แนะส่งออกไทยตั้งรับอีวีเอฟทีเอ

น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า สนค.ได้วิเคราะห์ผลกกระทบของความตกลงการค้าเสรีสหภาพยุโรป-เวียดนาม (European Union-Vietnam Free Trade Agreement :EVFTA) หรืออีวีเอฟทีเอ ต่อการส่งออกสินค้าของไทย ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ภายในปี 2562 โดยข้อตกลงดังกล่าวมีเนื้อหาทั้งการเปิดตลาดสินค้า บริการ และการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ เช่น มีการลดภาษีกว่า 99% ของสินค้านำเข้าจากทั้งสองประเทศ เมื่อความตกลงมีผลบังคับใช้ เวียดนามจะลดภาษีทันที 65% ของสินค้าส่งออกจากสหภาพยุโรป และจะทยอยลดภาษีสินค้าที่เหลือภายใน 10 ปี สหภาพยุโรปจะลดภาษีทันที 71% ของสินค้าส่งออกจากเวียดนาม และจะทยอยลดภาษีสินค้าที่เหลือภายใน 7 ปี

น.ส.พิมพ์ชนกกล่าวว่า เมื่อความตกลงอีวีเอฟทีเอมีผลบังคับใช้ ทำให้เวียดนามได้เปรียบไทยในการแข่งขันในตลาดสหภาพยุโรปจากความสามารถทางการแข่งขันด้านราคาที่สูงกว่าสินค้าไทย เนื่องจากได้เปรียบจากข้อยกเว้นด้านภาษีนำเข้าและสิทธิจีเอสพีที่ไทยถูกตัดสิทธิไปแล้วตั้งแต่ปี 2558

ซึ่งสินค้าที่ได้รับผลกระทบที่สำคัญ คือ ยานพาหนะและส่วนประกอบ รถยนต์ไฟฟ้า คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ และแผงวงจรไฟฟ้า เวียดนามมีความสามารถในการแข่งขันมาก ซึ่งอาจได้รับผลกระทบจากการย้ายฐานการผลิตไปเวียดนาม ส่วนสินค้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มของเวียดนามเข้าสู่ตลาดยุโรปมากขึ้น

น.ส.พิมพ์ชนกกล่าวว่า ขณะเดียวกันเวียดนามก็เป็นตลาดส่งออกที่สำคัญของไทย การที่สินค้าจากสหภาพยุโรปได้เปรียบจากข้อยกเว้นด้านภาษีนำเข้าสินค้าจากเวียดนามอาจทำให้สินค้าไทยบางรายการแข่งกับสหภาพยุโรปในตลาดเวียดนามได้ลดลง ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

Advertisement

น.ส.พิมพ์ชนกกล่าวว่า ผู้ประกอบการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ไทยต้องพร้อมรับมือกับผลกระทบจากการย้ายฐานการผลิตรถยนต์ไปยังเวียดนาม รวมทั้งควรเร่งปรับตัววางแผนการผลิตและการตลาดเพื่อตรียมพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงสู่อุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าในอนาคต ขณะที่ผู้ประกอบการเครื่องนุ่งห่มไทยต้องนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่มาพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้หลากหลาย การใช้เส้นใยที่มีคุณสมบัติพิเศษ รวมทั้งการสร้างแบรนด์ เพื่อเพิ่มมูลค่าการส่งออกและขยายฐานการตลาดให้กว้างขึ้นด้วยการเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่ายทางออนไลน์

“สนค.จะติดตามสถานการณ์และผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจ การค้า และการส่งออกของไทยจากความตกลงการค้าเสรีดังกล่าว เพื่อสร้างความพร้อมในการรับมือให้กับเกษตรกรและผู้ประกอบการทุกภาคส่วนของไทย อย่างไรก็ตามความตกลงอีวีเอฟทีเอจะทำให้เศรษฐกิจของเวียดนามปรับตัวดีขึ้น ขณะเดียวกันก็จะส่งผลดี คือ จะทำให้ไทยส่งออกสินค้าไปยังตลาดเวียดนามที่เป็นตลาดส่งออกที่สำคัญของไทยได้มากขึ้นเช่นกัน” น.ส.พิมพ์ชนกกล่าว

น.ส.พิมพ์ชนกกล่าวว่า สถิติการค้าระหว่างเวียดนามกับสหภาพยุโรป ระหว่างปี พ.ศ.2557-2560 มีแนวโน้มมูลค่าการค้าเพิ่มสูงขึ้น ในปี 2560 มูลค่าการค้าเพิ่มสูงขึ้นจากปีก่อนหน้าถึง 11.60% มูลค่าการค้ารวม 50,430.97 ล้านดอลลาร์ การส่งออกมีมูลค่า 38,298.72 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 12.55% การนำเข้ามีมูลค่า 12,132.25 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 8.73% โดยเวียดนามเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้า 26,166.47 ล้านดอลลาร์ สำหรับไทยภาพรวมการค้าระหว่างไทยกับสหภาพยุโรป ปี พ.ศ.2557-2560 มีแนวโน้มมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน แต่ในปี 2558 มีการปรับตัวลดลง เนื่องจากไทยถูกตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (จีเอสพี) ในปี 2560 มีมูลค่าการค้าเพิ่มสูงขึ้นจากปีก่อนหน้า 10.96% มูลค่าการค้ารวมเท่ากับ 44,537.80 ล้านดออลาร์ การส่งออกมูลค่า 23,712.64 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 8.04% การนำเข้ามีมูลค่า 20,825.16 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 14.47% โดยไทยเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้า 2,887.48 ล้านดอลลาร์

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image