ผุดคิวอาร์โค้ดอาเซียนเชื่อมระบบชำระเงิน ไปประเทศไหนก็สแกนจ่ายได้

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เปิดเผยว่า อาเซียนตกลงที่จะพัฒนามาตรฐานกลางการชำระเงินกลางที่สามารถเชื่อมโยงกันได้ บนเทคโนโลยีปัจจุบันที่มีอยู่แล้ว ต้นทุนถูกและสามารถพัฒนาต่อยอดได้ จะเห็นได้ว่าปัจจุบันมีหลายเทคโนโลยี เช่น การโอนเงินด้วยคิวอาร์โค้ด การโอนเงินด้วยบล็อคเชน เป็นต้น ซึ่งการพัฒนาการชำระเงินบนเทคโนโลยีปัจจุบัน มีส่วนช่วยเรื่องการกำหนดกติกาและเงื่อนไขในการทำธุรกิจ(Business Rules) ร่วมกัน ต่อไปเมื่อสามารถเชื่อมการชำระเงินอาเซียนได้ การที่ได้กำหนดกติกาและเงื่อนไขในการทำธุรกิจร่วมกันไว้แล้วจะทำให้การตกลงง่ายขึ้น

นายกึกก้อง รักเผ่าพันธุ์ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า ธปท. ได้ระบุในการประชุมการเชื่อมโยงระบบการเงินในอาเซียน(ASEAN Payment Connectivity) ว่า ขณะนี้ธนาคารกลางของประเทศอาเซียนได้มีการตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจ(Task Force) ด้านมาตรฐานกลางการชำระเงินด้วยคิวอาร์โค้ดที่สามารถเชื่อมโยงกันได้ (Interoperability) ทั้ง 10 ประเทศแล้วเพื่อร่วมกันทำงานแล้ว และต่อไปจะเปิดให้ธนาคารพาณิชย์ต่าง ๆ เข้ามาร่วมในคณะทำงานฯ นี้ เพื่อจะขับเคลื่อนเรื่องนี้ช่วยกัน คาดว่า ธปท. จะมีการเรียกประชุมเพื่อหารือต่อไป ทั้งนี้ หากมีการตกลงรายละเอียดได้เร็วอาจจะออกมาได้ภายในปลายปี 2562 นี้

นายกึกกอง กล่าวว่า ปัจจุบันหลายธนาคารของไทยได้มีการพัฒนาการชำระเงินข้ามประเทศแต่ยังเป็นรูปแบบแบบหนึ่งต่อหนึ่ง(Bilateral) ยังไม่ได้เป็นมาตรฐานการชำระเงินที่เชื่อมโยงกันได้ ในอนาคตโมบายแบงก์กิ้งของธนาคารกรุงเทพ หรือทุกธนาคารในไทยจะสามารถสแกนจ่ายคิวอาร์โค้ดของสิงคโปร์ เวียดนาม หรืออินโดนีเซียได้ ซึ่งอาจจะมีการกำหนดโลโก้ร่วมกันเพื่อระบุเพื่อให้ทราบว่าหากมีโลโก้นี้ทุกประเทศสามารถสแกนชำระเงินได้ เหมือนโลโก้พร้อมเพย์ที่ทุกธนาคารสแกนคิวอาร์โค้ดได้ อย่างไรก็ตาม ระบบหลังบ้านของโมบายแบงก์กิ้งธนาคารจะต้องรู้จักกัน สามารถอ่านรหัส(แทค)กันได้ ซึ่งการอ่านแทคระหว่างกันไม่ยากสามารถใช้มาตรฐานเดียวกันภายใต้มาตรฐานยูโรมาสเตอร์วีซ่า(อีเอ็มวี) ทำให้คิวอาร์โค้ดของอาเซียนพูดภาษาเดียวกัน ทั้งนี้ อาเซียนจะต้องตกลงวิธีการส่งข้อมูลชำระเงินระหว่างกันว่าจะส่งอย่างไรให้เป็นมาตรฐานเดียวกันใช้ทั้ง 10 ประเทศ เช่น เช่น จำนวนเงินที่ต้องชำระ ชำระเป็นสกุลเงินใด วันและเวลาที่ชำระ ชื่อร้านค้า รหัสร้านค้า เป็นต้น เพื่อให้รับทราบว่าจะมีการตัดเงินจากธนาคารเพื่อชำระแล้วและให้ร้านค้าส่งมอบสินค้าแก่ลูกค้าได้ และต้องกำหนดตัวกลางในการชำระเงินว่าจะเป็นแบบระบบกลางอย่างไอทีเอ็มเอ็กซ์ หรือเป็นรูปแบบสปอนเซอร์แบงก์ รวมทั้ง การหนดกติกาและเงื่อนไขในการทำธุรกิจ(Business Rules) ร่วมกัน เช่น หากลูกค้าต้องการคืนเงินต้องทำอย่างไร เป็นต้น

Advertisement

“คิวอาร์โค้ดอาเซียนจะอยู่บนพื้นฐานของบัญชีธนาคาร การทำรายการจะตัดจากบัญชีโดยตรง จะทำให้เกิดการแข่งขันกับบัตร ซึ่งมีผู้ให้บริการเครือข่ายการชำระเงิน เช่น มาสเตอรการ์ด วีซ่า ยูเนียนเพย์ อเมริกันเอ็กซ์เพรส เจซีบี เป็นต้น ซึ่งเมื่อไม่มีบัตรจะทำให้ค่าธรรมเนียมถูกลง เหมือนคิวอาร์โค้ดพร้อมเพย์ที่ไม่ต้องเสียค่าโอเวอร์เฮด ค่าทรานเซคชั่นฟี ไลเซ่นฟี ด้านการขยายปริมาณการรองรับการทำธุรกรรมของโมบายแบงก์กิ้งธนาคารรองรับธุรกรรมระหว่างประเทศอาเซียนที่จะเกิดขึ้น มองว่าขณะนี้แต่ละธนาคารความสามารถรองรับปริมาณธุรกรรมจำนวนมากได้อยู่แล้ว แต่คาดว่าใช้คิวอาร์โค้ดอาเซียนปริมาณธุรกรรมในช่วงแรกจะเพิ่มขึ้นราว 10-20% จากปัจจุบัน” นายกึกก้อง กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image