ทอ.ผนึกบวท. ปรับเส้นทางการบินเป็นคู่ขนาน รองรับเที่ยวบินเพิ่มหนุนธุรกิจการบิน-ท่องเที่ยว ดันเศรษฐกิจไทยโต เริ่มเส้นทางภาคใต้ เปิด28 มี.ค.นี้

พล.อ.อ.สมศักดิ์ หาญวงษ์ ผู้บัญชาการกรมควบคุมการปฏิบัติทางอากาศ(คปอ.) กองทัพอากาศ(ทอ.) เปิดเผยว่า ประเทศไทยมีทำเลยุทธศาสตร์เป็นศูนย์กลางประชาคมอาเซียนซึ่งเอื้อต่อการเป็นศูนย์กลางด้านการคมนาคมทางอากาศในภูมิภาค นำไปสู่การพัฒนาด้านการท่องเที่ยว การบิน รวมถึงการเติบโตเศรษฐกิจ ทอ.จึงให้ความสำคัญกับการบริหารห้วงอากาศทั้งในส่วนของภารกิจด้านความมั่นคงและการพัฒนาการขนส่งทางอากาศของประเทศเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศ จึงได้มีการผสานความร่วมมือกับ บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.) เพื่อตอบสนองความต้องการใช้ห้วงอากาศที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยได้ปรับปรุงเส้นทางบินด้านใต้ช่วยให้การบริหารจัดการห้วงอากาศของประเทศมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่ง ทอ. ได้ปรับพื้นที่ฝึกบินของ กองบิน 7 จังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อให้บวท. ได้ปรับปรุงโครงสร้างเส้นทางบินใหม่ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับเที่ยวบินที่เพิ่มขึ้น และยังคงไว้ซึ่งภารกิจด้านความมั่นคงและความปลอดภัยของประเทศเป็นสำคัญ

สมนึก รงค์ทอ

นายสมนึก รงค์ทอง กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.) กล่าวว่า แผนการปรับปรุงเส้นทางบินของ บวท. จะเริ่มตั้งแต่ปี 2562-2564 โดยจะปรับปรุงเส้นทางบินใหม่ให้เป็นแบบคู่ขนาน และมีการจัดการจราจรทางอากาศแบบทางเดียว (วันเวย์รูท) ซึ่งเป็นการบินขาไปและขากลับคนละเส้นทาง จากเดิมที่การบินทั้งขาไปและขากลับจะใช้เส้นทางบินเดียวกัน แต่ระดับความสูงแตกต่างกัน และก่อนหน้านี้ได้ทยอยปรับปรุงไปแล้วในส่วนเส้นทางเชียงใหม่ ตั้งแต่ปี 2556 ซึ่งการทำงานร่วมกันกับ ทอ. ในการบริหารห้วงอากาศ เป็นไปตามหลักการการบริหารห้วงอากาศแบบยืดหยุ่นตามความต้องการใช้งานทั้งด้านความมั่นคงและการพัฒนาการขนส่งทางอากาศ ซึ่งปัจจจุบัน ปริมาณจราจรทางอากาศในประเทศของไทยเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องเฉลี่ย 6% ต่อปี ทั่วประเทศมีเที่ยวบินรวมกว่า 3,000 เที่ยวต่อวัน หากมีการปรับเส้นทางบินใหม่ให้เป็นแบบคู่ขนาน และมีการจัดการจราจรทางอากาศแบบทางเดียว จะทำให้สามารถรองรับได้ถึง 5,000 เที่ยวต่อวัน

นายสมนึก กล่าวว่า สำหรับการปรับเส้นทางบินใหม่ที่จะเริ่มใช้ก่อนคือ เส้นทางบินทางด้านใต้  สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ได้เห็นชอบให้ประกาศใช้เส้นทางบินใหม่ในวันที่ 28 มีนาคม 2562 โดยเส้นทางบินทางด้านใต้มี 8 เส้นทาง  เป็นเส้นทางที่รองรับเที่ยวบินจากกรุงเทพฯ ทั้งสนามบินสุวรรณภูมิ และสนามบินดอนเมือง ไปยังสนามบินหลักทางภาคใต้ ได้แก่ ภูเก็ต กระบี่ ตรัง  และสุราษฎร์ธานี ซึ่งในช่วงระยะเวลา 5 ปี ที่ผ่านมา ปริมาณจราจรทางอากาศในเขตน่านฟ้าด้านใต้ได้เพิ่มสูงขึ้นเป็นเท่าตัว โดยมีจำนวนเที่ยวบินรวมอยู่ที่ 12,400 เที่ยวบินต่อเดือน เฉลี่ยวันละ 400 เที่ยวบินต่อวัน คิดเป็น 31% ของเที่ยวบินภายในประเทศทั้งหมด การปรับเส้นทางบินใหม่จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับเที่ยวบินของกลุ่มสนามบินด้านใต้ ได้แก่ ภูเก็ต กระบี่ สมุย นครศรีธรรมราช  และสุราษฎ์ธานี  ในภาพรวมสามารถรองรับเที่ยวบินจากปัจจุบัน 600 เที่ยวบินต่อวัน เป็นประมาณ 1,000 เที่ยวบินต่อวัน หรือรองรับการการขยายเที่ยวบินได้ในช่วง 5 ปีจากนี้ โดย บวท. ได้จัดประชุมร่วมกับสายการบินผู้ใช้บริการ เพื่อทำความเข้าใจถึงแนวทางการปฏิบัติการบิน ซึ่งในส่วนผลกระทบต่อเวลาการเดินทางมีน้อยมาก 

นางสิริเกศ เนียมลอย ผู้อำนวยการใหญ่ บริหารจราจรทางอากาศ บริษัท วิทยุการบิน จำกัด กล่าวว่า เส้นทางการบินที่จะปรับปรุงใหม่ต่อไปคือ เส้นทางด้านตะวันออก 4 เส้นทาง คาดแล้วเสร็จในช่วงเดือนกันยายน 2562 นี้ ต่อไปคือ เส้นทางด้านตะวันตกและฝั่งเมียนมา 3 เส้นทาง แล้วเสร็จ ปี 2563 และเส้นทางด้านเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ 2 เส้นทางแล้วเสร็จในปี 2564

Advertisement
เส้นทางบินด้านใต้ เริ่มใช้ 28 มีนาคม 2562

นางสิริเกศ กล่าวว่า เส้นทางบินใหม่ด้านใค้มี 8 เส้นทาง โดย Y99 เป็นเส้นทางที่เครื่องบินจากภูเก็ต กระบี่ ตรัง  และสุราษฎร์ธานี ไปสนามบินดอนเมือง และเส้นทาง Y98 จากภูเก็ต กระบี่ ตรัง  และสุราษฎร์ธานีไปสุวรรณภูมิ ส่วนอีก 6 เส้นทางบิน เป็นเส้นทางบินที่เชื่อมต่อกับเส้นทางบินหลัก 2 เส้นทาง เพื่อไปยังสนามบินในภูมิภาคของภาคใต้ นอกจากนี้ได้ปรับปรุงใหม่ 2 เส้นทางบิน คือ Y8 เส้นทางบินหลักที่ขึ้นจาก สุวรรณภูมิ ไปภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสุราษฎร์ธานี และ Y5 เส้นทางบินอย่างมีเงื่อนไขใช้ได้ในช่วงเวลาที่ไม่มีการฝึกของ ทอ. อาทิ เวลา 06.00-09.00 น., 12.00-14.00 น. และ 16.00 น. เป็นต้นไป โดยการปรับปรุงเส้นทางบินใหม่คาดว่าจะช่วยยกระดับความปลอดภัย การควบคุมจราจาทาอากาศ เพิ่มความคล่องตัว และจะช่วยสนับสนุนและพัฒนาให้อุตสาหกรรมการบิน อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และเศรษฐกิจของประเทศ เจริญเติบโตขึ้นอีกทางหนึ่งด้วย    

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image