ชงครม.กดสินเชื่อรถตัดอ้อย 6,000ล.ให้ชาวไร่รับแค่1% ผ่อนนอน10ปี แก้ปมเผาสร้างมลพิษ

นางวรวรรณ ชิตอรุณ เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(สอน.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ สอน.ได้ประชุม“แนวทางการแก้ไขปัญหาอ้อยไฟไหม้” ร่วมกับผู้แทน 4 องค์กรชาวไร่อ้อย ประกอบด้วย สหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย, สหสมาคมชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย, สมาพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย, ชมรมสถาบันชาวไร่อ้อยภาคอีสาน และ 4 สมาคมโรงงาน ประกอบด้วย น้ำตาล 3 สมาคมโรงงานน้ำตาล, สมาคมโรงงานน้ำตาลไทย, สมาคมการค้าอุตสาหกรรมน้ำตาล และสมาคมผู้ผลิตน้ำตาลและชีวพลังงานไทย ที่สำนักงานสอน. ว่า ที่ประชุมมีมติกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาการเผาอ้อยในพื้นที่ปลูกอ้อยทั่วประเทศทั้งในระยะสั้นและระยะยาว โดยระยะสั้นเห็นชอบร่วมกันในการปรับเกณฑ์สินเชื่อเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอ้อยอย่างครบวงจร วงเงิน 6,000 ล้านบาทระยะเวลา 3 ปี(2562-2564) อัตราดอกเบี้ย 5% แบ่งเป็นเกษตรกรรับภาระ 2% รัฐรับภาระ3% ระยะเวลาส่งคืน 7 ปี ปรับเป็นเกษตรกรรับภาระ 1% และรัฐรับภาระ 4% ระยะเวลา 9-10 ปี โดยหลังจากนี้จะหารือกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธกส.) เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.)อนุมัติโดยเร็วที่สุด

“เกณฑ์สินเชื่อเดิมผ่านการอนุมัติจากคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย หรือกอน.แล้ว แต่เนื่องจากเกิดสถานการณ์ฝุ่นละอองที่เข้าขั้นวิกฤตและส่วนหนึ่งมาจากการเผาอ้อยก่อนส่งโรงงาน การสนับสนุนให้ใช้เครื่องตัดอ้อยจึงจำเป็นเร่งด่วน ขณะที่สินเชื่้อ 6,000 ล้านบาท มีเป้าหมายปล่อยกู้ให้กับเกษตรกรเพื่อซื้อรถตัดอ้อยเป็นหลักอยู่แล้ว เนื่องจากต้นทุนรถตัดอ้อยปัจจุบันหากซื้อต่างประเทศจะอยู่ที่คันละ 12 ล้านบาท แต่หากซื้อในประเทศจะอยู่ที่ 6-7 ล้านบาทแต่ประสิทธิภาพอาจไม่ดีเท่าต่างประเทศ เกษตรกรชาวไร่อ้อยจึงจำเป็นต้องมีสินเชื่อเพื่อสนับสนุน”นางวรวรรณกล่าว

นางวรวรรณกล่าวว่า อย่างไรก็ตามสอน.จะเร่งส่งเสริมให้เกษตรรวมแปลงเพื่อรองรับการใช้รถตัดอ้อย ซึ่งปัจจุบันมีทั้งแบบปกติ และแบบเล็กราคาประมาณ 3 แสนบาทแต่ต้องศึกษาประสิทธิภาพอีกครั้ง รวมทั้งตั้งเป้าหมายลดพื้นที่อ้อยไฟไหม้ลง และกำหนดให้เลิกทั้งหมดภายในปี 2564 แต่ขณะนี้ปริมาณอ้อยทั่วประเทศมีมากกว่า 120 ล้านตันอ้อยก็ยอมรับเป็นเรื่องยากแต่จะคงเป้าหมายไว้ ซึ่งล่าสุดจากการรณรงค์ให้เกษตรกรลด/เลิกเผาอ้อยก่อนหีบพบว่าปริมาณอ้อยไฟไหม้ลดลง ขณะที่อยู่ที่ 57%ของปริมาณอ้อยรวมที่เข้าหีบ ลดลงจากปีที่ผ่านมาซึ่งอยู่ที่ 60% ขณะที่เกษตรกรชาวไร่เองมีความตื่นตัว เพราะหากส่งอ้อยไฟไหม้เข้าหีบก็จะโดนหักเงิน 30 บาทต่อตันอ้อย ซึ่งปีนี้ราคาอ้อยขั้นต้นอยู่ที่ 700 บาทต่อตันอ้อย ถือว่าน้อย เกษตรกรจึงไม่อยากถูกหักเงินอยู่แล้ว แต่อีกมุมหนึ่งก็อยากให้เข้าใจเกษตรกรเพราะปัจจุบันขาดแคลนแรงงานจึงจำเป็นต้องเผา หรือหากมีแรงงานและตัดสดก็จะมีต้นทุนการตัดสูงกว่าเผาถึง 3 เท่าตัว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image