เฉลียงไอเดีย : นัยธาดา นันทน์วิธู สร้างแบรนด์‘ZEDERE’ ปั้นธุรกิจขึ้นใหม่…รักษามรดกชิ้นเดียวของพ่อ

นัยธาดา นันทน์วิธู

ไม่เสมอไปที่การส่งมอบธุรกิจรุ่นต่อรุ่นจะราบรื่น เป็นสูตรสำเร็จตายตัว เหมือน คุณนัยธาดา นันทน์วิธู กรรมการบริหาร บริษัท ทีมเฟอร์น (ไทยแลนด์) จำกัด ผู้ผลิตเก้าอี้หนังปรับนอนแบรนด์ “ZEDERE” หรือ คุณเคนจิ เมื่อได้ฟังเรื่องราวแล้วชวนให้นึกถึงชื่อหนังสือการ์ตูนญี่ปุ่นเล่มหนึ่ง “เคนจิ ยอดนักสู้”

คุณเคนจิเล่าถึงจุดเริ่มต้นธุรกิจของทางบ้านก่อนจะมาเป็น ZEDERE ว่า รุ่นบุกเบิกคือคุณปู่ที่หนีระบบคอมมิวนิสต์จากจีนแผ่นดินใหญ่มาตั้งรกรากที่เมืองไทย อาศัยความรู้เรื่องฟอกหนังทำเฟอร์นิเจอร์ อาชีพดั้งเดิมตอนอยู่เมืองจีน ตั้งโรงฟอกหนังที่เมืองไทย ชื่อ โรงซินตี้ฮั้ว มาจากแซ่ของปู่นั่นเอง

คุณพ่อเป็นลูกคนเล็กสุดจากพี่น้อง 9 คน มีโอกาสได้ไปเรียนที่สหรัฐอเมริกา เมื่อกลับมาจึงทำหน้าที่ฝ่ายขาย ติดต่อกับลูกค้าชาวต่างชาติ โดยธุรกิจในตอนนั้นคือการรับจ้างผลิต (โออีเอ็ม) เพื่อส่งออก เพราะเมื่อประมาณ 50 ปีที่แล้วประเทศไทยเนื้อหอมมาก ต่างประเทศจะออเดอร์จ้างผลิตสินค้าให้เนื่องจากแรงงานถูก ฝีมือดี

“จุดเริ่มต้นของการทำธุรกิจเก้าอี้ปรับนอนมาจากคุณพ่อ ได้เจอเอเยนต์ชาวเดนมาร์กพาลูกค้ากลุ่มประเทศยุโรปมาเลือกหาสินค้าที่ไทย เป็นผู้จุดประกายให้นำเศษหนังที่ถูกตัดจากแผ่นหนังผืนใหญ่ จากของเหลือทิ้งมาทำเก้าอี้ปรับนอน ที่กำลังเป็นที่นิยมในฝั่งยุโรป เศษหนังนำมาแต่งเป็นลวดลายเก้าอี้ เช่น ลายลูกเต๋า โดยคุณพ่อและชาวเดนมาร์ก และหุ้นส่วนคนไทยอีก 1 คน จึงร่วมกันก่อตั้งบริษัท บีเอเอสซี เพื่อผลิตเก้าอี้ปรับนอนส่งขายต่างประเทศ”

Advertisement

ธุรกิจกำลังไปได้ดี แต่ต้องมาสะดุดลงด้วย 2 เหตุสำคัญ นั่นคือสุขภาพของพ่อจากที่โหมทำงานหนัก กินข้าวไม่ตรงเวลา พักผ่อนน้อย กว่าจะรู้ตัวว่าเป็นมะเร็งก็เข้าสู่ระยะที่ 4 และเป็นจังหวะที่บริษัทใหญ่ในยุโรปเปลี่ยนนโยบายต้องการยกระดับสินค้าให้แพงขึ้นจึงไม่ออเดอร์จากไทย แต่สั่งทำที่ยุโรปทั้งหมด คุณพ่อจึงตัดสินใจปิดบริษัท และเปิดบริษัทใหม่นั่นคือบริษัท ทีมเฟอร์น (ไทยแลนด์) จำกัด รับจ้างผลิตให้ลูกค้าหลักฝั่งเอเชียโดยกระแสสมัยนั้นคือธุรกิจร้านนวดและร้านเน็ต เก้าอี้ที่ผลิตจึงมีลักษณะคล้ายเก้าอี้ร้านนวด ร้านเน็ต “กระทั่งคุณพ่อเสีย ตอนนั้นผมอายุประมาณ 10 ขวบ คุณแม่เข้ามารับช่วงบริหารงานต่อร่วมกับคนเก่าแก่ของคุณพ่อ ตัดสินใจส่งลูกๆ คือผมและพี่ชายไปเรียนต่อต่างประเทศ เพื่อทุ่มกับงานเต็มร้อย”

ธุรกิจหักเหอีกครั้งเมื่อจีนเปิดประเทศ และไทยเจอวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 คุณเคนจิเล่าว่าคุณแม่เรียกลูก 2 คนบอกถึงการตัดสินใจว่าจะปิดกิจการ “ตอนนั้นเหลือเงินสดติดบัญชีเพียง 1 ล้านบาทนิดๆ แต่ผมรู้สึกว่าเป็นธุรกิจที่พ่อสร้างขึ้นมา เป็น ‘มรดก’ ที่พ่อตั้งใจทิ้งไว้ให้ และยังมีลูกน้องของพ่อที่ไม่เคยทิ้งกันแม้ยามที่ธุรกิจมีปัญหา จึงปรึกษากับพี่ชายว่าอยากทำต่อ สู้เพื่อพ่อ จึงตัดสินใจบอกแม่ว่าขอทำต่อ ขอสู้สักตั้ง”

แต่กว่าจะมาถึงวันนี้ คุณเคนจิบอกว่าไม่ง่าย บอกตามตรงว่าไม่ใช่คนเรียนเก่ง แต่เป็นคนชอบการตลาด ชอบอ่านประวัติของบุคคลที่ประสบความสำเร็จ เมื่อคิดลุยต่อก็ตั้งหลักว่าจะต้องทำอะไร เพราะไม่มีโค้ชเก่งๆคอยไกด์ให้ แต่มีความตั้งใจตั้งแต่แรกคือต้องการล้างภาพลักษณ์เก้าอี้ร้านนวด ยกระดับสินค้าดูแพง พรีเมียม จึงได้เข้าร่วมงานสัมมนาของกระทรวงพาณิชย์เพื่อไปฟังเป็นความรู้ วิทยากรคือ อ.ธันยวัชร์ ไชยตระกูลชัย ผู้ซึ่งจุดประกายให้นึกถึงการสร้างแบรนด์ โดยบอกว่าตลาดเมืองไทยมีแต่โออีเอ็ม ถ้าจะโตต้องสร้างแบรนด์ตัวเอง เลยตัดสินใจทำแบรนด์ สร้างคาแร็กเตอร์ให้สินค้า วาง Postioning เป็นสินค้าดูแพง วัสดุต้องดี ซึ่งแบรนด์ ZEDERE คือหนังแท้ 100% ไม่มีวัสดุอื่นปลอมปน ดีไซน์ต้องเริ่ด

Advertisement

จากเงินตั้งต้นธุรกิจแค่ 1 ล้าน คุณเคนจิยอมรับว่าไม่สามารถจ้างดีไซเนอร์ออกแบบให้ อาศัยดูแบบจากที่ต่างๆ ทั่วโลกมามิกซ์แอนด์แมตช์ให้เป็นแบบของเรา กระทั่งสินค้าล็อตแรกก็สำเร็จ จากนั้นก็ล่ารายชื่อลูกค้าเก่าของคุณพ่อ เชิญชวนให้มาดูแบบสินค้า ลูกค้าร้องว้าวทันทีที่เห็นสินค้า แต่ขายไม่ได้เลยแม้แต่ตัวเดียว เพราะราคาแพงขึ้น 2-3 เท่าตัว

การทำธุรกิจบางครั้งเก่งอย่างเดียวไม่พอ ต้องอาศัยโชคด้วย ซึ่งคุณเคนจิได้รับโชคนั้นเมื่อลูกค้าเก่าแก่ของคุณพ่อชาวออสเตรเลียกำลังมองหาสินค้าใหม่ๆ “ถือว่าเกมเปลี่ยน คุณ Graham ขอร่วมเป็นหุ้นส่วนผลิตเก้าอี้ปรับนอนส่งขายต่างประเทศ โดยบอกว่ามาถูกทางแล้ว เพราะกำลังเป็นสินค้าขายดีไปทั่วโลกเนื่องจากหลายประเทศกำลังเป็นสังคมสูงอายุ คนกลุ่มนี้มีกำลังซื้อ อยากได้ของดีแต่หาไม่เจอ และอีกกลุ่มคือคนโสดตามเทรนด์สังคมโลกที่คนแต่งงานน้อยลง เฟอร์นิเจอร์ชิ้นใหญ่จึงไม่ตอบโจทย์ แค่เก้าอี้ตัวเดียวถ้านั่งสบายก็พอแล้ว”

ปัจจุบัน บริษัท ทีมเฟอร์น (ไทยแลนด์) มีหุ้นส่วนต่างชาติเพิ่มอีก 2 คน คือ คุณ Lars ชาวนอร์เวย์ และ คุณ Daniel ชาวสิงคโปร์ หุ้นส่วนทั้ง 3 คนต้องถือว่าเป็นผู้คว่ำหวอดธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ “ถือเป็นโชคดีที่ผมได้รู้จัก”

สำหรับ 2 คนหลังคุณเคนจิบอกว่าเจอกันที่งานแฟร์เฟอร์นิเจอร์ที่สิงคโปร์ เป็นตลาดแรกที่ทำให้ ZEDERE แจ้งเกิด “ผมนำสินค้าไปออกบูธตามคำแนะนำของคุณ Graham เพราะเป็นงานแฟร์ที่มีผู้ซื้อจากทั่วโลกมาช้อปโซฟาของดีที่ไม่เกี่ยงเรื่องราคา ซึ่งไม่ผิดหวัง ขายได้ทุกชิ้น” คุณเคนจิเล่าด้วยใบหน้าอมยิ้มกับความสำเร็จแรก

วันนี้ แบรนด์ “ZEDERE” ที่ล้อมาจากภาษาอิตาลี “SEDERE” แปลว่า “เชิญนั่ง” ได้แตกกิ่งก้านสาขาไปทั่วโลก “เป็นแบรนด์ในอาเซียนไม่กี่แบรนด์ที่กล้าลงทุนในต่างประเทศ ทั้งเปิดออฟฟิศและโชว์รูม ที่เมลเบิร์น ออสเตรเลีย, สิงคโปร์, เซี่ยงไฮ้ และเดนมาร์ก มี shop-in-shop 800 โซนทั่วโลก” คุณเคนจิเล่าถึงธุรกิจในปัจจุบันว่า เมื่อทำในสิ่งที่เชื่อคือการสร้างแบรนด์ รู้สึกว่ามาได้ก้าวหนึ่งแล้ว เรื่องอนาคต เรื่องแรกคือทำองค์กรให้โตขึ้น ต้องปฏิรูปคอนเซ็ปต์ใหม่ เพราะการจะเพิ่มสาขาต้องใช้เงินมาก ตอนนี้ได้ทดลองนำสิ่งใหม่ๆ เช่นเรื่องไลฟ์สไตล์ มีมุมกาแฟมาเปิดในช็อป ก็จับเทรนด์ได้ว่าเป็นภาพที่ดี แต่ก็ยังยากอยู่ ดังนั้นกำลังจะเปลี่ยนคอนเซ็ปต์ให้ตรงโจทย์มากขึ้น

เรื่องต่อไปที่มองอยู่คือนำเทคโนโลยี เอไอ สมาร์ทเฟอร์นิเจอร์จริงๆ มาใช้ในโชว์รูมที่ต่อไปจะเหมือนร้านไอที อย่าง แอปเปิล เสี่ยวมี่ ซัมซุง ที่ใช้สินค้าชิ้นเดียวทำได้หลายอย่าง อยากเห็นเก้าอี้ตัวหนึ่งมีความฉลาดทำได้มากกว่าเก้าอี้ แต่จุดแข็งของเราเรื่องความสบาย รองรับสรีระของผู้นั่งเก้าอี้ต้องมี ซึ่งอยู่ในขั้นตอนพัฒนาโปรดักต์เก้าอี้ที่ทุกสรีระสามารถใช้ได้

ส่วนที่ทำแล้วคือการขยายโรงงาน หลังใหม่เสร็จเปิดใช้อย่างเป็นทางการหลังสงกรานต์นี้ ซึ่งโรงงานแห่งนี้ได้นำเทคโนโลยีหุ่นยนต์มาร่วมทำงานกับแรงงานมนุษย์ โดยหุ่นยนต์จะเป็นเรื่องการผลิตที่แม่นยำ ส่วนแรงงานมนุษย์จะเป็นเรื่องฝีมือที่หุ่นยนต์ทำไม่ได้ สำหรับโรงงานเก่าจะพัฒนาเป็นศูนย์พัฒนาสินค้า หรือ R&D Center ซึ่งรวมถึงการเปิดโรงเรียนสอนทำเฟอร์นิเจอร์โดยเฉพาะ เปิดสอนทั้งบุคคลทั่วไปและเด็กนักเรียนที่อยากยึดเป็นอาชีพ

ก่อนจบบทสนทนา ถามคุณเคนจิว่า พอเริ่มก็ล้มเหลว เคยกำหนดเวลาหรือไม่ว่าจะสู้ถึงเมื่อไร “พี่กับผมลองผิดลองถูก เจ็บมาเยอะกว่าจะถึงวันนี้ เรื่องราวที่เล่าให้ฟังอาจดูไม่นาน แต่กว่าจะถึงวันที่ประสบความสำเร็จ มันนาน การล้มแล้วโดนลูกค้าหัวเราะเยาะใส่ว่าสินค้าเราขายไม่ได้ มันรู้สึกเจ็บทุกครั้ง แต่ที่มีวันนี้ได้เพราะเป็นคนมองโลกบวก ท้อได้แต่ห้ามล้ม ขนาดเจ้าสัวยังล้มมาก่อน ก็คิดบวกไปเรื่อยๆ เหมือนการ์ตูนที่เคยเห็นทางเน็ต เป็นภาพ 2 รูป ภาพบนเป็นคนกำลังขุดเหมืองต่อไปโดยมีทองรออยู่ที่ปลายทาง แต่ภาพล่างเป็นรูปคนหยุดขุด หันหลังเดินออกจากเหมืองทั้งๆ ที่เหลือกำแพงบางๆ อีกนิดเดียวก็จะเจอทอง เหมือนว่าเราไม่เคยรู้อนาคตข้างหน้าเป็นยังไง”

คุณเคนจิกล่าวสรุปว่า ล้มไม่เป็นไร ล้มทุกครั้งต้องเรียนรู้ ล้มไม่ใช่ไม่ดี เพราะได้เรียนรู้ ทำให้เป็นพลังบวก มีแรงที่จะสู้ต่อไปเรื่อยๆ โดยเฉพาะของขวัญสุดท้ายที่พ่อมอบให้ เราต้องสู้ให้ถึงที่สุด

เกษมณี นันทรัตนพงศ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image