เครดิตบูโรห่วงลูกหนี้สหกรณ์เสี่ยงคืนหนี้ไม่ได้-ให้กู้ยาวเกินเกษียณ กลุ่มเสี่ยงขอตรวจเครดิตพุ่ง 7 หมื่นรายต่อเดือน

นายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด หรือเครดิตบูโร เปิดเผยว่า เปิดเผยว่า ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2561 กลุ่มสหกรณ์ออมทรัพย์ได้เริ่มเข้ามาหารือกับเครดิตบูโร โดยสหกรณ์อยากใช้ข้อมูลเครดิตในการวิเคราะห์สินเชื่อ แต่ไม่สหกรณ์ยังไม่พร้อมที่จะเป็นสมาชิกเครดิตบูโร เนื่องจากการเป็นสมาชิกเครดิตบูโรต้องมีการปฏิบัติตามกฎกติกาเคร่งครัด ต้องรับผิดชอบข้อมูลส่วนบุคคล และต้องมีการเตรียมข้อมูลและเชื่อมต่อระบบกับเครดิตบูโร 

นายสุรพล กล่าวว่า ปัจจุบันสหกรณ์ไม่สามารถดูข้อมูลผู้ขอสินเชื่อได้โดยตรง แต่สหกรณ์เริ่มเห็นความเสี่ยงมากขึ้น จึงให้ผู้กู้ตรวจเครดิตบูโรเพื่อนำมาใช้ประกอบการพิจารณาสินเชื่อของสหกรณ์ โดยส่วนใหญ่จะเป็นผู้กู้กลุ่มที่มีความเสี่ยงหรือกลุ่มน่าสงสัย เช่น มีการกู้ยืมเงินถี่ ซึ่งจะทำให้มีภาระหนี้สูง และกังวลว่าจะไม่มีความสามารถชำระหนี้คืน ซึ่งจากปกติการขอตรวจเครดิตบูโรเฉลี่ยอยู่ที่ 55,000 รายต่อเดือน เพิ่มขึ้นมาเป็น 70,000 รายต่อเดือนในปัจจุบัน ซึ่งจากการสอบถามผู้กู้พบว่าส่วนใหญ่นำไปใช้เพื่อขอกู้กับสหกรณ์ออมทรัพย์มากที่สุด และนำไปขอกู้ในโครงการบ้านล้านหลังของทางธนาคารอาคารสงเคราะห์(ธอส.) รวมไปถึงนำไปยื่นขอกู้ก่อนมาตรการกำกับดูแลสินเชื่อที่อยู่อาศัยใหม่(มาตรการแอลทีวี) ของธนาคารแห่งประเทศไทยมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมา

“สหกรณ์ออมทรัพย์ส่วนใหญ่มักจะมีการให้ผลตอบแทนสมาชิกตั้งแต่ 6% ขึ้นไป แต่ระดมเงินฝากดอกเบี้ย 4% และให้สินเชื่อที่ 5-8% ขณะนี้การลงทุนตลาดมีความผันผวนดังนั้นจะให้ผลตอบแทนสมาชิกได้ต้องมีการปล่อยกู้สินเชื่อ ซึ่งเครดิตบูโรเป็นกังวลสหกรณ์ออมทรัพย์ปล่อยกู้ให้กับสมาชิกแบบระยะยาว อาจทำให้เกิดปัญหาเรื่องการใช้หนี้คืนในอนาคตได้ เช่น มาขอกู้ตอนอายุ 55 ปี และให้ผ่อนใช้คืนถึง 150 งวด หรือ 12 ปีครึ่ง ต้องผ่อนถึงอายุ 72 ปี เท่ากับว่าเกินอายุวัยเกษียณไปแล้ว ทำให้เกิดข้อสงสัยว่า ถ้าหากไม่ได้มีธุรกิจส่วนตัวที่สร้างรายได้ หลังเกษียณ จะเอาเงินที่ไหนใช้หนี้คืนสหกรณ์ และสหกรณ์จะรู้ได้อย่างไรว่า ในอนาคต เมื่อเกษียณไปแล้วจะมีเงินใช้จ่ายคืน ซึ่งต่างจากสถาบันการเงินที่ระบุชัดเจนว่า มีระยะเวลาผ่อนหนี้คืนได้เพียงถึงอายุ 60-65  ปี เท่านั้น” นายสุรพล กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า รายงานประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ที่ผ่านมา แสดงความเป็นห่วงปัญหาเชิงโครงสร้างของสหกรณ์ออมทรัพย์ที่ขยายตัวค่อนข้างมาก หากเกิดปัญหาจะเกิดความเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบการเงินและเป็นปัญหาในอนาคต อย่างไรก็ตามขณะนี้มีหลายหน่วยงานร่วมกันหารือเพื่อหาแนวทางกำกับดูแลทั้ง ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) กระทวงการคลัง กรมส่งเสริมสหกรณ์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นต้น

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image