ยูสเคส5จี ‘รถยนต์ไร้คนขับ’ สัมผัสได้ที่จุฬาฯ

‘รถยนต์ไร้คนขับ’หรือคอนเน็กเต็ดคาร์ ครั้งหนึ่งอาจดูเหมือนนวนิยายวิทยาศาสตร์ แต่ทว่ากำลังจะกลายเป็นจริงแล้ว โดยผู้ผลิตรถยนต์บางรายได้ประกาศว่า จะผลิตรถยนต์ไร้คนขับออกมาใช้งานจริงในปี 2563 จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมครั้งใหญ่ตามมาอย่างแน่นอน

รถยนต์ไร้คนขับŽ เป็นการประยุกต์ใช้ประเภทหนึ่งของอินเตอร์เน็ต ออฟ ธิงส์ (ไอโอที) เป็นการนําเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้กับยานยนต์และการคมนาคมขนส่ง ทําให้รถยนต์กลายเป็นยานพาหนะที่เชื่อมต่อ และสามารถสื่อสารกับสิ่งต่างๆ

ได้แก่ 1.เชื่อมต่อกับอินเตอร์เน็ต เพื่อความบันเทิงของผู้โดยสาร 2.เชื่อมต่อกับบริการเกี่ยวกับการขับขี่ เช่น บริการนําทาง บริการตรวจเช็กรถยนต์จากระยะไกล เป็นต้น 3.สื่อสารกับสิ่งต่างๆ รอบตัว เช่น รถยนต์คันอื่น สัญญาณไฟจราจร เป็นต้น และ 4.นําการสื่อสารมาผนวกกับข้อมูลจากเซ็นเซอร์ต่างๆ ซึ่งใช้ในการตรวจจับสิ่งที่อยู่รอบตัว และนําข้อมูลมาประมวลผลเพื่อการขับขี่ เกิดเป็นรถยนต์ไร้คนขับ หรือรถยนต์ขับอัตโนมัติ

Advertisement

จากการคาดการณ์ของ การ์ตเนอร์Ž บริษัทวิจัยและวิเคราะห์ข้อมูลด้านเทคโนโลยีสารสนเทศชั้นนำของโลก ระบุว่า ในปี 2563 ทั่วโลกจะมีจํานวนรถยนต์ไร้คนขับ จํานวน 250 ล้านคัน หรือคิดเป็นประมาณ 20% ของจํานวนรถยนต์ทั้งหมด (รวมถึงรถเก่าที่วิ่งอยู่แล้วบนท้องถนนด้วย) โดยรถยนต์ไร้คนขับจะทําให้รถยนต์กลายเป็น อุปกรณ์สื่อสารŽ หรือเสมือน สมาร์ทโฟนติดล้อŽ ซึ่งจะสามารถรองรับแอพพลิเคชั่นประเภทใหม่ๆ ที่ช่วยให้การคมนาคมขนส่งมีความปลอดภัยมากขึ้น มีประสิทธิภาพคล่องตัวมากขึ้น ช่วยอํานวยความสะดวกสบายให้แก่ผู้เดินทาง และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

ในอดีตที่ผ่านมาแนวคิดของการให้บริการรถยนต์ไร้คนขับ จะจำกัดอยู่เพียงการพัฒนาในรถยนต์ให้สามารถเก็บข้อมูลการใช้งานวัสดุสิ้นเปลืองชิ้นส่วนและอุปกรณ์ เพื่อความสะดวกในการบำรุงรักษารถยนต์โดยมีการพัฒนากล่องอิเล็กทรอนิกส์ หรือกล่องอีซียู ที่ทำหน้าที่ควบคุมการทำงานของระบบต่างๆ ในรถยนต์ ในการเก็บข้อมูลและระบบสั่งงานต่างๆ ของรถยนต์ เพื่อให้ศูนย์ให้บริการรถยนต์ หรือบริษัทผู้ผลิตรถยนต์สามารถบำรุงรักษารถยนต์ได้อย่างถูกต้องแม่นยำ

แต่ในปัจจุบันผู้ผลิตรถยนต์ส่วนใหญ่ ได้พัฒนาระบบให้ผู้ใช้งาน สามารถเชื่อมต่ออุปกรณ์สื่อสารของผู้ขับขี่เข้ากับระบบของรถยนต์ได้ ทั้งระบบนำทางจีพีเอส รวมถึงการตรวจสอบการทำงานของรถยนต์ได้ด้วยตนเอง จึงทำให้ผู้เล่นในอุตสาหกรรมอื่น เข้ามาเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมรถยนต์มากขึ้น และในทางกลับกัน ผู้ผลิตรถยนต์ก็สามารถขยายการให้บริการที่ครบวงจรมากขึ้น

Advertisement

ปัญหาด้านการคมนาคมขนส่งทางถนนถือได้ว่าเป็นอีกหนึ่งปัญหาที่สําคัญของประเทศ โดยจากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก (ดับเบิลยูเอชโอ) ระบุว่า ประเทศไทยมีจํานวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนเป็นอันดับ 2 ของโลก ขณะที่รายงานประเมินสภาพจราจรทั่วโลก (โกลเบิล กราฟิก สกอร์คาร์) ประจำปี 2560 ระบุว่า ไทยครองแชมป์ประเทศที่มีสภาพการจราจรติดขัดที่สุดในโลกเป็นปีที่ 2 ติดต่อกันจากการจัดอันดับรวม 38 ประเทศ โดยผู้ขับขี่และผู้โดยสารยานพาหนะในไทยจะเสียเวลาติดอยู่บนท้องถนนในช่วงเวลาเร่งด่วนเฉลี่ย 56 ชั่วโมง สำหรับกรุงเทพมหานคร ติดอันดับ 16 ของโลก และขึ้นแท่นเมืองที่รถติดมากที่สุดของเอเชีย โดยผู้ใช้รถต้องเสียเวลาบนท้องถนนมากถึง 64 ชั่วโมงต่อปี

คําถามคือ รถยนต์ไร้คนขับจะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยได้อย่างไร หากมองปัญหาทั้งความปลอดภัยทางถนน และการจราจรดังกล่าว ดังนั้น การพัฒนารถยนต์ไร้คนขับให้ใช้งานได้จริง จึงเป็นเรื่องที่ท้าทาย ทั้งการร่วมมือกันระหว่างอุตสาหกรรมที่มีความแตกต่างกันอย่างมาก อย่างอุตสาหกรรมยานยนต์และอุตสาหกรรมโทรคมนาคม โดยในต่างประเทศได้มีความพยายามในการร่วมมือกันระหว่างทั้งสองอุตสาหกรรม เกิดเป็นสมาคม 5จี เกี่ยวกับยานยนต์ขึ้น โดยมีการปรับปรุงกฎระเบียบที่เกี่ยวกับกิจการโทรคมนาคมและการคมนาคมขนส่ง ให้สอดคล้องกับพัฒนาการของรถยนต์ไร้คนขับ รวมถึง ความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ และความเป็นส่วนตัวของข้อมูล บุคคล เป็นต้น

นักสิทธ์ นุ่มวงษ์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า หลังจากลงนามความร่วมมือทางวิชาการระหว่างสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติและทดสอบ 5จี เป็นเวลา 2 ปี ภายในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยคณาจารย์ในมหาวิทยาลัย พร้อมทั้งผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (โอเปอเรเตอร์), ผู้ผลิตอุปกรณ์โทรคมนาคม (เวนเดอร์) และภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง ได้มีการระดมความคิด เพื่อค้นหาการพัฒนาและทดสอบรูปแบบการใช้งาน (ยูสเคส) ที่สามารถขับเคลื่อนไปสู่การใช้งานเชิงพาณิชย์ในอนาคต ซึ่งอยู่ภายใต้แนวคิด สมาร์ทซิตี้ หรือเมืองอัจฉริยะ ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 1.สมาร์ทเฮลธ์ 2.สมาร์ท โมบิลิตี้ (การสัญจรอัจฉริยะ) และ 3.สมาร์ท เอ็นไวรอนเมนท์ (สิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ)

สำหรับ สมาร์ท โมบิลิตี้ หรือการสัญจรอัจฉริยะ เป็นผู้รับผิดชอบใน 2 โครงการ ได้แก่ 1.การพัฒนาต้นแบบรถยนต์ขับเคลื่อนได้เองอัตโนมัติ ระบบฮาโม่ ที่จุฬาฯได้ร่วมกับ
โตโยต้า และเปิดให้บุคลากรในมหาวิทยาลัย นิสิต และคณาจารย์ ได้เริ่มใช้งานไปแล้วก่อนหน้านี้ ทั้งนี้ ได้ร่วมกับ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือทรู ในการต่อยอดการเคลื่อนย้ายรถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติ ให้กระจายไปยังสถานีจอดที่มีความต้องการใช้งานที่หนาแน่น โดยในระยะแรกจะเป็นการพัฒนาระบบรถยนต์ ให้สามารถขับเคลื่อนโดยอัตโนมัติก่อน

ปัจจุบันมีรถยนต์ระบบฮาโม่ในโครงการทั้งสิ้น 30 คัน โดยผู้ใช้บริการต้องเป็นผู้ที่มีใบขับขี่ และทำการสมัครใช้งานผ่านแอพพลิเคชั่น มีค่าบริการครั้งแรก 100 บาท เมื่อใช้งานใน 15 นาทีแรก ระบบจะหักเงิน 20 บาท และตั้งแต่นาทีที่ 16 จะคิดนาทีละ 2 บาท ทั้งนี้ ผู้ใช้บริการสามารถจองรถได้ล่วงหน้าไม่เกิน 30 นาที โดยการชาร์จไฟ 1 ครั้ง สามารถใช้งานได้ประมาณ 60 กิโลเมตร ปัจจุบัน มียอดการใช้งานกว่า 100 ครั้งต่อวัน

2.ได้ร่วมกับบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส ในการทดสอบการควบคุมยานพาหนะจากทางไกล ซึ่งต้องอาศัยประสิทธิภาพของ 5จี ที่สามารถรับ-ส่งข้อมูลความเร็วสูง, เชื่อมต่อ อุปกรณ์ได้เป็นจำนวนมาก และมีความเสถียรมาก รวมทั้งมีความหน่วงต่ำ

“คาดว่าการร่วมกับโอเปอเรเตอร์ทั้ง 2 ราย จะสามารถทราบถึงรูปแบบการใช้งาน 5จี ทั้งในการเคลื่อนย้ายรถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติ และการทดสอบการควบคุมยานพาหนะจากทางไกลได้ ทั้งนี้ จะเริ่มการทดสอบได้อย่างเร็วน่าจะประมาณเดือนเมษายน โดยข้อมูลบิ๊กดาต้าที่เกิดขึ้น จะนำไปต่อยอดปรับปรุงให้เข้ากับการใช้งาน การจราจรในพื้นที่นั้นๆ เพื่อพัฒนาให้เกิดความแม่นยำมากยิ่งขึ้นŽ” นักสิทธ์ทิ้งท้าย

นี่คือยูสเคสหนึ่งที่จุฬาฯและองค์กรพันธมิตรผนึกกำลังกันผลักดันให้เกิดเป็นรูปธรรม

เพื่อรองรับยุค 5 จี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image