คนไทยเจอเหลื่อมล้ำเพิ่ม-ศก.แผ่วประชาชนขยาดระวังใช้จ่าย ขอรบ.ใหม่รอบคอบนโยบายขึ้นเงินเดือน

สำนักงานสถิติแห่งชาติ กระทรวงดีอี เผยปี”61 คนไทยระวังการใช้จ่ายเพราะมองเศรษฐกิจไม่ดีนัก พึ่งหนี้นอกระบบ 2.4% ระบุความเหลื่อมล้ำในสังคมเพิ่มขึ้นเล็กน้อยอยู่ที่ 0.246% ขอรัฐบาลใหม่รอบคอบนโยบายขึ้นเงินเดือน ชี้ไม่ควรขยับ ขรก.-รัฐวิสาหกิจ แต่หากขึ้นต้องเพิ่มจัดเก็บแวต 7% ด้วย

นายภุชพงค์ โนดไธสง ผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยกับมติชนว่า จากการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนไทยปี 2561 โดยกลุ่มตัวอย่างทุกจังหวัดทั่วประเทศ 52,000 ครัวเรือน พบว่าครัวเรือนไทยมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อเดือนอยู่ที่ 21,346 บาท ซึ่งลดลงจากปี 2560 ที่มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อเดือน อยู่ที่ 21,437 บาท โดยค่าใช้จ่ายดังกล่าว ประกอบด้วย อาหาร เครื่องดื่ม และยาสูบ 7,039 บาท หรือคิดเป็น 34.8% ถัดมาคือค่าที่อยู่อาศัย 4,222 บาท หรือคิดเป็น 19.8% ยานพาหนะ การเดินทาง 3,792 บาท หรือคิดเป็น 17.7% ของใช้ส่วนตัว เครื่องนุ่งห่มรองเท้า 1,078 บาท หรือคิดเป็น 5% การสื่อสาร 829 บาท หรือคิดเป็น 3.9% การศึกษา 353 บาท หรือคิดเป็น 1.7% เวชภัณฑ์ ค่ารักษาพยาบาล 309 บาท หรือคิดเป็น 1.5% การบันเทิง การจัดงานพิธี 239 บาท หรือคิดเป็น 1.1% กิจกรรมทางศาสนา 227 บาท หรือคิดเป็น 1.1% และค่าใช้จ่ายที่ไม่เกี่ยวกับการอุปโภคบริโภค 2,860 บาท หรือคิดเป็น 13.4%

“ส่วนจำนวนหนี้สินเฉลี่ยต่อครัวเรือนปี 2561 ยังไม่มีความชัดเจน แต่การใช้จ่ายสำหรับการอุปโภคบริโภคมีแนวโน้มว่าจะลดลงเล็กน้อย เนื่องจากการระมัดระวังการใช้จ่ายในสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันที่ไม่ดีมากนัก” นายภุชพงค์กล่าว

นายภุชพงค์กล่าวว่า สำหรับแหล่งเงินกู้ แบ่งออกเป็น ในระบบ 97.6% และนอกระบบ 2.4% ขณะที่หนี้ตามสถานะเศรษฐสังคม ส่วนใหญ่กลุ่มลูกจ้าง (รวมข้าราชการรัฐวิสาหกิจ) อยู่ที่ 502,104 บาท รองลงมาธุรกิจ (นอกเกษตร)อยู่ที่ 244,644 บาท และผู้ทำเกษตรที่ไม่มีที่ดิน อยู่ที่ 192,692 บาท

Advertisement

นายภุชพงค์กล่าวว่า จากการสำรวจยังพบว่าความเหลื่อมล้ำในสังคมปี 2561 เพิ่มขึ้นเล็กน้อย อยู่ที่ 0.246% จากปี 2560 อยู่ที่ 0.241% ซึ่งบ่งบอกได้ถึงความเหลื่อมล้ำที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ หากค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 0% หมายความว่าทุกคนมีความเสมอภาค ทั้งนี้ ความเหลื่อมล้ำดังกล่าวของไทย ที่ปกครองโดยระบอบประชาธิปไตย ถือได้ว่ามีความเหลื่อมล้ำน้อยกว่าประเทศที่ปกครองในระบอบสังคมนิยม โดยความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นส่วนหนึ่งเกิดจากปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจ การกระจายตัวของรายได้ของประชากร ฝากรัฐบาลใหม่ส่งเสริมสนับสนุนให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นจะช่วยให้ลดความเหลื่อมล้ำในส่วนนี้ลงไปได้

นายภุชพงค์กล่าวถึงแนวทางของรัฐบาลใหม่ที่มีนโยบายปรับเพิ่มเงินเดือนลูกจ้างว่า รายได้หรือเงินเดือน สำหรับพนักงานราชการหรือรัฐวิสาหกิจ ยังไม่จำเป็นที่จะต้องมีการปรับขึ้น คงไว้ก่อนได้ ซึ่งหากจะมีการพิจารณาปรับขึ้น ขอให้เป็นตามสภาวะเศรษฐกิจ ทั้งนี้จากการปรับเพิ่มขึ้นเมื่อหลายปีก่อนเป็นอัตราขั้นต่ำ 15,000 บาทต่อเดือนเป็นการขึ้นแบบก้าวกระโดดส่งผลให้ภาระของรัฐเพิ่มขึ้น แต่หากรัฐบาลมีมาตรการในการจัดเก็บภาษีได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ก็จะสามารถช่วยลดภาระในส่วนตรงนี้ให้เบาบางลงได้

“หากรัฐปรับขึ้นเงินเดือนควรพิจารณาปรับเพิ่มอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) จากเดิมที่อยู่ที่ 7% ด้วย เพื่อไม่ให้รัฐต้องแบกรับค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่รายได้มีเท่าเดิม ซึ่งการเพิ่มอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มผลกระทบจะตกอยู่กับประชาชน ที่ต้องมีภาระเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน ฉะนั้นจึงถือเป็นการบ้านที่รัฐบาลใหม่จะต้องมีการพิจารณาอย่างรอบคอบ” นายภุชพงค์กล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image