5G ที่ ‘จุฬาฯ’ อีก ‘ก้าวสำคัญ’ ปลุกไทยที่ 1 อาเซียน

มื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา อีเวนต์ใหญ่ที่ทำให้ชุมชนไอทีของโลกต้องจับตามองเขม็งคือ
งาน Mobile World Congress 2019 หรือ MWC 19 ที่บาร์เซโลนา สเปน

ผู้จัดงานนี้คือ GSMA อันเป็นสมาคมกลางของผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือทั่วโลก ผู้ให้บริการเครือข่ายกว่า 800 รายทั่วโลก

งานจัดระหว่างวันที่ 25-28 กุมภาพันธ์ ด้วยคำขวัญ Intelligent Connectivity หรือการเชื่อมโยงสื่อสารอัจฉริยะ

ในงานมีบริษัทในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีการสื่อสาร กว่า 2,400 ราย จากกว่า 200 ประเทศ มาเปิดบูธแสดงนวัตกรรมในฮอลต่างๆ ด้วยพื้นที่รวม 120,000 ตารางเมตร

Advertisement

ประเด็นสำคัญในงานคือ เทคโนโลยี 5G, hyperconnectivity, ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI (Artificial Intellectual) และอินเตอร์เน็ตในสรรพสิ่ง หรือ IoT (Internet of Things)

โดยเฉพาะในเรื่อง 5G ประเด็นของปีนี้คือ การนำมาใช้ประโยชน์อย่างจริงจัง อย่างจับต้องได้ แทนที่จะเป็นคำถามว่ามันคืออะไร

ดาวเด่นในงาน MWC 19 คือหัวเว่ย ยักษ์ใหญ่ที่นับวันยิ่งมาแรง จากสาธารณรัฐประชาชนจีน ที่เปิดบูธโชว์การใช้เทคโนโลยี 5G อย่างอลังการ และนำโทรศัพท์มือถือแบบพับได้ คือ Huawei Mate X ซึ่งรองรับ 5G ด้วย มาให้ชม

Advertisement

ให้ผู้สนใจได้เปรียบเทียบคุณสมบัติกับ Samsung Galaxy Fold โทรศัพท์พับได้ของซัมซุงแห่งเกาหลีใต้ที่ออกมาในเวลาไล่เลี่ยกัน

นอกจากการโชว์นวัตกรรม ยูสเคส (Use Case) ต่างๆ แล้ว ยังมีเวทีเสวนา กิจกรรมสัมมนาเรื่องเทคโนโลยีอีกหลายระดับ ตลอดงาน

ประเด็นจากงาน MWC โดยเฉพาะในเรื่อง 5G ที่ยกระดับไปมาก เป็นสัญญาณเตือนให้นานาชาติตระหนักว่า การขยายตัวทางเศรษฐกิจ การพัฒนาอุตสาหกรรมไปสู่ Industry 4.0 จะขาดการเชื่อมต่อหรือเชื่อมโยงด้วยเทคโนโลยี 5G ไม่ได้

บรรยากาศคึกคักในงาน MWC19

สําหรับ 5G ในประเทศไทย มีเจ้าภาพที่เดินหน้าผลักดันมาอย่างต่อเนื่องคือ กสทช. หรือสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ

ขณะที่ภาคเอกชนเองได้จัดการเสวนา เพื่อสร้างความรับรู้ให้กับสังคมมาตลอดเช่นกัน

และในวันที่ 3 เมษายนนี้ กสทช.ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมติชน จัดงาน 5G ปลุกไทย ที่ 1 อาเซียน ขึ้น

จัดระหว่างเวลา 08.30-16.00 น. ที่ห้องประชุมอาคารมหิตลาธิเบศร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

งานนี้มีขึ้นเพื่อสร้างความรับรู้และตอกย้ำการที่ประเทศไทยจะต้องเร่งสปีดในด้านเทคโนโลยีการสื่อสาร เพื่อเชื่อมโยงกับทั้งอาเซียน ซึ่งจะนำไปสู่การก้าวกระโดดครั้งสำคัญของประเทศไทยและทั้งภูมิภาค

เป็นงานที่จัดขึ้นในวาระที่ประเทศไทยได้รับหน้าที่ “ประธานอาเซียน” โดยนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย จะต้องทำหน้าที่นี้ ตั้งแต่เดือนมิถุนายนไปจนถึงปลายปี 2562

ปกติวาระผู้นำอาเซียนจะเริ่มในเดือนเมษายน แต่ทางไทยติดเลือกตั้ง จึงเลื่อนไปเป็นเดือนมิถุนายน

พร้อมๆ กันนี้ ประธาน กสทช. ก็รับหน้าที่เป็น “ประธาน กสทช.อาเซียน” ควบคู่กันไปด้วย

กิจกรรมในงานเข้มข้น โดยเชิญผู้รู้ ทั้งจากภาครัฐและเอกชน มาเปิดวิสัยทัศน์ และตั้งวงเสวนาว่าด้วยการนำ 5G มาใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ

หลังจากพิธีเปิดโดย นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม, พล.อ.สุกิจ ขมะสุนทร ประธาน กสทช. และ ดร.ณัฐชา ทวีแสงสกุลไทย รองอธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะเป็นบรรยายพิเศษจาก รมว.ดิจิทัล, และบรรยายพิเศษ จาก นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช.
จากนั้นเป็นการโชว์วิสัยทัศน์และความคืบหน้าของ 5G จาก
ภาคเอกชน

เริ่มจาก Chao Bin Yang President of 5G Product Line, Huawei Technologies LTD.

จากนั้นคือ Angus Yu ผู้อำนวยการเอเชียจีเอสเอ็มเอ ต่อด้วย นายวีรวัฒน์ เกียรติพงษ์ถาวร จากเอไอเอส, นายวิเชาว์ รักพงษ์ไพโรจน์ จากทรู คอร์ปอเรชั่น

อเล็กซานดรา ไรซ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารดีแทค และ นายยอดชาย อัศวธงชัย หัวหน้าฝ่ายปฏิบัติการ ทริปเปิ้ลที บรอดแบนด์ จำกัด

อีกช่วงที่พลาดไม่ได้ เพราะจะกล่าวถึงการนำ 5G ในภาคปฏิบัติที่จะเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่ผู้นำเทคโนโลยีอาเซียน

 

วงเสวนาประกอบด้วย ศ.พญ.นิจศรี ชาญณรงค์ (สุวรรณเวลา) คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศด้านโรคหลอดเลือดสมองแบบครบวงจร และหัวหน้าศูนย์ประสาทศาสตร์ รพ.จุฬาฯ

ศ.ดร.วิบูลย์ แสงวีระพันธุ์ศิริ คณะวิศวกรรม ศาสตร์ จุฬาฯ หัวหน้าศูนย์ Regional Center of RoboticTechnology

นายเฉลิม ดวงยี่หวา รองกรรมการผู้จัดการอาวุโสด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ และระบบงาน บริษัท ซีพีเอฟ ไอทีเซ็นเตอร์ จำกัด

นายจุลพงษ์ ลิมปสุธรรม รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานเทคโนโลยีสารสนเทศ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด

ดำเนินรายการ โดยนายสืบศักดิ์ สืบภักดี กรรมการและรองเลขาธิการ (วิชาการดิจิทัล) สมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์

ากนั้นในช่วงบ่ายจะเป็นการนำชมยูสเคสที่แสดง ณ อาคารมหิตลาธิเบศร

ยูสเคสเหล่านี้เกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่าง สำนักงาน กสทช. กับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันการศึกษาอื่นๆ และภาคเอกชน ที่เป็นผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (โอเปอเรเตอร์) ผู้ผลิตอุปกรณ์โทรคมนาคม (เวนเดอร์) และภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง

โดยจัดตั้งเป็น ศูนย์ทดสอบ 5G ที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขณะที่คณาจารย์ของจุฬาฯ ได้ค้นคว้าและจัดสร้าง

อาทิ รถยนต์ไร้คนขับ หรือคอนเน็กเต็ดคาร์ ซึ่ง อาจารย์นักสิทธ์ นุ่มวงษ์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เล่าให้ฟังว่า รับผิดชอบโครงการ โดยร่วมกับ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือทรู เพื่อต่อยอดการเคลื่อนย้ายรถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติไปยังสถานีจอดที่มีความต้องการใช้งานที่หนาแน่น

และร่วมกับบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส ทดสอบการควบคุมยานพาหนะจากทางไกล

อีกยูสเคสคือ หุ่นยนต์ทางการแพทย์ เพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพ ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ซึ่งพบมากขึ้นเรื่อยๆ และมักเกิดกับเพศชายที่มีอายุ 45 ปีขึ้นไป ซึ่งมี ศ.ดร.วิบูลย์ แสงวีระพันธุ์ศิริ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้คิดค้นและสรรค์สร้าง

อีกยูสเคส ได้แก่ เครื่องตรวจสอบคุณภาพฝุ่นควัน อาจารย์สรรเพชญ ชื้อนิธิไพศาล อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมสำรวจ คณะวิศวกรรม ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้รับผิดชอบโดยพัฒนาระบบเซ็นเซอร์ตรวจวัดคุณภาพอากาศ ที่เชื่อมต่อกับระบบอินเตอร์เน็ต ซึ่งสามารถอัพเดตข้อมูลได้ทุกๆ 10 นาที เบื้องต้นได้ติดตั้งระบบตรวจวัดคุณภาพอากาศใน จ.น่าน จำนวน 95 สถานี เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบหนัก

และหากใช้กับ 5G มีประสิทธิภาพที่สามารถเชื่อมต่ออุปกรณ์ได้จำนวนมากในพื้นที่เดียวกัน สามารถรองรับการเชื่อมต่ออุปกรณ์ได้มากถึง 1 ล้านชิ้นต่อตารางกิโลเมตร ทำให้ประสิทธิภาพของเซ็นเซอร์ตัวนี้เพิ่มพูนขึ้นอีกมาก

อีกชิ้นยูสเคสที่นับวันยิ่งมีการใช้ประโยชน์กว้างขวางคือ เครื่องสแกนรู้จำใบหน้า (Face Recognition) ดร.
สุภาวดี อร่ามวิทย์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า 5จี ที่กำลังจะเกิดขึ้น สามารถนำมาใช้ร่วมกันในการสแกนใบหน้าได้โดยเชื่อมต่อผ่านเสาสัญญาณอากาศ 5G เพื่อเชื่อมต่อสัญญาณที่รับการสแกนใบหน้ามาแล้วเพื่อเชื่อมต่อไปยังฐานข้อมูลเพื่อเช็กประวัติ ซึ่งขณะนี้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ร่วมมือกับเอไอเอส ในการพัฒนางานประยุกต์เชื่อมโยงโครงข่าย 5G

ยังมีอีกหลายยูสเคสที่จะนำมาแสดง แต่ไม่ได้เอ่ยถึงในที่นี้

มือถือพับได้ Huawei Mate X

อีกไฮไลต์ ได้แก่ ยูสเคสบางชิ้นที่ Huawei เพิ่งนำไปเผยโฉมในงาน MWC 19 ที่บาร์เซโลนา ประเทศสเปน

สําหรับการตระเตรียมนำ 5G มาใช้ในประเทศไทย

ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช.เผยกับมติชนเร็วๆ นี้ ว่าองค์ประกอบสำคัญของ 5G ได้แก่

1.การส่งข้อมูลความเร็ว ที่ 5G จะมีความเร็วสูงกว่า 4G อยู่ที่ประมาณ 15 เท่า มีแนวโน้มว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 100 เท่า ก่อนจะมีเปิดการใช้งานจริงในปี 2563

2.การเชื่อมต่อของอุปกรณ์จำนวนมากในพื้นที่เดียวกัน ที่ 5G สามารถรองรับการเชื่อมต่ออุปกรณ์ได้มากถึง 1 ล้านชิ้นต่อตารางกิโลเมตร ในระบบ 2G สามารถเชื่อมต่ออุปกรณ์ได้ไม่เกิน 1 แสนชิ้นต่อตารางกิโลเมตร

3.การส่งข้อมูลที่มีความเสถียรมาก จะทำให้การใช้งานด้านอินเตอร์เน็ตต่างๆ เข้ามามีบทบาทเพิ่มมากขึ้น โลกในอนาคตข้างหน้าที่อินเตอร์เน็ตมีความเสถียรเพิ่มขึ้น ด้านการสาธารณสุข การผ่าตัดผ่านระบบหุ่นยนต์ปัญญาประดิษฐ์ หรือเอไอ สามารถเกิดขึ้นได้

ฐากรย้ำว่า หาก 5G ไม่เกิดขึ้น จะส่งผลกระทบมากมาย ได้แก่ 1.ภาคการผลิตและอุตสาหกรรม ที่จะสูญเสียโอกาสมากกว่า 7 แสนล้าน-1.6 ล้านล้านบาท (10-30% ของมูลค่าเพิ่มทั้งหมด) ผลกระทบที่จะตามมาคือ ต้นทุนในการผลิตเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่มูลค่าการผลิตจะตกต่ำลง ส่งผลให้การส่งออกเกิดปัญหา 2.ระบบ
สมาร์ทต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น อาทิ สมาร์ทซิตี้ สมาร์ทฟาร์มมิ่ง และ
สมาร์ทฮอสพิทอล จะไม่เกิดขึ้นแน่นอน รวมถึงภาคการท่องเที่ยวในระบบใหม่ที่ใช้ระบบเวอร์ชวล เรียลิตี้ (วีอาร์) ก็จะไม่สามารถ
เกิดขึ้นได้

ขณะนี้ กสทช.กำลังเร่งเรียกคืนและจัดการบริหารคลื่นความถี่ใหม่ เพื่อให้เพียงพอต่อการใช้งาน และจะกำหนดหลักเกณฑ์การประมูลคลื่นความถี่หลายย่านพร้อมกัน (มัลติแบนด์) เพื่อเป็นการประหยัดต้นทุนให้กับผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (โอเปอเรเตอร์) และสามารถนำคลื่นความถี่ดังกล่าวไปใช้งานให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้

คาดว่าการประมูลคลื่นความถี่ครั้งต่อไปจะเกิดขึ้นอย่างเร็วในเดือนตุลาคม 2562 และช้าสุดในเดือนมกราคม 2563 คลื่นความถี่ที่จะนำออกประมูล ได้แก่ คลื่นความถี่ย่าน 2600 เมกะเฮิรตซ์ คู่กับคลื่นความถี่ย่าน 26 หรือ 28 กิกะเฮิรตซ์ ทั้งนี้ ถือว่ายังเป็นไปตามกรอบระยะเวลาที่กำหนดไว้

ขณะนี้โอเปอเรเตอร์ทั้ง 3 ราย ได้แก่ เอไอเอส ทรู คอร์ปอเรชั่น และดีแทค ได้ไปลงทุนในระบบ 3G และ 4G ยังไม่ถึงจุดคุ้มทุน อีกทั้งโอเปอเรเตอร์ใช้เงินกู้จากสถาบันการเงินเพื่อลงทุน 4G หมดแล้ว ทำให้ไม่มีทุนมาลงทุนใน 5G ที่คาดว่าจะมีมูลค่าในการ
ลงทุน ทั้งการประมูลคลื่นความถี่ และการปรับปรุงเครือข่ายมากกว่า 100,000 ล้านบาท

โอเปอเรเตอร์จึงวางแผนจะประมูลคลื่นได้ในปี 2564 ซึ่ง กสทช.เข้าใจแต่การให้บริการ 5G นอกเหนือจากประโยชน์ของกิจการโทรคมนาคม ยังเป็นเรื่องของภาคการผลิตและภาคอุตสาหกรรม ที่มีผลต่อเศรษฐกิจ การแข่งขันของประเทศ รวมถึงประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับด้วย

กสทช.จึงจะปรับปรุงหลักเกณฑ์การประมูลคลื่นความถี่ใหม่เพิ่มเติม โดยแบ่งวิธีการอนุญาตเป็น 2 รูปแบบ ได้แก่ ใบอนุญาตที่ใช้งานครอบคลุมการให้บริการครอบคลุมทั่วประเทศ (เนชั่นไวด์) และใบอนุญาตแบบที่ครอบคลุมเฉพาะพื้นที่ที่กำหนด (สเปซิฟิก แอเรีย)

ใบอนุญาตแบบสเปซิฟิก แอเรีย จะเปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะในวัที่ 17 เมษายน 2562 และคาดว่าภายในเดือนตุลาคม 2562 จะมีความชัดเจนในเรื่องดังกล่าว

เป็นข้อขัดข้องที่จะต้องหาทางออก แต่การค้นคว้า เตรียมการเพื่อรุกไปข้างหน้าก็เป็นเรื่องจำเป็น

งาน 5G ปลุกไทย ที่ 1 อาเซียน ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 3 เมษายน จะให้คำตอบและคำอธิบายในเรื่องเหล่านี้

 

ผู้ที่สนใจเข้าร่วมฟังการเสวนาลงทะเบียนได้ที่เว็บไซต์ www.matichon.co.th หรือสมัครทางคิวอาร์โค้คในหน้าหนังสือพิมพ์มติชนและหนังสือในเครือมติชนตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image