โฟกัสเลือกตั้ง 62 ‘จุดเปลี่ยน’ หรือ ‘จุดแตกหัก’

ผ่านไปไม่นานสำหรับการเลือกตั้งล่วงหน้า มีผู้มาใช้สิทธิที่พุ่งสูงกว่าร้อยละ 80 อาจเพราะเราว่างเว้นจากการเลือกตั้งยาวนานถึง 8 ปี จึงแห่แหนเข้าไปใช้สิทธิ เห็นการวิ่งเข้าคูหาทันทีที่เปิดหีบ เห็นการรวมกลุ่มเพื่อตั้งข้อสังเกตการเลือกตั้ง นี่คือภาพที่สะท้อนพลังของการตื่นตัวทางการเมือง

มีคำถามขึ้นมาว่า การเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในวันที่ 24 มีนาคมนี้ ประเทศไทยจะเดินไปสู่การเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น หรือเดินไปสู่การแตกหัก

ศ.ดร.เกษียร เตชะพีระ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิเคราะห์การเมืองในศักราชนี้ ผ่านรายการพิเศษ “เลือกตั้ง 62 จุดเปลี่ยน หรือจุดแตกหักประเทศไทย” ผ่านเครือข่าวมติชน ว่าปัจจุบันการสร้างพรรคการเมืองมีเป้าหมายเพื่อเป็นแกนกลางของอำนาจ เราอยู่ในระเบียบการเมืองที่เข้าใจว่าไม่จำเป็นต้องปลุกระดมประชาชนให้ลุกขึ้นมาแก้ไขปัญหาใหญ่โตของบ้านเมือง เมื่อไม่ดึงประชาชนเข้าไปร่วมจึงไม่เกิดการสร้างสถาบันการเมืองอย่างต่อเนื่อง

“ปัจจุบันมีคนจำนวนมากที่ยังคิดว่าจะอาศัยอำนาจของตัวเองเพื่อให้ได้มาซึ่งความมั่นคงและความเจริญก้าวหน้า และชาวบ้านบางส่วนยังคงขายเสียง แต่การตัดสินใจในการเลือกตั้งของประชาชนทั่วไปเป็นเรื่องของเงินน้อยลงทุกที ตอนนี้ประชาชนเป็นผู้กระทำการทางการเมืองที่คิดเองเป็น
เงินที่ใช้ก็ยิ่งกว่าตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ จะใช้กี่พันล้านก็ไม่มีความหมาย การชนะใจ ไม่ใช่ด้วยเงิน”

Advertisement

ศ.ดร.เกษียรเสริมอีกว่า อย่าคิดถึงเพียงประชาธิปไตย แต่ให้คิดถึงหน้าที่ที่สำคัญกว่า คือการผลักให้คนในประเทศได้มีส่วนร่วมในการเลือกตั้ง ให้อำนาจของประชาชนแผ่เข้าไปในวงการกีดกัน เช่นนี้จะไม่มีการแพ้หรือชนะที่เด็ดขาดเพราะเป็นการต่อสู้ยาวนาน ที่เราเชื่อและอุทิศให้เพราะเห็นค่าของเพื่อนร่วมชาติ เพื่อให้มีอำนาจในการกำหนดชีวิตของตัวเอง มีอิสรภาพ และเป็นคนเต็มคน

แต่ด้วยสถานการณ์การเลือกตั้งที่มีทุนใหญ่เข้ามาเกี่ยวข้องทั้งฉากหน้าและฉากหลัง สังคมไทยจะลดการผูกขาดได้อย่างไร

ศ.ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตร ผู้ทรงคุณวุฒิประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิเคราะห์ว่า ในอดีตชนชั้นนำไทยผลักดันประเทศให้ออกไปในแนวทางที่ต้องการโดยร่วมมือกับฝ่ายทหารได้หลายครั้ง แต่แนวทางนี้ 5 ปีที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่าการร่วมมือไม่ประสบความสำเร็จ หากมีการลงขันกันจริง เมื่อมีความล้มเหลวนักธุรกิจใหญ่ก็ต้องคิดทบทวนแล้วว่าจะพึ่งทหารได้อีกหรือไม่

Advertisement

ศ.ดร.ผาสุกกล่าวอีกว่า การเลือกตั้งครั้งนี้สำคัญมาก เป็นจุดเปลี่ยนที่จะทำให้เกิดการร่วมคิดร่วมมือกัน หลังการเลือกตั้งหากผลออกมาว่าฟากตรงข้ามกับ คสช.ชนะถล่มทลาย จะมีพรรคการเมืองใหม่จำนวนมากที่มีอุดมการณ์ชัดเจนเข้าไปมีบทบาทในรัฐสภาดำเนินการตามที่ได้โฆษณาไว้ แต่หากเสียงไม่มากพอจัดตั้งรัฐบาลได้ อย่างน้อยส่งสัญญาณให้เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงในภาคประชาชนไปไกลเกินกว่าที่ใครจะคาดคิด

“เราจะเห็นการอภิปรายและการเสวนาทั้งในและนอกรัฐสภา รวมทั้งสื่อมวลชนจะเป็นตัวตะล่อมให้ชนชั้นนำได้ตระหนักว่าถึงเวลาแล้วที่ต้องยอมรับการเปลี่ยนแปลง ไม่ควรดึงดันกับสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ หากคนรุ่นใหม่และคนส่วนใหญ่ของประเทศไม่ได้ต้องการแนวทางนั้น” ศ.ดร.ผาสุกกล่าว

สอดคล้องกับ รศ.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี คณะรัฐศาตร์ จุฬาฯ เชื่อมั่นว่าประชาชนฉลาดพอในการต่อสู้กับเกมการเมืองที่ออกแบบมาให้บิดเบี้ยว บทสนทนาการเมืองในโซเชียลมีเดียและในพื้นที่ครอบครัวชี้ให้เห็นว่าประชาชนรู้ทันและพร้อมที่จะต่อสู้กับกระบวนการนี้ “การเลือกตั้งครั้งนี้้เต็มไปด้วยความหวังและความรู้สึกร่วม เป็นสัญญาณที่ประชาชนจะบอกกับชนชั้นนำได้ เมื่อผลการเลือกตั้งออกมาหากเกิดสึนามิทางการเมือง มีความเป็นไปได้สูงว่าจะจัดตั้งรัฐบาลไม่ได้ แต่อย่างน้อยพลังของคนรุ่นใหม่ส่งสัญญาณว่าต้องการความเปลี่ยนแปลง จะใช้วิธีการแบบเดิมไม่ได้อีก”

รศ.สิริพรรณยังกล่าวว่า ไม่อยากเห็นจุดแตกหักทางการเมืองเพราะต้นทุนสูงเกินไป อยากเห็นการเปลี่ยนแปลง และเชื่อมั่นว่าการเลือกตั้งครั้งนี้จะนำไปสู่การเลือกตั้งอีกครั้งซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนแปลงในอนาคต และสังคมไทยจะดีขึ้น

“เลือกตั้งครั้งนี้อาจจะไม่ได้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ได้ระบอบประชาธิปไตย แต่จะเป็นหมุดหมายของการเปลี่ยนแปลง ที่ป้องกันไม่ให้ระบอบอำนาจนิยมที่พยายามจะฝังตัวอย่างชอบธรรมภายใต้หน้ากากประชาธิปไตย สามารถเพาะเมล็ดพันธุ์หยั่งรากไว้ได้ พลังที่ประชาชนบ่มไว้ในการเลือกตั้งจะบ่งบอกว่าคุณจะอยู่ได้ไม่นาน” รศ.สิริพรรณเน้นย้ำ

ผศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ในมุมของคนที่ศึกษาการเมืองเรื่องการเลือกตั้งเห็นว่าพรรคพลังประชารัฐ ตัวแทนของฝ่ายรัฐบาลใช้เทคนิคการเมืองแบบเก่าที่เห็นก่อนเมื่อปี 2540 ถ้าตอนนี้ยังเป็นการเมืองก่อนปี 2540 สิ่งที่ทำทั้งหมดจะทำให้ชนะเลือกตั้งเพราะชาวบ้านยังไม่ตื่นตัวกับการเลือกตั้งมากนัก และพรรคการเมืองยังไม่เป็นสถาบันการเมืองที่เข้มแข็ง ใครที่ดึง
ผู้มีอิทธิพลได้มากสุดก็จะชนะ จึงมีการใช้เครือข่ายหาเสียง ใช้หัวคะแนนแจกเงิน แจกสิ่งของที่ระลึกในคืนหมาหอน อย่างไรก็ตาม หลังปี 2540 การเมืองไทยเปลี่ยนไปในเชิงบวก คนให้ความสำคัญกับนโยบาย และพรรคการเมืองมีความเป็นสถาบันมากขึ้น ชาวบ้านตื่นรู้ ตื่นตัวมากขึ้น

“น่าสนใจที่ครั้งนี้โอลด์แฟชั่นกลับมา เราเห็นการเมืองเก่ากลับมาในสภาพภูมิทัศน์การเมืองที่เปลี่ยนไปมากแล้ว ทั้งการใช้อิทธิพล ระบบอุปถัมภ์ ใช้เครือข่ายหัวคะแนน ผู้มีอิทธิพล และคืนหมาหอนที่เกิดก่อนการเลือกตั้งหลายรอบ แจกกันหลายระลอก มีความเป็นไปได้ 2 ทาง คือ 1.คนที่วางยุทธศาสตร์การเลือกตั้งไม่รู้ว่าภูมิทัศน์ทั้งหมดเปลี่ยนไป จึงใช้วิธีเก่าแล้วคิดว่าจะได้ผล หรือ 2.รู้แต่ฝืนทำเพราะไม่มีทางเลือกอื่น การจะสร้างพรรคการเมืองให้เป็นสถาบันที่มีนโยบายและเอาชนะใจประชาชนได้ต้องใช้เวลานาน”

ผศ.ดร.ประจักษ์ยังวิเคราะห์การเมืองหลังการเลือกตั้งว่า การเมืองตอนนี้อยู่ในจุดที่ทั้งไม่ต่อเนื่องและไม่แตกหัก สังคมไทยอยู่กึ่งกลางระหว่าง 2 โมเดล คือ 1.โมเดลแบบมาเลเซีย การเลือกตั้งนำไปสู่การเปลี่ยนระบอบการเมืองและนำไปสู่ประชาธิปไตยจากการชนะถล่มทลาย และ 2.โมเดลแบบกัมพูชา การเมืองเป็นแบบเก่า ถ้าประชาชนตื่นรู้มากขึ้น ประชาธิปไตยก็จะเข้มแข็งขึ้น มีนักการเมืองใหม่เกิดขึ้น มีนิวโหวตเตอร์ เฟิร์สต์ไทม์โหวตเตอร์จำนวนมาก จะเป็นการโหวตเพื่อการเปลี่ยนแปลง แต่ในขณะเดียวกันยังมี “พลังแบบเก่า” หรือโหวตเตอร์แบบอนุรักษนิยม มีชุดความคิดบางอย่างที่อยากเห็นสังคมไทยมีความสงบเรียบร้อยภายใต้ระบอบพ่อขุนอุปถัมภ์ นำโดยผู้นำที่มีความเข้มแข็งเด็ดขาด และคนในสังคมสงบยอมรับ

“พลังทั้ง 2 นี้ เหมือนการชักเย่อ หลังวันที่ 24 มีนาคม จะบอกว่าพลังนี้จะไปในแนวทางไหน ‘โหวตเพื่อการเปลี่ยนแปลง’ หรือ ‘โหวตเพื่อรักษาสภาพเดิม’ ไทยจะต้องผ่านการเลือกตั้งอีก 2-3 ครั้ง จึงจะเห็นการโหวตเพื่อการเปลี่ยนระบอบการเมือง เหมือนประเทศมาเลเซียที่ใช้เวลาถึง 10 ปี ในการทำให้เสียงของประชาชนรุกคืบเข้าไปสร้างประชาธิปไตยที่เปิดกว้างได้”

“หลังการเลือกตั้งครั้งนี้เราจะหลุดพ้นสภาวะที่ไม่ปกติ ไปสู่สภาวะที่พื้นที่ประชาชนเปิดกว้างขึ้น สื่อมีเสรีภาพมากขึ้น มีสภาที่มีฝ่ายค้าน และเป็นสภาที่มีสีสันที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย มีนโยบายที่หลากหลายมาก ถ้ามีอะไรผิดพลาดรัฐบาลหน้าก็ไม่น่าจะอยู่ในอำนาจได้นาน การเลือกตั้งครั้งถัดไปจะเป็นการเลือกตั้งที่ปกติที่จะจัดภายใต้สภาวะของการไม่มี คสช. ไม่มี ม.44 ไม่มีบรรยากาศที่เราเห็นในปัจจุบัน อำนาจจะคลายลง การเลือกตั้งครั้งหน้าจะค่อยๆ ปกติขึ้น ประชาชนจะส่งเสียงร้องสิทธิได้อย่างแท้จริงมากขึ้น” ผศ.ดร.ประจักษ์กล่าวตอนท้าย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image