สสจ.ประจวบฯขานรับนโยบายสธ. สั่งรถพยาบาลใช้ความเร็วไม่เกิน 80 กม./ชม. ทำประกันชั้น 1-ห้ามฝ่าไฟแดงทุกกรณี

สสจ.ประจวบฯขานรับนโยบายสธ. สั่งรถพยาบาลใช้ความเร็วไม่เกิน 80 กม./ชม. พร้อมทำประกันภัยคุ้มครองคนขับ เจ้าหน้าที่ ผู้ป่วย จ่ายสูงสุดรายละ 2 ล้าน

วันที่ 18 เมษายน นายแพทย์สามารถ ถิระศักดิ์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ประจวบคีรีขันธ์ เปิดเผยว่า ขณะนี้ผู้บริหารระดับกระทรวงได้กำชับให้ผู้อำนวยการโรงพยาบาลวางมาตรการความปลอดภัยของผู้ป่วย ญาติ และเจ้าหน้าที่ขณะนำส่งผู้ป่วย โดยมอบนโยบายให้โรงพยาบาลทุกแห่งต้องทำประกันภัยรถพยาบาล ชั้น 1 ภาคสมัครใจ และเพิ่มวงเงินประกันภัยคุ้มครองผู้โดยสารหากเสียชีวิตหรือทุพพลภาพถาวร เป็นคนละ 2 ล้านบาท สูงสุด 7 ที่นั่ง สำหรับรถพยาบาลที่หมดประกันภัยฉบับเดิมให้ต่อประกันภัยฉบับใหม่กับบริษัทประกันภัยที่มีข้อตกลงร่วมกัน 4 บริษัท

“ได้กำชับให้ผู้อำนวยการโรงพยาบาลทุกแห่งปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการเกิดอุบัติเหตุของรถพยาบาล โดยพนักงานขับรถพยาบาลต้องผ่านการอบรมหลักสูตรฝึกอบรมของกระทรวงสาธารณสุข และตรวจสุขภาพอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง จำกัดความเร็วของรถพยาบาล ไม่เกิน 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง (กม./ชม.) ในรถต้องมีผู้โดยสารรวมพนักงานขับทั้งหมดไม่เกิน 7 คน ทุกคนต้องคาดเข็มขัดนิรภัย รถพยาบาลทุกคันต้องติดตั้งอุปกรณ์ GPS และกล้องวงจรปิดบันทึกภาพ ห้ามขับรถฝ่าสัญญาณไฟแดงทุกกรณี และให้คำนึงถึงเวลาทำงานที่เหมาะสมของบุคลากรสาธารณสุข” นายแพทย์ถิระศักดิ์กล่าว

นายนิพนธ์ สุวรรณนาวา ประธานมูลนิธิสว่างประจวบธรรมสถาน อ.เมือง จ.ประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่า ได้เน้นย้ำให้เจ้าหน้าที่จิตอาสากู้ภัย ที่ปฏิบัติหน้าที่ในรถกู้ภัยของมูลนิธิปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน (สพฉ.) อย่างเคร่งครัด ขณะเดียวกันยอมรับว่าการทำประกันภัยชั้น 1 ที่ผ่านมาได้รับการปฏิเสธจากบริษัทรับทำประกันเนื่องจากไม่เข้าเงื่อนไขบางประการ ล่าสุดบริษัทบางรายได้ทำประกันภัยชั้น 1 ประเภทบวกสามให้รถกู้ภัยทุกคันของมูลนิธิฯ สำหรับมาตรฐานของรถพยาบาลภายหลังกระทรวงสาธารณสุขวางหลักเกณฑ์ไว้ค่อนข้างสูง ส่วนตัวเห็นว่าในส่วนของมูลนิธิ และกู้ภัยขององค์กรปกครองท้องถิ่น (อปท.) ควรกำหนดให้มีมาตรฐานเดียวกัน

Advertisement

นายทวีศักดิ์ ศรีทองกิติกูล ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบล ( อบต.) ปากน้ำปราณ อ.ปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่า ขณะนี้รถกู้ชีพของ อบต.จัดซื้อตามมาตรฐานครุภัณฑ์ที่กำหนดซึ่งส่วนใหญ่จะใช้รถกระบะหรือรถตู้ดัดแปลง และไม่ได้ทำประกันภัยชั้น 1 แต่ผู้สั่งการให้นำรถออกไปบริการและพนักงานขับรถจะต้องร่วมกันรับผิดชอบในการใช้รถตามภารกิจที่กำหนด ยอมรับว่าเป็นปัญหาในการปฏิบัติหน้าที่พอสมควร ขณะที่ปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดมาตรฐานของรถพยาบาลไว้ค่อนข้างสูง และมีการใช้อุปกรณ์เพิ่มเติมเพื่อรองรับความปลอดภัยในการใช้งาน

ข่าวรอบด้าน กับ Line@มติชนนิวส์รูม คลิกเป็นเพื่อนกัน ได้ที่นี่

Advertisement

เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image