ความเป็นกลางไม่มีจริง? โดย สมหมาย ปาริจฉัตต์

ทั้งๆ ที่รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 269 (1) ระบุไว้ชัด ให้มีคณะกรรมการสรรหาสมาชิกวุฒิสภาคณะหนึ่ง ซึ่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติแต่งตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งมีความรู้และประสบการณ์ในด้านต่างๆ และมีความเป็นกลางทางการเมืองจำนวนไม่น้อยกว่า 9 คน แต่ไม่เกิน 12 คน มีหน้าที่ดำเนินการสรรหาบุคคลซึ่งสมควรเป็นสมาชิกวุฒิสภา

แต่ข่าวคราวที่ปรากฏตามสื่อมวลชนกลับมีว่า หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติแต่งตั้งให้รองหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติและสมาชิก คสช.อีกจำนวนหนึ่งเป็นคณะกรรมการสรรหาวุฒิสมาชิก แทนที่จะเป็นผู้ทรงคุณวุฒิภายนอก ที่ไม่ได้เป็น คสช.

เหลือเวลาอีกเพียงไม่กี่วัน คือวันที่ 9 มีนาคม 2562 จะครบกำหนดที่กรรมการสรรหาต้องเสนอรายชื่อผู้สมควรได้รับการคัดเลือก 400 คนให้ คสช.เลือกเหลือ 194 คน แต่ก็ยังไม่ปรากฏข่าวสารยืนยันชัดเจนว่า คณะกรรมการสรรหาเป็นใคร มีจำนวนเท่าไหร่กันแน่

ผู้คน สังคม สาธารณชน ยังไม่มีโอกาสได้รับรู้ เพราะรัฐธรรมนูญไม่ได้บังคับไว้ว่าจะต้องดำเนินการอย่างเปิดเผย โปร่งใส ประกาศให้ทุกฝ่ายทราบทุกขั้นตอน

Advertisement

ด้วยเหตุนี้ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันต่างๆ นานา ว่ากระบวนการปิดลับ รู้กันแต่เฉพาะคณะผู้มีอำนาจหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่กรรมการสรรหามาจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติเสียเอง จะเข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่

เพราะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ตอบรับการเสนอชื่อให้เป็นนายกรัฐมนตรี การมีกรรมการ คสช.ลงมาทำหน้าที่กรรมการสรรหาเอง จะเข้าลักษณะผลประโยชน์ทับซ้อน สุ่มเสี่ยงต่อความไม่เป็นกลางทางการเมือง ตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติ

กรณีนี้จะมีผู้นำไปร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยหรือไม่ก็ตาม ทำให้นักคิด ทฤษฎีทางการเมืองว่าด้วยความเป็นกลางทางการเมือง เกิดการถกเถียงอภิปรายกันเป็นการใหญ่อีกครั้งว่า ความเป็นกลางมีจริงหรือไม่

Advertisement

หรือความเป็นกลางมีจริง แต่ปัญหาอยู่ที่คน ผู้ปฏิบัติมากกว่า จะรักษาความเป็นกลางหรือไม่ต่างหาก

ปัญหา “คน” ไม่ใช่ปัญหา “ความ” ว่างั้นเถอะ

ผู้ที่น่าจะตอบคำวิจารณ์นี้ได้ดีที่สุดกลุ่มหนึ่งก็คือ กรรมการร่างรัฐธรรมนูญนั่นเอง ในตอนยกร่างให้คำนิยาม จำกัดความ วางกรอบ ขอบเขตของคำว่าผู้ทรงคุณวุฒิ ไว้อย่างไร ความเป็นกลางทางการเมือง ของผู้ได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการสรรหาวุฒิสมาชิกควรเป็นอย่างไร แต่งตั้งมาจากไหน แต่จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีคำตอบ ชี้แจงใดๆ จากกรรมการร่างรัฐธรรมนูญทั้งสิ้น

นี่แหละครับ ประชาธิปไตยแบบไทยๆ ชาวบ้าน คนธรรมดาสามัญเอาไว้ทีหลัง ยังไม่ต้องข้องเกี่ยว เป็นเรื่องของผู้มีอำนาจตามกฎหมายเขาว่ากันก่อน ผลออกมาอย่างไรให้ยอมรับตามนั้นก็แล้วกัน ลงประชามติรับรองเป็นส่วนใหญ่กันแล้วนี่

สิ่งที่เกิดขึ้นจึงเป็นความย้อนแย้งในตัวมันเอง ขณะที่ปากก็ว่า ผู้ได้รับการเสนอชื่อเพื่อคัดเลือกให้เป็นวุฒิสมาชิก แต่ละคนล้วนมีวุฒิภาวะ มีสมอง มีสติปัญญา ความสามารถ มีความคิด ความเป็นตัวของตัวเอง อย่าดูถูกว่าจะถูกชี้นำให้สนับสนุนคนโน้นคนนี้เป็นนายกรัฐมนตรี โดยขาดเหตุผล การใคร่ครวญไตร่ตรอง

แต่อีกด้านหนึ่งกลับตัดสินใจเลือกแนวทางการแต่งตั้งกรรมการสรรหามาจากกลุ่มบุคคลที่มีความใกล้ชิด สนิทสนมมาทำหน้าที่เสียเอง ทั้งๆ ที่มีทางเลือกอื่นที่เหมาะสมกว่า โดยตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิภายนอก ข้อครหาเกี่ยวกับความเป็นกลางทางการเมืองก็จะน้อยลง

การเลือกแนวทางลงมาทำเองจึงสะท้อนความคิดเบื้องลึก 2 ประการ คือ 1.ทำให้เกิดความมั่นใจ ว่าจะได้คนที่ไว้วางใจได้ มีแนวคิด แนวทางปฏิบัติไปในทางเดียวกัน ไม่ออกนอกแถว รับประกันได้ ขึ้นสู่ตำแหน่งตามเป้าหมายอย่างแน่นอน

2.เพราะกลัวว่าหากตั้งผู้อื่นเข้ามาทำหน้าที่สรรหา จะได้ผู้รับการคัดเลือกที่คุมไม่ได้ ทำให้เกิดความลำบากใจในการตัดสินใจเลือก สุ่มเสี่ยงต่อการบรรลุเป้าหมายที่ตั้งใจไว้

จะเป็นด้วยเหตุผลข้อใดเป็นหลัก หรือรอง ก็แล้วแต่ ทำให้ความสง่างามของผู้คัดเลือกและผู้ถูกคัดเลือกลดน้อยลงตามไป ข้อครหานินทาที่ว่า เอารัดเอาเปรียบทางการเมืองจะยิ่งหนักข้อขึ้นไปอีก

การตัดสินใจเลือกแนวทางนี้ เกิดจากข้อเสนอของกุนซือทางกฎหมาย หรือผู้มีอำนาจคิดขึ้นมาเองและต้องการตามนั้น เป็นข้อเท็จจริงทางการเมืองซึ่งเหตุการณ์ในอนาคตจะเป็นคำตอบว่า คิดถูกหรือคิดผิด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image