บทความ หลักสูตรภูมิสังคม : Geopark Geoschool โดย : สมพงษ์ จิตระดับ สุอังคะวาทิน, ชุติมา ชุมพงศ์

อุทยานธรณี (Geopark) พื้นที่ที่มีความสำคัญและโดดเด่นทางธรณีวิทยา ธรรมชาติวิทยา และวัฒนธรรม มีเรื่องราวที่เชื่อมโยงคุณค่าของผืนแผ่นดินกับวิถีชีวิตชุมชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ มีการบริหารจัดการแบบมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ทั้งการอนุรักษ์ การถ่ายทอดความรู้และการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะอุทยานธรณีสตูล (Satun Geopark) ที่ตั้งอยู่ทางภาคใต้ของประเทศไทย ครอบคลุม 4 อำเภอของจังหวัดสตูล คือ อ.ทุ่งหว้า อ.มะนัง อ.ละงู และ อ.เมือง ลักษณะภูมิประเทศเป็นเทือกเขาหินปูน มีเกาะน้อยใหญ่ และชายหาดที่สวยงาม มีการค้นพบซากแมงดาทะเลในปัจจุบันเรียกว่า “ไทรโลไบท์” ซึ่งมีหลักฐานเป็นซากดึกดำบรรพ์บริเวณเกาะตะรุเตาเมื่อกว่า 500 ล้านปีที่แล้ว เป็นพื้นที่ที่มีลักษณะเด่นทางธรณีวิทยาระดับสากล เป็นสื่อกลางเชื่อมโยงมรดกทางธรรมชาติ มรดกทางวัฒนธรรม วิถีชีวิต สร้างความเข้าใจและตระหนักถึงคุณค่าความสำคัญของแผ่นดินที่อาศัย ทำให้เกิดวัฒนธรรมประเพณีที่มีเอกลักษณ์ การบริหารจัดการแบบมีส่วนร่วม การปรับตัวของผู้คน การเรียนรู้บนฐานของชุมชน ตลอดจนมีการถ่ายทอดวัฒนธรรม การสร้างเครือข่ายการท่องเที่ยวบริเวณใกล้เคียง ได้แก่ อุทยานธรณีเกาะลังกาวี ประเทศมาเลเซีย อีกด้วย

อุทยานธรณีสตูล (Satun Geopark) มีแหล่งท่องเที่ยวมากมาย ทั้งแหล่งท่องเที่ยวทางทะเล-หมู่เกาะ เช่น เกาะหลีเป๊ะ ปราสาทหินพันยอด เขตข้ามกาลเวลาเขาโต๊ะหงาย แหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศและผจญภัย เช่น ถ้ำเลสเตโกดอน ล่องแก่งวังสายทอง แหล่งท่องเที่ยวเพื่อการเรียนรู้ เช่น พิพิธภัณฑ์อุทยานธรณีสตูล ลานหินป่าพน พิพิธภัณฑ์ช้างดึกดำบรรพ์ทุ่งหว้า และแหล่งท่องเที่ยวเชิงวิถีชีวิต เช่น ชาวมานิ ประเพณีลอยเรือ ประเพณีไห้วผีโบ๋ โดยเฉพาะใน อ.ทุ่งหว้าที่มี นายณรงค์ฤทธิ์ ทุ่งปรือ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลทุ่งหว้าคนปัจจุบันเป็นบุคคลสำคัญที่มีส่วนผลักดันให้อุทยานธรณีสตูลเป็นอุทยานธรณีโลก มีแหล่งท่องเที่ยวเพื่อการเรียนรู้ที่สำคัญ คือ พิพิธภัณฑ์อุทยานธรณีสตูล เป็นศูนย์ข้อมูลแหล่งอนุรักษ์ทางธรณีวิทยา แหล่งเรียนรู้ที่สร้างอาชีพ สร้างรายได้ พิพิธภัณฑ์ช้างดึกดำบรรพ์ทุ่งหว้า ภายในนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับช้างไทย ประวัติศาสตร์ วิถีชีวิต และศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น

และซากดึกดำบรรพ์ช้างที่พบในถ้ำเลสเตโกดอนและซากดึกดำบรรพ์อื่นๆ มีการสร้างหลักสูตรต่างๆ ให้กับคนในชุมชน โรงเรียน เพื่อให้คนในชุมชนได้เรียนรู้และปรับตัวต่อสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ สังคมที่เปลี่ยนไป เพื่อให้เกิดความยั่งยืนของท้องถิ่น ชุมชน

Advertisement

เมื่ออุทยานธรณีสตูลได้เป็นอุทยานธรณีโลกแล้วนั้นทำให้ชาวสตูลเกิดความตระหนักและหวงแหนแผ่นดินเกิดของตน จึงมีการคิด ตริตรอง ถึงความยั่งยืนให้เกิดแก่รุ่นลูกรุ่นหลาน มีการสืบทอดมรดกทางธรรมชาติ มรดกทางวัฒนธรรม วิถีชีวิต ดังจะเห็นได้จากมีการสร้างหลักสูตรต่างๆ ให้กับคนในชุมชน โรงเรียน ได้แก่ หลักสูตรอุทยานธรณีในโรงเรียน สร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่นักเรียน นักศึกษา โดยต้องมีการเรียนการสอนวิชาอุทยานธรณีโลกในวิชาเลือกหรือวิชาบังคับ พร้อมทั้งขยายผลเรื่องหลักสูตรอุทยานธรณีไปยังจังหวัดที่สนใจในภูมิภาค หลักสูตรอบรมมัคคุเทศก์อุทยานธรณีสตูล และหลักสูตรอบรมยุวมัคคุเทศก์ท้องถิ่นอุทยานธรณีสตูลเพื่อที่จะได้เรียนรู้ เข้าใจ และส่งต่อให้แก่คนในชุมชน คนภายนอก ให้เข้ามาศึกษามรดกทางธรรมชาติ มรดกทางวัฒนธรรม วิถีชีวิต และร่วมกันหวงแหน อนุรักษ์สิ่งเหล่านั้นยั่งยืนเป็นมรดกท้องถิ่น ต้นแบบของพหุวัฒนธรรม อีกทั้ง จ.สตูลได้เกิดการปฏิรูปการศึกษาเป็นพื้นที่ทดลองการศึกษา (Sandbox) หรือพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาในลักษณะโรงเรียนจัดการตนเอง ทำให้ชาวสตูลเกิดความตื่นตัว การเตรียมพร้อม ความเคลื่อนไหวในด้านต่างๆ ตั้งแต่หน่วยงานภาครัฐ เขตพื้นที่การศึกษา ศึกษาธิการจังหวัด มหาวิทยาลัยในท้องถิ่น โรงเรียน ชุมชน ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม กล่าวคือ ในเขตพื้นที่การศึกษามีการเตรียมพร้อมกำลังคน จัดสรรงบประมาณ อำนวยความสะดวกให้แก่คนในพื้นที่ รวมทั้งขับเคลื่อนงานเชิงแผน/นโยบาย ยุทธศาสตร์

มหาวิทยาลัยในท้องถิ่น ได้แก่ มรภ.สงขลาวิทยาเขตสตูล มีการเตรียมอาคารเรียนพร้อมหอพักนักศึกษา เตรียมการผลิตคน เปิดหลักสูตรที่สอดคล้องกับอัตลักษณ์คนในพื้นที่ ได้แก่ หลักสูตรบริหารธุรกิจ สาขาการท่องเที่ยวเพื่อส่งเสริมธุรกิจการท่องเที่ยวในพื้นที่ จ.สตูล หลักสูตรการศึกษาสาขาต่างๆ โดยเฉพาะสาขาอิสลามศึกษาและอาเซียนศึกษา ซึ่งจะก่อให้เกิดความเข้าใจอันดีในสังคมโลก และตรงตามศักยภาพ ความต้องการพื้นที่ หลักสูตรพัฒนาอาชีพ ธุรกิจการค้าชายแดน บริหารสาธารณสุข และยกระดับองค์ความรู้ด้านการบริหารจัดการในท้องถิ่นเป็นการยกระดับมาตรฐานการศึกษาของเยาวชนในพื้นที่ สามารถลดค่าใช้จ่าย สร้างสถาบันครอบครัวที่เข้มแข็ง และลดปัญหาสังคม เนื่องจากเป็นการเรียนการสอนในพื้นที่ ทำให้คุณภาพชีวิตของประชาชน จ.สตูลและชายแดนภาคใต้ดีขึ้น แต่จนแล้วจนรอดก็ยังไม่สามารถที่จะเปิดวิทยาเขตที่ จ.สตูลได้เพราะติดปัญหาบางประการ

โรงเรียนที่อยู่ในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา มีการเตรียมและออกแบบหลักสูตรการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับบริบทของโรงเรียน กล่าวคือ ภาคเช้าเรียนหลักสูตร 8 กลุ่มสาระ รวมทั้งบูรณาการหน่วยการเรียนรู้ตามหัวข้อ ประเด็นที่สนใจ (Theme) เชื่อมโยงความรู้ในแต่ละกลุ่มสาระและจัดการเรียนการสอนที่สอดคล้องกับกระบวนการวิจัย 10 ขั้นตอน ทั้งนี้ทั้งนั้นในภาคเช้าไม่ได้เรียนเฉพาะแบบบรรยายหรืออธิบายเพียงเท่านั้น แต่มีการนำเกมส์ สื่อการเรียนรู้ต่างๆ เช่น วิดีโอ สื่อภาพ แอพพลิเคชั่น มาช่วยสอนเสริมให้การเรียนการสอนไม่น่าเบื่ออีกต่อไป ภาคบ่ายลงพื้นที่ ลงชุมชน โดยใช้โครงงานฐานวิจัย แบบ RDM (R = review, research, reconceptualiza D = Development M = Movement) มาบูรณาการในพื้นที่ทำให้เกิดหลักสูตรภูมิสังคมในชุมชน ตัวอย่างโครงสร้างสาระการเรียนรู้ 6 หน่วย ได้แก่ ภาษาพาสนุก ประวัติศาสตร์ชุมชน Geopark Geoschool อาชีพสัมมาอาชีวะ ทรัพยากรอันดามันยั่งยืน และ STEAM นอกจากนี้ยังเป็นการพัฒนาตัวครูผู้สอนที่ไม่ได้มุ่งเน้นเฉพาะวิชาการ การเรียนรู้เฉพาะในห้องเรียนเท่านั้น แต่เป็นการเรียนรู้ที่พัฒนาคุณภาพผู้เรียน เชื่อมโยงความรู้สู่ชุมชน ความต้องการของผู้เรียน เป็นการเรียนรู้กับสถานที่จริงและเกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างชุมชนมายังผู้เรียน ผู้เรียนสามารถคิดวิเคราะห์ คิดสร้างสรรค์ และคิดเชื่อมโยงได้อย่างเป็นระบบ อีกทั้งยังมีความผูกพันกับท้องถิ่นและเมื่อจบการศึกษาไปก็จะกลับบ้านมาเพื่อพัฒนาบ้านเกิดเมืองนอนของตนเอง

Advertisement

ชุมชน ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ให้ความร่วมมือและมีส่วนร่วมแก่ทุกฝ่าย ทั้งปราชญ์ชุมชนท้องถิ่น ปราชญ์ความรู้ คนเฒ่าคนแก่ให้ความรู้แก่ผู้ที่มีความสนใจเรื่องนั้นๆ

ดังจะเห็นได้ว่าเมื่ออุทยานธรณีสตูลได้เป็นอุทยานธรณีโลก เกิดการปฏิรูปการศึกษาโรงเรียนอิสระจัดการตนเอง ทุกฝ่ายได้แก่ ภาครัฐ เขตพื้นที่การศึกษา ศึกษาธิการจังหวัด มหาวิทยาลัยท้องถิ่น โรงเรียน ชุมชน ภาคเอกชน ภาคประชาสังคมให้ความร่วมมือ มีส่วนร่วมทั้งการอนุรักษ์ การถ่ายทอดความรู้ การนำหลักสูตรอุทยานธรณีมาเป็นรายวิชาเลือกหรือวิชาบังคับในโรงเรียน การออกแบบหลักสูตรการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับบริบทของโรงเรียน การสร้างหลักสูตรภูมิสังคมจากทุกฝ่ายในชุมชนโดยใช้โครงงานฐานวิจัยแบบ RDM การสร้างความรู้ความเข้าใจจนสามารถเล่าเรื่องราวความเป็นมาของจังหวัดและชุมชนตนเอง จนกลายเป็นพื้นที่นำร่องในเรื่องการพัฒนาหลักสูตรภูมิสังคม นับเป็นตัวอย่างอันดียิ่งของการปฏิรูปการศึกษาล่างสู่บน สามเส้าของคุณภาพการศึกษา หลักสูตรภูมิสังคม โครงงานฐานวิจัย และ Digital Platform พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา โรงเรียนจัดการตนเอง การขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นจริง และสตูลได้ปักธงการปฏิรูปการศึกษาด้วยการพึ่งตนเองอย่างแท้จริง

สมพงษ์ จิตระดับ สุอังคะวาทิน
ชุติมา ชุมพงศ์
ศูนย์วิชาการและเครือข่ายวิชาการด้านเด็ก
เยาวชน และครอบครัว
คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image