‘วิรไท’ยันเศรษฐกิจไทยไม่วิกฤต รอจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ขั้วไหนจะมาเชื่อไม่มียูเทิร์นเดินหน้าประเทศต่อ(ชมคลิป)

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศแห่งประเทศไทย(ธปท.) เปิดเผยในงานสัมมนา “THE WISDOM: The Symbol of Your Vision จับชีพจรเศรษฐกิจโลก เจาะแนวโน้มเศรษฐกิจไทย” จัดโดยธนาคารกสิกรไทย ที่โรงแรมแกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ ว่า แนวโน้มเศรษฐกิจไทยหลังการเลือกตั้ง มองว่าพื้นฐานเศรษฐกิจไทยยังขยายตัวได้ดี คาดอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจ(จีดีพี) ที่ 3.8% ถือว่าสอดคล้องศักยภาพเศรษฐกิจ แม้การส่งออกอาจจะชะลอ แต่การท่องเที่ยวขยายตัวต่อเนื่อง เชื่อว่าไม่มีเหตุการณ์ประท้วงหรือความรุนแรงทางการเมืองบนท้องถนน จำนวนนักท่องเที่ยวจะเพิ่มขึ้นซึ่งมีหลากหลายประเทศ และหลายกลุ่มทั้งกลุ่มกำลังซื้อสูงและกลุ่มคนที่ออกมาท่องเที่ยวต่างประเทศครั้งแรก ด้านการบริโภคเอกชนเริ่มดีขึ้น การลงทุนเอกชนขยายตัว เห็นการลงทุนต่างชาติที่เข้ามาเพิ่มมากขึ้นในเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี) และการย้ายฐานจากสงครามการค้า ขณะที่สินเชื่อขยายตัวทั้งรายย่อยและภาคธุรกิจ

“กรณีเศรษฐกิจขยายตัวแต่ยังขัดกับความรู้สึกนั้น ยืนยันว่าประเทศไทยไม่มีวิกฤติเศรษฐกิจ แต่ที่ผ่านมาเศรษฐกิจชะลอตัว และแต่ละภาคส่วนได้รับผลกระทบต่างกัน ภาคที่กระทบมากกลุ่มที่พึ่งพารายได้ภาคเกษตร เพราะราคาสินค้าเกษตรอยู่ในระดับต่ำส่งผลต่อกำลังซื้อ และที่ผ่านมาหนี้ครัวเรือนสูง แม้มีมีรายได้มากขึ้น แต่ต้องนำไปใช้หนี้ ไม่เกิดการจับจ่าย นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและกระทบธุรกิจและภาคส่วนต่างๆ จะต้องปรับตัวรับ“ นายวิรไท กล่าว

นายวิรไท กล่าวว่า อย่างไรก็ดีเศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอกจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ผลกระทบสงครามการค้า ขณะที่สถานการณ์ทางการเมืองเป็นปัจจัยเสี่ยงในประเทศที่เพิ่มขึ้น ซึ่งขึ้นอยู่กับว่าจะสามารถจัดตั้งรัฐบาลใหม่ได้เร็วแค่ไหน แต่ไม่ว่าค่ายไหนจะได้เป็นรัฐบาล นโยบายเศรษฐกิจที่เห็นไม่ได้แตกต่างกันมาก เชื่อว่าจะไม่มีการยูเทิร์นของเดิมที่ดำเนินการมา โดยเฉพาะการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่ไม่ว่ารัฐบาลใดมาก็จะต้องดำเนินลงทุนโครงร้างพื้นฐานต่อเนื่อง ซึ่งหลายโครงการผ่านขั้นตอนการประมูล เซ็นสัญญาไปแล้ว อยู่ระหว่างการก่อสร้าง

Advertisement

“หลายคนกังวลว่าการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานอาจจะไม่ต่อเนื่อง แม้ว่าในโลกที่มีความผันผวนอะไรก็เกิดขึ้นได้ แต่เราไม่ควรคิดแบบนั้น อยากจะเห็นพัฒนาการประเทศไปข้างหน้าต่อเนื่องในระยะยาว ทั้งนี้ ปัจจุบันบ้านเมืองมีกฎเกณฑ์กติกาที่เปลี่ยนแปลงไป มีองค์กรที่ช่วยกันกำกับดูแล และภาคเอกชนเข้มแข็งมากขึ้น เชื่อว่าโครงการลงทุนต่างๆ จะเดินหน้าต่อ ส่วนประเด็นความขัดแย้งของค่ายการเมืองต่าง ๆ มองว่า เป็นเรื่องโครงสร้างการเมืองมากกว่า เช่น การแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ด้านนโยบายเศรษฐกิจไม่ได้ต่างกันเป็นนัยสำคัญ อย่างอีอีซี ขณะนี้มีกฎหมายออกมารองรับอยู่แล้ว
” นายวิรไท กล่าว

นายวิรไท กล่าวว่า รัฐบาลนี้เป็นรัฐบาลที่มีอำนาจเต็มเหมือนเดิม หากมีความจำเป็นต้องกระตุ้นเศรษฐกิจรัฐบาลยังสามารถทำมาตรการออกมาได้ ส่วนนโยบายการเงินนั้น การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ครั้งที่ 2/2562 กนง. มีมิติเอกฉันท์ 7:0 เสียง คงอัตราดอกเบี้ย ซึ่งเป็นการตัดสินใจก่อนการเลือกตั้งไม่กี่วันเป็นการพอส(หยุด) เพื่อรอประเมินสถานการณ์ต่างๆ และวิเคราะห์ข้อมูลทั้งปัจจัยในประเทศและต่างประเทศ โดยการพิจาราดอกเบี้ยให้ความสำคัญและชั่งน้ำหนัก 3 เรื่อง ได้แก่ กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ การขยายตัวเศรษฐกิจสอดคล้องศักยภาพและเสถียรภาพระบบการเงิน ว่ามีความเสี่ยงและจุดเปราะบางหรือไม่

นายปรีดี ดาวฉาย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกร ไทย กล่าวว่า สถานการณ์การเมืองและการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ในขณะนี้เหมือนหลายครั้งที่ผ่านมาที่ยังที่มีความไม่แน่นอน เป็นผลจากการนำรัฐธรรมนูญใหม่มาใช้ในการเลือกตั้งเป็นครั้งแรก ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องดูรายละเอียดในรัฐธรรมนูญใหม่นี้อย่างละเอียดและรอบครอบ ที่สำคัญจะต้องเป็นไปตามกติกา ดังนั้น จึงไม่สามารถประเมินสถานการณ์ได้ในขณะนี้ แต่สิ่งสำคัญอีกอย่างที่อยากให้จับตามอง การจัดทำงบประมาณ ปี 2563 ของภาครัฐจะออกมาทันหรือไม่ เพราะงบประมาณดังกล่าวจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทยต่อเนื่อง

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image