ดีดีพร็อพเพอร์ตี้ เผยผู้สูงวัยเพียง1ใน3เพิ่งวางแผนต้องการบ้านหลังเกษียณ

นางกมลภัทร แสวงกิจ ผู้จัดการใหญ่ประจำประเทศไทย DDproperty.com เครือพร็อพเพอร์ตี้กูรู กรุ๊ป ซึ่งเป็นเว็บไซต์สื่อกลางซื้อ-ขายอสังหาริมทรัพย์ เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของผู้บริโภคต่อตลาดอสังหาริมทรัพย์ถึงความต้องการด้านที่พักอาศัยเมื่อยามสูงวัย พบว่า 42% ของผู้ตอบแบบสอบถามยังไม่ได้ตระหนักถึงการเตรียมตัวในวัยเกษียณ แม้จะยังเป็นตัวเลขที่ค่อนข้างมาก แต่มีแนวโน้มที่ดีขึ้นและเพิ่มขึ้นจากรอบก่อนหน้าถึง 8% และ 50% คือ จำนวนคนที่มองหา Nursing Home และ Retirement Community จากก่อนหน้าอยู่ที่ 40% จึงเป็นแนวโน้มที่ดีขึ้นสำหรับการมองหาทางเลือกที่พักอาศัยในวัยเกษียณ และมีเพียง 1 ใน 3 ของผู้ตอบแบบสอบถามเท่านั้น ที่ต้องการอาศัยอยู่ในบ้านเดี่ยวเมื่อถึงวัยเกษียณ และ 67% ของผู้ตอบแบบสอบถามต้องการอาศัยอยู่ในบ้านเดี่ยวหรือที่พักอาศัยสำหรับคนสูงวัย เมื่อถึงวัยเกษียณ

นางกมลภัทร กล่าวว่า แม้ภาครัฐและภาคเอกชนจะพัฒนาที่อยู่อาศัยเพื่อผู้สูงอายุจนทำให้เกิด Retirement Community จำนวนมาก แต่ยังมีราคาและตำแหน่งการตลาดเจาะกลุ่มลูกค้าระดับกลางถึงบน สวนทางกับกำลังซื้อของผู้สูงอายุไทยที่ส่วนใหญ่ยังต้องพึ่งพารายได้หลักจากลูกหลาน มีเงินออมค่อนข้างน้อย และส่วนมากต้องการพักอาศัยกับครอบครัวตนเองมากกว่าสถานพักฟื้น Home Care หรือบ้านพักพิงสำหรับผู้สุูงอายุ โดยมีทัศนคติเกี่ยวกับการเป็นภาระของลูกหลานหรือคนดูแล

นางกมลภัทร กล่าวว่า สอดคล้องกับรายงานสถานการณ์ผู้สูงอายุไทยปี 2560 ของกรมกิจการผู้สูงอายุ (ผส.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เผยข้อมูลเกี่ยวกับรายได้ของผู้สูงอายุ แม้ปี2560 จะมีผู้สูงอายุได้รับเบี้ยยังชีพเพิ่มขึ้นเป็น 8.2 ล้านคน มากกว่าจำนวนผู้ได้รับเบี้ยยังชีพในปี 2552 กว่า 1.5 เท่า แต่ยังพบว่าจำนวน 1 ใน 3 ของผู้สูงอายุไทยยังมีรายได้อยู่ใต้เส้นความยากจน ซึ่งมีรายได้หลักจากบุตรลดน้อยลงเหลือเพียง 35% รายได้จากการทำงานลดลงเหลือ 31% รายได้จากคู่สมรสเพียง 20% และรายได้จากเงินออมมีเพียงแค่ 2% เท่านั้น

ขณะที่ปี 2560 มีตัวเลขนี้ไม่เพียงสะท้อนถึงจำนวนผู้สูงวัยที่เพิ่มขึ้นเท่านั้น แต่ยังหมายถึงรายได้ทางเศรษฐกิจของผู้สูงวัยที่ลดน้อยถอยลงไปอีกด้วย ประกอบกับแนวโน้มของครอบครัวยุคใหม่ที่มีจำนวนสมาชิกลดลง ส่งผลให้อัตราผู้สูงอายุที่อาศัยคนเดียวค่อยๆ เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะ โดยผู้สูงวัยจำนวน 41% อาศัยร่วมกับครอบครัวลูกหลาน จำนวน 11.5% เป็นครัวเรือนที่มีเฉพาะผู้สูงวัย มี 21% ที่พักอาศัยกับคู่สมรส และอีก 11% คือผู้สูงอายุที่พักอาศัยคนเดียว ด้วยเหตุผลเรื่องรายได้และเงินออมจึงเป็นอุปสรรคและความท้าทายของผู้สูงวัยต้องการซื้อบ้านของตนเอง

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image