“อนาคตใหม่” ดันนโยบาย ขยายจุดฟรีไวไฟ-โอเพ่นดาต้าภาครัฐ รับเศรษฐกิจยุคดิจิทัล

นายไกลก้อง ไวทยากร ตัวแทนพรรคอนาคตใหม่

นายไกลก้อง ไวทยากร ตัวแทนพรรคอนาคตใหม่ เปิดเผยในงานเสวนาเปิดวิสัยทัศน์ “Digital Economy” ชูแนวขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกยุคใหม่ ซึ่งจัดขึ้นโดยชมรมนักข่าวสายเทคโนโลยีสารสนเทศ (ไอทีพีซี) สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ณ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ว่า เรื่องกฎหมายเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับอุตสาหกรรมดิจิทัล ซึ่งที่ผ่านมากฎหมายมีลักษณะที่เป็นปัญหาอุปสรรคต่อนักลงทุน ทำให้นักลงทุนไม่กล้าที่จะเข้ามาลงทุน ขณะที่ อีกด้านที่เห็นได้อย่างชัดเจนคือ การที่นำอุตสาหกรรมดิจิทัลเข้ามาทำงานแทนคน โดยในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา มีการส่งเสริมสตาร์ตอัพ ทั้งนี้ ยังมีสตาร์ตอัพที่มีไอเดีย แต่ขาดผู้สนับสนุน ทำให้เกิดการแย่งบุคลากร และจำเป็นต้องผลักดันสตาร์ตอัพไทยให้ก้าวไปสู่ในระดับสากล นอกจากนี้ มีความจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมที่จะรับมือกับระบบปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) และเทคโนโลยีหุ่นยนต์ หรือโรบอท ที่จะเข้ามาแทนแรงงานมนุษย์

นายไกลก้อง กล่าวว่า การพัฒนาดิจิทัล ซิงเกิ้ล มาร์เก็ต ของอาเซียน เป็นอีกเรื่องที่มีความสำคัญ ที่น่าจะเกิดขึ้นคล้ายกับยุโรปที่มีอยู่ ซึ่งจะมีความเป็นไปได้หรือไม่ ที่อาเซียนจะเกิดความร่วมมือ เช่น การกำหนดอัตราค่าบริการโทรคมนาคมเป็นอัตราเดียวในการใช้งานในภูมิภาค

ในงานเสวนาเปิดวิสัยทัศน์ “Digital Economy” ชูแนวขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกยุคใหม่

สำหรับนโยบายของพรรค ได้แก่ 1.ขยายเครือข่ายไฟเบอร์ออฟติก และขยายจุดฟรีไวไฟ 2.ขยายการเข้าถึงระบบอินเตอร์เน็ต นำคลื่นความถี่ที่ไม่ได้ใช้งาน มาใช้ให้เกิดประโยชน์ 3.เปิดเผยข้อมูลของภาครัฐ หรือโอเพ่นดาต้าภาครัฐ ให้เกิดประโยชน์กับประชาชน และส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจ ขณะเดียวกัน การเข้าข้อมูลของภาครัฐ จะทำให้สังคมและประชาชน ตรวจสอบความโปร่งใสของงบประมาณว่า มีการนำไปจัดสรรในการทำอะไรอย่างไรบ้าง ทั้งนี้ อาจมีการเปิดโอกาสให้ประชาชน สามารถแสดงความคิดเห็นถึงการนำภาษีไปใช้ทำประโยชน์ในด้านใด 4.แก้ไขกฎหมายที่ลิดรอนสิทธิส่วนบุคคล หรือกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน

นายไกลก้อง กล่าวว่า 5G เป็นเรื่องที่ควรสนับสนุนให้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งหากไม่สนับสนุนให้เกิดขึ้นโดยเร็ว ประเทศอื่นๆ โดยรอบก็ต้องพยายามผลักดันอยู่ดี และในกรณีการช่วยเหลือผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลนั้น คงต้องย้อนไปในระหว่าง 5 ปีที่ผ่านมา ภายใต้การดำเนินงานของคณะรักษาความวงบแห่งชาติ (คสช.) ที่เมื่อขึ้นมามีอำนาจก็สั่งปิดสถานีโทรทัศน์ รวมถึง ดึงเวลาพามไทม์ช่วง 6 โมงเย็น ไปออกอากาศเนื้อหาอื่นๆ ซึ่งนี่เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ทีวีดิจิทัลได้รับความเสียหาย ส่วนที่จะมีมาตรการช่วยเหลือ ทั้งในผู้ประกอบการทีวีดิจิทับ และผู้ประกอบการโทรคมนาคมควร ควรจะมีการหารือกันอีกครั้ง

Advertisement

เกาะกระแสเศรษฐกิจ กับ Line@มติชนเศรษฐกิจใกล้ตัว

เพิ่มเพื่อน

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image