคต หากโรงเรียนอยากได้เด็กหัวกะทิเข้าเรียน ต้องไปเฟ้นหาตั้งแต่เด็กที่จะเข้าเรียนชั้น ม.1 ซึ่งจะทำให้การเข้าเรียนชั้น ม.1 มีการแข่งขันสูงขึ้น จากปัจจุบันที่แข่งขันสูงอยู่แล้ว”Ž อดิศรสรุป

เรียกได้ว่า เสียงค้านจาก อดีตบิ๊กโรงเรียนดังŽ และ นักวิชาการด้านการศึกษาŽ แรง และตรง !!

ดังนั้น ตราบใดที่ยังไม่มีการประกาศใช้เกณฑ์รับนักเรียนใหม่นี้อย่างเป็นทางการ สพฐ.ยังมีโอกาสทบทวน ข้อดี ข้อเสีย โดยต้องคำนึงถึงประโยชน์ของนักเรียน และคุณภาพการศึกษาเป็นสำคัญ ก่อนที่จะสายเกินแก้…

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image