รมต.คลังอาเซียน เร่งเสรีภาคการเงิน อำนวยเปิดแบงก์-วินาศภัย-หลักทรัพย์

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงผลการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอาเซียน ครั้งที่ 23 และการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางอาเซียน ครั้งที่ 5 และการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ที่จังหวัดเชียงราย ว่า ได้มีการเปิดเสรีการค้าบริการด้านการเงิน โดยจัดพิธีสารอนุวัติข้อผูกพันการเปิดเสรีการค้าบริการด้านการเงิน ฉบับที่ 8 ภายใต้กรอบความตกลงว่าด้วยการค้าบริการของอาเซียน โดยประเทศสมาชิกอาเซียนหลายประเทศ ได้มีการตกลงในรูปแบบทวิภาคีเกี่ยวกับการเปิด Qualified ASEAN Banks (QABs) ทำให้การจัดตั้งธนาคารของประเทศสมาชิกอาเซียนในอาเซียนมีความยืดหยุ่นมากขึ้น ทั้งยังมีความคืบหน้าในการเปิดเสรีประกันวินาศภัย โดยเฉพาะการประกันภัยทางน้ำ ทางอากาศ และการขนส่ง และมีการผ่อนคลายอุปสรรคการเปิดเสรีในสาขาหลักทรัพย์ด้วย

นายอภิศักดิ์ กล่าวว่า สัญญาฉบับนี้แตกต่างจากฉบับที่ 7 ในส่วนของตารางข้อผูกพันการเปิดเสรีการค้าบริการด้านการเงิน(ตารางข้อผูกพันฯ) เนื่องจากมีการปรับปรุงตารางข้อผูกพันฯในสาขาหลักทรัพย์ สาขาย่อยบริการจัดการลงทุน ในการอนุญาตให้มีสัดส่วนการถือหุ้นของต่างชาติในบริษัทจัดการลงทุน ได้ถึง 100% ของทุนที่ชำระแล้ว โดยยกเลิกเงื่อนไขที่กำหนดไว้ว่าต้องมีสถาบันการเงินที่จัดตั้งภายใต้กฎหมายไทยถือหุ้นไม่น้อยกว่า 50% ของทุนที่ชำระแล้ว ในระยะ 5 ปีแรก หลังจากที่ได้รับใบอนุญาต โดยกระทรวงการคลังได้หารือร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่มีส่วนได้ส่วนเสีย ภายใต้การประชุมคณะทำงานพิจารณาการเปิดเสรีการค้าบริการด้านการเงิน ซึ่งที่ประชุมมีมติเห็นชอบร่างข้อเสนอของไทย เพื่อนำมาจัดทำเป็นตารางข้อผูกพันฯของไทย

นายอภิศักดิ์ กล่าวว่า ที่ประชุมคณะทำงานอาวุโสของอาเซียน (Senior Level Committee: SLC) ภายใต้กรอบการประชุมผู้ว่าการธนาคารกลางอาเซียน ซึ่งมีหน้าที่ดูแลกระบวนการเร่งการเปิดเสรีในสาขาการธนาคารของอาเซียน ได้จัดตั้ง Task Force of ASEAN Banking Integration Framework (TF-ABIF) ขึ้นเพื่อจัดทำกรอบการรวมตัวภาคการธนาคารของอาเซียน (ABIF) โดยมีเป้าหมายคือการจัดตั้ง Qualified ASEAN Banks (QABs) ซึ่งจะเปิดโอกาสให้ประเทศสมาชิกอาเซียนตั้งแต่ 2 ประเทศขึ้นไป สามารถดำเนินการเจรจาและตกลงเปิดเสรีสาขาธนาคารพาณิชย์ของประเทศตนได้ตามความสมัครใจ โดยแต่ละประเทศสมาชิกที่เข้าร่วมการเจรจาสามารถสรุปผลการเจรจา และจัดทำข้อผูกพันในสาขาการธนาคารของตนได้เป็นรายปี โดยให้มีหนังสือแจ้งข้อผูกพันดังกล่าวเป็นลายลักษณ์อักษรต่อที่ประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอาเซียน เพื่อให้ข้อผูกพันดังกล่าวมีผลบังคับใช้

“ประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้รับคือการช่วยส่งเสริมการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในเชิงลึกและกว้างขวางมากขึ้นของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ซึ่งจะเกิดจากการลดข้อจำกัดต่อผู้ให้บริการของอาเซียนในการให้บริการ และเข้ามาจัดตั้งกิจการในประเทศสมาชิกอื่น และภาคเอกชนไทยสามารถขยายการค้าการลงทุนในสาขาบริการด้านการเงินออกไปยังประเทศอาเซียนอื่นได้สะดวกยิ่งขึ้น “นายอภิศักดิ์ กล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image