แผนยุทธศาสตร์ เพื่อผลักดัน หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า : โดย พญ.พูนาม เคตราปาล ซิงห์

มีคำถามในวาระวันอนามัยโลกว่าเหตุใดการเข้าถึงการสาธารณสุขมูลฐานอย่างเท่าเทียมจึงมีส่วนผลักดันความคืบหน้าของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

องค์การอนามัยโลกและชาติสมาชิกตั้งเป้าที่จะทำให้ประชากรกว่าหนึ่งพันล้านคนทั่วโลกสามารถเข้าถึงหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าภายในปี 2567 ซึ่งหมายความว่าประชากรไม่ว่าชายหรือหญิง อายุน้อยหรืออายุมาก อาศัยอยู่ในชุมชนเมืองหรือหมู่บ้านในชนบทจะสามารถเข้าถึงบริการรักษาพยาบาลที่จำเป็นได้ทุกที่และทุกเวลาโดยไม่ต้องแบกรับภาระการเงิน

นอกจากนี้ เป้าหมายการก้าวสู่หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าขององค์การอนามัยโลกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ หากแต่เป็นเป้าหมายสำคัญของภูมิภาคนี้มาตั้งแต่ปี 2557 แล้ว

แนวทางการผลักดันความคืบหน้าสู่หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ายังคงเป็นความท้าทายในปัจจุบัน การสาธารณสุขมูลฐานซึ่งมีประสิทธิภาพมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนบริการรักษาพยาบาลที่ครอบคลุมความต้องการด้านสาธารณสุขส่วนใหญ่โดยไม่จำกัดด้วยปัจจัยด้านอายุหรือสุขภาพ มีหลักฐานมากมายชี้ชัดว่าการสาธารณสุขมูลฐานที่ดีเป็นพื้นฐานสำคัญของบริการที่เท่าเทียมและเปี่ยมด้วยประสิทธิภาพ

Advertisement

นอกจากนี้ บริการส่วนหน้ามีแนวโน้มที่จะใกล้ชิดกับคนในท้องถิ่นมากกว่าโรงพยาบาลโดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกล ซึ่งยิ่งตอกย้ำความสำคัญของการสาธารณสุขมูลฐาน

แรงสนับสนุนจากฟากการเมืองต่อหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้านำไปสู่การปรับเป้าหมายการสาธารณสุขมูลฐาน ชาติสมาชิกซึ่งเข้าร่วมการประชุมว่าด้วยการสาธารณสุขมูลฐานที่กรุงอัสตานาเมื่อเดือนตุลาคม 2561 เห็นพ้องว่าการให้บริการสาธารณสุขมูลฐานที่มีคุณภาพเป็นพื้นฐานของการปรับปรุงหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และในเดือนกันยายนปีนี้สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติจะจัดการประชุมผู้บริหารระดับสูงว่าด้วยแนวทางการผลักดันความคืบหน้าของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยที่การยกระดับความเท่าเทียมในการเข้าถึงบริการสาธารณสุขมูลฐานที่มีคุณภาพจะเป็นหัวข้อสำคัญในการหารือ

การที่จะให้บริการรักษาพยาบาลได้อย่างมีคุณภาพนั้นต้องอาศัยบุคลากรที่เพียงพอและการเข้าถึงยาที่มีคุณภาพ การบรรลุผลลัพธ์ข้างต้นเป็นเป้าหมายสำคัญของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นับตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา

Advertisement

ลองพิจารณาตัวอย่างทั้งสองข้อ

ประการแรกคือความพยายามเพิ่มจำนวนและทักษะของบุคลากรสาธารณสุขโดยเฉพาะในพื้นที่ชนบท รายงานล่าสุดโดยองค์การอนามัยโลกชี้ว่าจำนวนแพทย์ พยาบาล และผดุงครรภ์เพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ดียังคงต้องผลักดันให้เกิดผลลัพธ์ตามแผนส่งเสริมทรัพยากรบุคคลด้านสาธารณสุขระยะ 10 ปี ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต่อไปเนื่องจากจำนวนบุคลากรสาธารณสุขในภูมิภาคยังคงต่ำกว่าเส้นมาตรฐานตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน

ประการที่สองคือการยกระดับการเข้าถึงยา เครือข่ายระเบียบกฎหมายเวชภัณฑ์แห่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยการสนับสนุนขององค์การอนามัยโลกเป็นตัวอย่างของความรุดหน้าด้านความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อยกระดับการสำรองยาที่มีคุณภาพ นอกจากนี้ ยายังคงเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ผู้ป่วยต้องแบกรับค่ารักษาพยาบาล ดังที่ประเมินว่าประชากรในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างน้อย 65 ล้านคน ตกสู่หลุมความยากจนอันเนื่องมาจากภาระค่ารักษาพยาบาล ด้วยเหตุนี้มาตรการเพิ่มงบประมาณสาธารณสุขในราวครึ่งหนึ่งของกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จึงยังคงมีบทบาทสำคัญต่อการปรับปรุงการเข้าถึงบริการและลดภาระค่ารักษาพยาบาลของประชาชน

แม้มีความรุดหน้ามากมายแต่ความไม่เท่าเทียมกันก็ยังคงอยู่ ประชาชนราว 800 ล้านคนทั่วภูมิภาคยังคงไม่ได้รับบริการการรักษาพยาบาลที่จำเป็น บริการส่วนหน้ามักมีให้เฉพาะผู้หญิง เด็ก และคนชรา อีกทั้งคุณภาพก็ย่ำแย่

ขณะที่การไม่ได้รับบริการเลยก็เป็นเรื่องที่พบได้ทั่วไป

สถานการณ์นี้สะท้อนให้เห็นว่าปัญหาบริการสาธารณสุขมูลฐานที่ด้อยคุณภาพกำลังเป็นอุปสรรคขัดขวางการบรรลุสู่หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเสียยิ่งกว่าการเข้าถึงบริการด้วยซ้ำ

มีหลายวิธีที่จะพาเราก้าวไปข้างหน้า

ความจำเป็นเร่งด่วนในขณะนี้อยู่ที่บริการส่วนหน้าซึ่งจะต้องปรับแนวทางการดูแลผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อและโรคที่เกิดจากความชรา และจำเป็นต้องอาศัยทั้งโมเดลการให้บริการแบบใหม่ตลอดจนบุคลากรที่มีทักษะเหมาะสมกับบริการสาธารณสุขมูลฐาน โดยที่การให้บริการที่ดีกว่าเดิมเป็นหัวใจสำคัญของการปฏิรูปที่กล่าวมา ซึ่งสิ่งที่กล่าวมากำลังเกิดขึ้นแล้วในหลายประเทศ

บริการส่วนหน้าและโรงพยาบาลควรหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวเพื่อเพิ่มการใช้ประโยชน์จากบริการส่วนหน้าและลดภาวะแน่นขนัดในโรงพยาบาล โดยจะต้องมีแนวทางใหม่เพื่อประสานความร่วมมือกับภาคเอกชนให้แนบแน่นยิ่งขึ้น รวมถึงรับมือกับโจทย์ข้อสำคัญในการปกป้องผู้ป่วยจากปัญหาด้านการเงินและคุณภาพการบริการโดยที่สามารถใช้ประโยชน์จากทรัพยากรของภาคเอกชน

แนวทางการพัฒนาการมีส่วนร่วมของชุมชนมีความจำเป็นในขณะนี้ การเข้าถึงข้อมูลผ่านเทคโนโลยีดิจิทัลทำให้บุคคลและชุมชนมีความรู้เกี่ยวกับโรคภัยไข้เจ็บมากขึ้น ดังที่คำประกาศอัสตานา

ว่าด้วยการสาธารณสุขมูลฐานระบุไว้อย่างชัดเจนว่าควรยกระดับเทคโนโลยีเพื่อส่งเสริมให้ประชาชนดูแลสุขภาพของตนเอง

ท้ายที่สุดนี้การประเมินผลลัพธ์เพื่อส่งเสริมการตรวจสอบได้ก็มีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยอาจดำเนินการผ่านการเปิดเผยข้อมูลสิทธิและประสิทธิภาพการรักษาพยาบาลให้ประชาชนทราบ นอกจากนี้ ยังรวมถึงการจัดตั้งสถาบันเพื่อ “การแก้ไขและปฏิรูป” สำหรับประชาชนทุกกลุ่มโดยเฉพาะกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงสุด ซึ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่าสมาชิกสภาในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะร่วมกันผลักดันหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้เป็นผลสำเร็จ

การผลักดันเพื่อบรรลุสู่หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ามีความสำคัญอย่างยิ่ง เราทราบดีว่าเราทำได้และถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องลงมือทำ องค์การอนามัยโลกมีเป้าหมายสนับสนุนให้ชาติสมาชิกวางแนวทางเพื่อยกระดับความเท่าเทียมในการเข้าถึงบริการส่วนหน้าที่มีคุณภาพเพื่อช่วยให้ประชาชนกว่าพันล้านคนได้รับประโยชน์จากหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าภายในปี 2567

และดำเนินการตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนเพื่อส่งเสริมสุขภาพและสุขภาพของประชาชนทุกเพศทุกวัยภายในปี 2573

พญ.พูนาม เคตราปาล ซิงห์
ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก
ประจำภูมิภาคเอเชียใต้และเอเชียตะวันออก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image