ผลิตครูเพื่อให้เป็นผู้ประกอบวิชาชีพชั้นสูง หรือเพียงแค่ให้ออกไปประกอบอาชีพ? โดย : ดิเรก พรสีมา

เมื่อประมาณปี พ.ศ.2538 นักธุรกิจและนักการศึกษาชั้นนำของไทย นำโดยคุณบัณฑูร ล่ำซำ และศาสตราจารย์ ดร.สิปปนนท์ เกตุทัต ได้ไปปรึกษาหารือกันที่ธนาคารกสิกรไทย ของคุณบัณฑูร ประเด็นหลักในการหารือคือการหาคำตอบว่าทำอย่างไรประเทศไทยของเราจึงจะเติบโตได้อย่างยั่งยืน แข่งขันกับประเทศชั้นนำในภูมิภาคเอเชียและบนโลกได้

ในที่ประชุม นอกจากมีผู้นำทางการศึกษาและผู้นำทางธุรกิจดังกล่าวแล้ว ยังมีผู้นำด้านการประกอบการ เช่นตัวแทนหอการค้า สภาอุตสาหกรรม ฝ่ายความมั่นคง ภาคประชาชน ภาคเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และผู้นำในสาขาวิชาชีพชั้นสูงอื่น ตลอดจนผู้นำทางศาสนาเข้าร่วมด้วย

ภายหลังการปรึกษาหารือ ทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่า ประเทศของเราจำเป็นจะต้องปฏิรูปการศึกษาขนานใหญ่ ต้องปฏิรูปการศึกษาให้คนไทยมีคุณภาพสูง ให้สามารถแข่งขันได้กับประเทศในภูมิภาคเอเชียและในเวทีโลก ส่วนรายละเอียดว่าจะปฏิรูปอะไร ทำไม และอย่างไรนั้นคงต้องมีการศึกษา วิจัย วิเคราะห์ และระดมความคิดเห็นของผู้คนจากหลากหลายภาคส่วน ให้มาร่วมกันคิดและร่วมกันเป็นเจ้าของ ร่วมกันในการนำไปสู่การปฏิบัติ และที่สำคัญจะต้องหาเจ้าภาพเพื่อมาดำเนินงานทางธุรการในเรื่องนี้ให้เกิดความต่อเนื่อง งานจึงจะสำเร็จ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาในขณะนั้น (ดร.รุ่ง แก้วแดง ทำหน้าที่เลขาธิการ) จึงได้รับการทาบทามให้มาทำหน้าที่เลขานุการของคณะทำงาน และได้ขอร้องให้ศาสตราจารย์ ดร.สิปปนนท์ เกตุทัต ทำหน้าที่ประธานคณะทำงาน

ในขณะที่ภาคธุรกิจและการศึกษากำลังหารือกันอยู่นั้น ฝ่ายการเมืองก็กำลังดำเนินการยกร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 อยู่พอดี ทุกคนในคณะทำงานมองเห็นเป็นโอกาสว่าถ้ามีบทบัญญัติสักมาตราใดมาตราหนึ่งในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยกำหนดให้ประเทศไทยมีกฎหมายการศึกษาได้ การขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาโดยใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือก็จะสำเร็จ การประสานงานกับฝ่ายที่ยกร่างกฎหมายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยในขณะนั้นจึงเกิดขึ้นพร้อมกับคำถามที่ว่า กฎหมายการศึกษาของเราควรมีสาระเกี่ยวกับเรื่องอะไร จึงจะทำให้ประชาชนและผู้เกี่ยวข้องเห็นความสำคัญ มองเห็นประโยชน์ และให้การสนับสนุน

Advertisement

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การปฏิรูปการศึกษาจะต้องได้รับการสนับสนุนจากครู ผู้บริหารการศึกษาที่อยู่ในระบบอยู่แล้ว ประชาชน และผู้มีผลประโยชน์ได้เสียกับการศึกษา การปฏิรูปการศึกษาจึงจะสำเร็จ คณะทำงานที่จะมากำหนดว่าเราจะปฏิรูปอะไร อย่างไร และจะมีใครมาเกี่ยวข้องบ้างจึงเกิดขึ้น

คณะทำงานได้ตั้งคณะทำงานย่อยขึ้นมากว่า 30 คณะ เพื่อไปศึกษา วิเคราะห์ วิจัยระบบการศึกษาของไทยและของประเทศชั้นนำทั้งหลายของโลก โดยเลือกคณะทำงานที่มีความรู้ ความสนใจ ประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในระบบการศึกษาของประเทศนั้นๆ ให้มาศึกษา วิเคราะห์ทั้งระบบ ทั้งผลผลิตของระบบการศึกษา (output) กระบวนการผลิต (process) ทรัพยากรเพื่อการผลิต (input) และสิ่งแวดล้อม (environment) ของระบบการศึกษาของแต่ละประเทศ นำมาวิเคราะห์เปรียบเทียบกันกับระบบการศึกษาของไทย เพื่อจะหาคำตอบว่า “ถ้าจะปฏิรูปการศึกษาของไทย ทำอย่างไรจึงจะสำเร็จ และยั่งยืน”

หนึ่งในคณะทำงานย่อยชุดนี้ก็คือคณะทำงานย่อยเกี่ยวกับการปฏิรูปครูและบุคลากรทางการศึกษา ซึ่งรวมทั้งผู้บริหารการศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษา และบุคลากรทางการศึกษาอื่นด้วยว่า “ทำอย่างไร เราจึงจะทำให้ครูและบุคลากรทางการศึกษาของไทยมีความรู้ ความสามารถ มีสมรรถนะ ทุ่มเทปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มที่ เต็มความสามารถ รับผิดรับชอบ ก่อให้เกิดผลดีต่อนักเรียน นักศึกษา และประชาชน” คล้ายๆ กับครูและบุคลากรทางการศึกษาของประเทศชั้นนำทางการศึกษาของโลก

Advertisement

โจทย์ที่คณะทำงานชุดใหญ่ฝากมาอีกอย่างคือ “ทำอย่างไรวิชาชีพครูและผู้ประกอบวิชาชีพครูของไทยจึงจะได้รับการยอมรับ และได้รับความไว้วางใจจากคนไทยเช่นเดียวกับการที่แพทย์และวิชาชีพแพทย์ของไทยได้รับการยอมรับจากประชาชน”

ควบคู่กันกับการศึกษา วิเคราะห์ระบบการผลิตและการพัฒนาครูของประเทศชั้นนำทางการศึกษาของโลกทั้งในส่วนที่เป็นตัวป้อนเข้า กระบวนการผลิต ทรัพยากรทางการผลิต สภาพแวดล้อมของระบบการผลิต คณะทำงานชุดย่อยนี้จึงต้องศึกษาระบบการผลิตแพทย์ของไทย เพื่อที่จะได้นำข้อมูลที่ได้มาจัดทำข้อเสนอเชิงสาระบัญญัติเพื่อนำไปบรรจุไว้ในกฎหมายการศึกษา

จากการศึกษาและวิเคราะห์ระบบการผลิตครูของประเทศชั้นนำและระบบการผลิตแพทย์ของไทยระหว่างปี พ.ศ.2538
-2540 คณะทำงานย่อยพบว่าคุณภาพของครูหรือของแพทย์ขึ้นอยู่กับคุณภาพของกระบวนการผลิต คุณภาพของกระบวนการผลิตขึ้นอยู่กับคุณภาพของตัวป้อนเข้า ระบบการผลิตครูรับตัวป้อนเข้ามาจากสิ่งแวดล้อม และสิ่งแวดล้อมจะเป็นอย่างไรขึ้นอยู่กับคุณภาพของผลผลิตของระบบย่อยอื่นๆ ที่ต่างส่งผลผลิตของตนออกไปสู่สิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นระบบใหญ่ของสังคม

ถ้าจะปฏิรูปการศึกษาให้สำเร็จ เราต้องใช้ครูผู้เป็นผู้ประกอบวิชาชีพชั้นสูง (professional) เป็นครูที่ (1) มีมาตรฐานความรู้ ความสามารถสูง เป็นมาตรฐานความรู้ความสามารถระดับประเทศหรือระดับนานาชาติ ทั้งความรู้เกี่ยวกับนักเรียน เกี่ยวกับวิชาที่จะสอน เกี่ยวกับวิธีการที่จะทำให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้ (2) รู้ว่าจะใช้ความรู้ใดใน (1) กับสถานการณ์ใดและกับนักเรียนคนใด

(3) รับผิดชอบต่อหน้าที่ ต่อผลลัพธ์ที่เกิดจากการตัดสินใจ การปฏิบัติ และสามารถจัดการ แก้ปัญหา ประสานกับบุคคลอื่นเพื่อเอื้อให้ตนทำงานได้สำเร็จ (4) ทันสมัย ริเริ่ม สร้างสรรค์ ใช้สื่อและอุปกรณ์สมัยใหม่ในการทำงาน (5) มีจรรยาบรรณวิชาชีพ ยึดประโยชน์ของผู้รับบริการเป็นที่ตั้ง

และ (6) ได้รับค่าตอบแทนตามระดับความสามารถและความเชี่ยวชาญของความเป็นวิชาชีพชั้นสูงของตน

การที่จะทำให้บัณฑิตครูของไทยมีมาตรฐานความรู้ มาตรฐานการปฏิบัติงาน (สมรรถนะ) และมาตรฐานการปฏิบัติตน (จรรยาบรรณ) สูง เหมาะสมกับการเป็นผู้ประกอบวิชาชีพชั้นสูงดังที่กล่าวถึงข้างต้น นักศึกษาครูของไทยก็ต้องศึกษาและได้รับการบ่มเพาะเป็นเวลานาน เช่นเดียวกันกับการศึกษาและการบ่มเพาะของนักศึกษาแพทย์ หรือคล้ายกันกับระบบการศึกษาและบ่มเพาะครูของประเทศชั้นนำทั้งหลาย ในทุกองค์ประกอบของระบบการผลิตครู การศึกษาในระดับปริญญาตรีจึงไม่เพียงพอที่จะทำให้นักศึกษาครูของไทยมีคุณลักษณะและสมรรถนะของผู้ประกอบวิชาชีพชั้นสูงได้ เช่นเดียวกับประเทศชั้นนำทางการศึกษาทั้งหลายของโลกต่างก็ใช้บัณฑิตครูระดับปริญญาโทสอนนักเรียนมัธยมศึกษาหรือประถมศึกษา

ถ้าอยากได้ครูที่เป็นผู้ประกอบวิชาชีพชั้นสูง กระบวนการและระยะเวลาการผลิตครูก็ต้องเอื้อให้นักศึกษาครูเกิดและมีมาตรฐานความรู้ มาตรฐานการปฏิบัติงาน และมาตรฐานการปฏิบัติตนสูง

กระบวนการผลิต (process) จึงต้องเริ่มต้นจาก (1) การกำหนดภารกิจและหน้าที่ของคณาจารย์ให้ชัดเจน ให้ครูของครูสอนตรงตามวิชาที่เรียนในระดับปริญญาตรี/โท และสร้างภาวะผู้นำขึ้นในคณะครุศาสตร์

(2) การจัดหาและพัฒนาสิ่งสนับสนุนการจัดการเรียนการสอนของคณาจารย์

(3) การสร้างแรงจูงใจและให้คณาจารย์ทุ่มเทในการจัดการเรียนการสอนที่เน้นการให้นักศึกษาครูเป็นผู้ปฏิบัติ (Active Learning Approaches) ให้นักศึกษาครูเกิดความสงสัยและอยากรู้อยากเห็น (Inquiry Skills) ในวิชาที่เรียน ทั้งวิชาครู วิชาเอก การบูรณาการวิชาครูและวิชาเอก วิชาพื้นฐาน และวิชาเกี่ยวกับชุมชนที่เป็นที่ตั้งของโรงเรียน ให้นักศึกษาครูได้เรียนรู้วิชาต่างๆ ทั้งในห้องเรียนของมหาวิทยาลัย (university classroom) และห้องเรียนของโรงเรียน (school classroom) ให้เรียนที่โรงเรียน สถานประกอบการ ห้องปฏิบัติการ สื่อ ศูนย์ภาษา ศูนย์เรียนรู้ศาสตร์พระราชา ฯลฯ เพื่อนำข้อสงสัยทั้งหลายไปใช้ในการกำหนดปัญหา (problem) และสร้างโครงงาน เรียนรู้จากการทำโครงงาน (Project-based Learning = PBL) ก็จะทำให้เกิดการเรียนการสอนแบบโครงงาน หรือแบบวิจัยและพัฒนา โดยอาศัยเทคนิคต่างๆ ของการเรียนการสอนเข้ามาช่วย ทั้งการเรียนการสอนแบบสอนน้อยแต่เรียนรู้ได้มาก (Teach Less and Learn More = TLLM) ใช้เทคนิคการเรียนแบบร่วมแรงร่วมเรียน (Cooperative Learning) การเรียนการสอนแบบบูรณาการ (Integrative Learning) การเรียนการสอนแบบให้คำแนะนำ (Coaching) การเรียนการสอนแบบเป็นพี่เลี้ยง (Mentoring) ให้เรียนด้วยการปฏิบัติและสร้างผลงาน (Community of Practice = COP) ให้มีชั่วโมงสำหรับนักศึกษาครูได้สะท้อนและสรุปความรู้และความเข้าใจที่เป็นของตนเอง ฯลฯ

(4) การสร้างความร่วมมือระหว่างคณะครุศาสตร์ สถานศึกษา ชุมชน และหน่วยงานทางการศึกษาเพื่อให้เป็นหน่วยงานร่วมกันผลิตครู

(5) การใช้เวลาในการบ่มเพาะและพัฒนานักศึกษาครูตาม (3) อย่างเหมาะสมและเพียงพอแก่การทำให้นักศึกษาครูกลายเป็นผู้ประกอบวิชาชีพชั้นสูงอย่างมั่นคงถาวร

(6) การพัฒนาคณาจารย์โดยอาศัยการสร้างชุมชนวิชาชีพแห่งการเรียนรู้ (Professional Learning Community = PLC) การให้ผลสะท้อนกลับ (Feedbacks) และสร้างประสบการณ์การสอนในสถานศึกษาแก่คณาจารย์ ติดตามและประเมินผลการสอนของคณาจารย์และการเรียนรู้ของนักศึกษาครูและการให้ผลสะท้อนกลับ (Feedbacks) แก่ นักศึกษาครูเป็นระยะ

(7) การจัดกิจกรรมเสริมความเป็นครูในระหว่างภาคและปิดภาคเรียน (8) การพัฒนาคุณภาพผู้เรียนด้วยระบบหอพักและกิจกรรมหอพัก

และ (9) ทุกขั้นตอนจาก (1) – (8) ดำเนินการอย่างเป็นระบบ ผ่านกระบวนการวางแผน นำแผนไปปฏิบัติ ประเมินผลการปฏิบัติ และนำผลการประเมินมาใช้ในการวางแผนและการพัฒนางานอย่างต่อเนื่อง – Plan, Do, Check, Act = PDCA

ซึ่งถ้ากระบวนการผลิตเป็นอย่างนี้บัณฑิตครูก็จะกลายเป็นผู้ประกอบวิชาชีพชั้นสูงคล้ายกับบัณฑิตแพทย์ได้

เพื่อให้สถาบันผลิตครูสามารถใช้กระบวนการผลิตครูดังที่กล่าวถึงข้างต้นได้ ตัวป้อนเข้าของระบบการผลิตครูของไทย ทั้งนักศึกษาครู ครูของครู หลักสูตร สิ่งอำนวยความสะดวกทางการผลิต สื่อการเรียน สถานที่ฝึกปฏิบัติ หอพัก ก็จะต้องมีลักษณะคล้ายกันกับตัวป้อนเข้าของระบบการผลิตแพทย์ไทย หรือคล้ายกันกับตัวป้อนเข้าของระบบการผลิตครูของประเทศชั้นนำทางการศึกษาของโลก

นั่นก็คือ (1) นักศึกษาครูต้องมีคุณภาพสูง ต้องเป็นนักเรียน ม.6 ระดับเยี่ยมของประเทศ เช่นเดียวกับนักศึกษาแพทย์ ต้องไม่รับนักศึกษาจำนวนมากๆ เกินความต้องการของผู้ใช้ครู (2) หลักสูตรต้องมีมาตรฐานสูง ทันสมัย สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของประเทศและของโลก ทั้งในส่วนที่เป็นวิชาพื้นฐานทั่วไป วิชาครู วิชาเอก วิชาเลือก ภาษาอังกฤษ ดิจิทัล ปัญญาประดิษฐ์ ศาสตร์พระราชา

(3) คณาจารย์หรือครูของครูต้องมีคุณภาพสูง ทันสมัย มีปริมาณพอเพียง มีความสามารถในการถ่ายทอดองค์ความรู้ มีจิตวิญญาณความเป็นครู มีพี่เลี้ยงนักศึกษาครูประจำโรงเรียนร่วมผลิตครูที่มีความรู้และประสบการณ์ทางการสอน (Mentors) ร่วมให้คำแนะนำนักศึกษาครู (4) มีสื่อ สถานประกอบการ ห้องปฏิบัติการ แหล่งเรียนรู้ หอพัก อุปกรณ์ที่จะเข้าถึง ICT, YouTube แหล่งเรียนรู้ดิจิทัล มีโรงเรียนร่วมผลิตครู (Teacher Training Schools -TTS) ทั้งที่เป็นโรงเรียนสาธิตและโรงเรียนร่วมผลิต

(5) มีผู้ทรงคุณวุฒิด้าน AI, Robot, etc.ที่สามารถมาให้ความรู้สมัยใหม่แก่คณาจารย์และนักศึกษาครู (6) มีงบประมาณ เวลาสำหรับการผลิตที่เอื้ออำนวย และทรัพยากรการบริหารเพียงพอ (7) มีกฎหมาย ระเบียบที่สนับสนุนการผลิตครูผู้ประกอบวิชาชีพชั้นสูง

สิ่งแวดล้อมของระบบการผลิต เช่นการให้ทุนระหว่างเรียน การให้หลักประกันการมีงานทำ เงินเดือนและรายได้เมื่อบรรจุเป็นครู บรรยากาศในที่ทำงานของครูไทยที่คล้ายกันกับบรรยากาศในที่ทำงานของบัณฑิตแพทย์ไทย หรือคล้ายกันกับบรรยากาศในโรงเรียน หรือในห้องเรียนในประเทศชั้นนำทางการศึกษาของโลก

นอกจากนั้น แผนการผลิตและพัฒนาครูก็ต้องให้ความสำคัญเช่นเดียวกันกับแผนการผลิตและพัฒนาแพทย์ กฎหมาย กฎ ระเบียบและประกาศทั้งหลายก็ต้องเอื้อให้การผลิตครูให้ได้ครูผู้เป็นผู้ประกอบวิชาชีพชั้นสูง

จากข้อมูลที่ได้รับจากการศึกษา วิจัย และวิเคราะห์ข้างต้น คณะทำงานย่อยเกี่ยวกับการปฏิรูปครูและบุคลากรทางการศึกษาจึงสรุปและนำเสนอประเด็นการปฏิรูปครูและบุคลากรทางการศึกษาต่อที่ประชุมคณะทำงานชุดใหญ่เพื่อนำไปสู่การกำหนดสาระบัญญัติในกฎหมายการศึกษาที่จะก่อให้เกิดความยั่งยืนเกี่ยวกับการปฏิรูปครูและบุคลากรทางการศึกษากว่า 33 ประเด็น

มีการอภิปราย ข้อดี ข้อด้อย โอกาสเป็นไปได้ อุปสรรคในการนำไปสู่การปฏิบัติอย่างกว้างขวาง หลายประเด็นหาข้อยุติได้ และหลายประเด็นมีรายละเอียดเกี่ยวข้องเยอะ ตัดสินใจไม่ได้ เช่นการผลิตครูในระบบปิด การมีหลักประกันการมีงานทำ เงินเดือนและรายได้ของครู ฯลฯ จึงทำให้ไม่สามารถนำประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปครู คณาจารย์และบุคลากรทางการศึกษาในขณะนั้นมากำหนดไว้ในกฎหมายการศึกษาได้ทั้งหมด หลายประเด็นให้นำไปกำหนดไว้ในกฎหมายลูก จึงทำให้ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ 2542 มีบทบัญญัติเกี่ยวกับครูและบุคลากรทางการศึกษาอยู่เพียง 5 มาตรา คือมาตรา 52-57 ดังที่ผู้คนในวงการการศึกษาทราบกันดีอยู่แล้ว

คำว่า “วิชาชีพชั้นสูง” “ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ” จึงเกิดขึ้นเพื่อใช้เป็นกลไกหรือเครื่องมือในการทำให้ครูและบุคลากรทางการศึกษาของไทยได้รับความไว้วางใจจากสังคมเช่นเดียวกับการที่แพทย์ไทยได้รับความไว้วางใจจากสังคมจากทั้งภายในประเทศและทั่วโลก

ณวันนี้ กฎหมายหลักทางการศึกษา โดยเฉพาะ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 และ พ.ร.บ.สภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2546 เปิดโอกาสให้สถาบันผลิตครู โดยเฉพาะคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ผลิตครูให้ออกไปเป็นผู้ประกอบวิชาชีพชั้นสูงได้แล้ว คณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ทั้งหลายจึงควรจะได้ผนึกกำลังกันผลักดันให้ภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องให้มาให้การสนับสนุนคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ให้ทำหน้าที่ให้สมบูรณ์เช่นเดียวกับคณะแพทยศาสตร์ เพื่อให้กระบวนการผลิต – process ตัวป้อนเข้าของระบบการผลิต – input or management resources และสิ่งแวดล้อมของระบบการผลิตครู – environment เอื้อให้บัณฑิตครูและคุณครูทั้งหลายได้รับความไว้วางใจและยอมรับจากประชาชนเช่นเดียวกับการที่แพทย์ไทยได้รับการยอมรับจากประชาชน

ต้องผลิตให้ครูไทยเป็นผู้ประกอบวิชาชีพชั้นสูง มากกว่าการผลิตเพียงแค่ให้ออกไปประกอบอาชีพ เพียงเพื่อให้ได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ แต่สังคม ประชาชนสงสัยและคลางแคลงใจในคุณภาพบัณฑิตครูของพวกเรา เพราะบัณฑิตครูไม่สามารถทำตนเหมือนกับผู้ประกอบวิชาชีพชั้นสูง – professional พึงปฏิบัติ และผลิตเกินความต้องการเหมือนอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

ดิเรก พรสีมา
คณบดีวิทยาลัยการฝึกหัดครู มรภ.พระนคร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image