‘กกพ.’ไฟเขียวตั้งโรงไฟฟ้าขยะ 11 โครงการ 13,101 ล้านบาท

‘กกพ.’ไฟเขียวตั้งโรงไฟฟ้าขยะ 11 โครงการ กำลังผลิต 83 เมกะวัตต์ มูลค่าลงทุนรวม 13,101 ล้านบาท

น.ส.นฤภัทร อมรโฆษิต เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ในฐานะโฆษก คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่า กกพ. มีมติเห็นชอบอนุมัติโครงการรับซื้อไฟฟ้า ภายใต้โครงการผลิตไฟฟ้าจากขยะชุมชน จากพื้นที่ที่มีศักยภาพในการเข้าร่วมโครงการ จำนวน 9 จังหวัด ทั่วประเทศ รวม 11 โครงการ มูลค่าลงทุนรวม 13,101 ล้านบาท คิดเป็นปริมาณที่รับซื้อได้รวม 68.90 เมกะวัตต์ จากกำลังผลิตติดตั้งรวม 83.04 เมกะวัตต์ และมีกำลังจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์เข้าสู่ระบบ(เอสซีโอดี) ภายใน 31 ธันวาคม 2562

“จากการที่สำนักงาน กกพ.ได้ร่วมมือกับกระทรวงมหาดไทย ภายใต้โครงการที่มีความพร้อมสามารถดำเนินการในระยะแรก หรือ โครงการควิก วิน สามารถร่วมกันอนุมัติโครงการที่ดำเนินการโดยองค์กรส่วนปกครองท้องถิ่นแล้วทั้งสิ้น 11 โครงการจากพื้นที่มีศักยภาพรวม 9 จังหวัดทั่วประเทศ พร้อมกันนี้ กกพ. ได้มีการออกประกาศรับรองอย่างเป็นทางการเรียบร้อยแล้ว”น.ส.นฤภัทร กล่าว

สำหรับผู้ที่ผ่านการพิจารณาอนุมัติจาก กกพ. หลังปิดรับยื่นคำร้องฯ ประกอบด้วย 1.บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) 2.บริษัท สยาม พาวเวอร์ จำกัด 3.บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด 4.บริษัท เอ็นคอม เวสท์ ทู เอ็นเนอร์จี่ (พระนครศรีอยุธยา) จำกัด 5. บริษัท หนองคายน่าอยู่ จำกัด 6. บริษัท อัลไลแอนซ์ คลีนเพาเวอร์ จำกัด 7. บริษัท บุญ เอเนอร์ซิส จำกัด 8. บริษัท พาโนว่า จำกัด 9. บริษัท มิทท คอร์ปอเรชั่น จำกัด 10. บริษัท ไทยโซริด รีนิวเอเบิล เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด 11. บริษัท คลีน แพลนนิ่ง จำกัดเป็นต้น

Advertisement

น.ส.นฤภัทรกล่าวว่า ก่อนหน้านี้ กกพ.ได้ออกประกาศและหลักเกณฑ์การจัดหาไฟฟ้าจากขยะชุมชนในรูปแบบฟีด-อิน ทารีฟ(เอฟไอที)โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการแข่งขันด้านราคา มีเป้าหมายการรับซื้อรวม 77.9 เมกะวัตต์ เปิดให้ยื่นคำร้องและข้อเสนอขอขายไฟฟ้าวันที่ 1 ธันวาคม 2560 – 31 มีนาคม 2562 โดยโครงการรับซื้อไฟฟ้าฯ ดังกล่าวสนับสนุนแนวทางของรัฐบาลในการบริหารจัดการภาคพลังงานให้มีความมั่นคง และมีเสถียรภาพด้วยความหลากหลายในการผลิตไฟฟ้า ควบคู่กับการกระจายแหล่ง และประเภทเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า โดยไม่พึงพิงแหล่งเชื้อเพลิงฟอสซิลประเภทใดประเภทหนึ่งมากเกินไป ทั้งยังสามารถที่จะส่งเสริมการลดปริมาณขยะมูลฝอยในชุมชนซึ่งเป็นปัญหาหลักของท้องถิ่น ควบคู่กับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image