ธปท.หวังเศรษฐกิจครึ่งปีหลังพุ่ง เล็งออกเกณฑ์ดีเอสอาร์คุมแบงก์ปล่อยกู้ลดเสี่ยงหนี้ครัวเรือนพุ่ง

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท. ประเมินว่าภาพรวมเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลัง 2562 อัตราการขยายตัวเศรษฐกิจ(จีดีพี) จะขยายตัวดีกว่าครึ่งปีแรก ผลจากบรรยากาศการค้าที่คาดว่าจะดีขึ้น เพราะก่อนหน้านี้ความไม่ชัดเจนและแรงกดดันการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐและจีนทำให้ผู้ประกอบการกังวลจึงมีการสั่งซื้อสินค้าไปแล้วตั้งแต่ปลายปี 2561 ทำให้คำสั่งซื้อปัจจุบันต่ำกว่าระดับปกติ แต่เมื่อสต๊อกสินค้าเริ่มทยอยลดลง จะทำให้มีคำสั่งซื้อเพิ่มส่งผลดีต่อการผลิตและการส่งออก ทั้งยังเห็นการขยายฐานการผลิตสินค้าเข้ามาในไทย ขณะที่แนวโน้มการลงทุนในประเทศคาดว่าจะกลับมาในครึ่งปีหลังของปีจะเป็นแรงส่งเศรษฐกิจให้ดีขึ้น อีกทั้งความชัดเจนการเมืองภายในประเทศในช่วงครึ่งหลังคาดหวังว่าจะมีรัฐบาลใหม่เข้ามา นโยยายต่าง ๆ จะมีความชัดเจนมากขึ้นทำให้คลายความกังวลในด้านนโยบาย และกิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมา

“ธปท.คาดจีดีพีโต 3.8% ลดลงจากปีก่อน แต่ก็ยังอยู่ในระดับที่สอดคล้องกับศักยภาพเศรษฐกิจไทย
ซึ่งเศรษฐกิจครึ่งปีหลังน่าจะดีกว่าครึ่งปีแรก ภายใต้การจัดตั้งรัฐบาลใหม่ได้ตามแผนที่วางไว้คือภายในเดือนมิถุนายน ถ้าเป็นดังนี้จะไม่มีผลกระทบต่อประมาณการเศรษฐกิจของธปท. แต่หากไม่มีความชัดเจนจากการจัดตั้งรัฐบาล ต้องเลื่อนออกไปนาน จะมีผลต่อกิจกรรมเศรษฐกิจ โดยเฉพาะโครงการลงทุนใหม่ภายใต้งบประมาณปี 2563 ซึ่งต้องเสนอให้รัฐสภาพิจารณา ทั้งนี้ เอกชนก็รอความชัดเจนนโยบายที่พรรคการเมืองหาเสียง เช่น ค่าแรงขั้นต่ำ ขณะที่การเจรจาการค้าระหว่างประเทศ คู่เจรจากับไทยก็รอความชัดเจนจากรัฐบาลใหม่เช่นกัน ดังนั้นหากมีการเลื่อนการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ออกไปยาวจะมีผลต่อภาพเศรษฐกิจที่ประเมินไว้ได้” นายวิรไท กล่าว

นายวิรไท กล่าวว่า ธปท.อยู่ระหว่างการศึกษาเพื่อออกเกณฑ์กำกับการปให้สินเชื่อของสถาบันการเงิน เพื่อแก้ไขปัญหาโครงสร้างหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง ข้อมูลล่าสุดจากข้อมูลเครดิตบูโร หนี้ครัวเรือนสัดส่วนอยู่ที่ 77.8% ของจีดีพี โดยขณะนี้สถาบันการเงินให้สินเชื่อตามเกณฑ์แต่ละรายผลิตภัณฑ์ ซึ่งความเป็นจริงควรให้สินเชื่อตามความสามารถชำระหนี้ของลูกหนี้เป็นหลัก โดยเฉพาะการพิจารณาภาระหนี้ต่อรายได้ต่อเดือน(ดีเอสอาร์) ของผู้กู้ ส่วนรายละเอียดจะเป็นอย่างไรจะมีการเปิดเผยอีกครั้ง ที่ผ่านมาธปท.ได้ควบคุมดูแลสินเชื่อบุคคล บัตรเครดิต และสินเชื่อที่อยู่อาศัยผ่านการกำหนดมูลค่าหลักประกันต่อสินเชื่อ(แอลทีวี) และยังอยู่ระหว่างการตรวจสอบการให้สินเชื่อรถยนต์ด้วย

“การปล่อยกู้ของแบงก์ ไม่ควรแยกเป็นรายผลิตภัณฑ์ แต่แบงก์ต้องเอาลูกหนี้เป็นตัวตั้งว่ามีความสามารถชำระหนี้หรือไม่ มีภาระหนี้ต่อรายได้เท่าไหร่ แบงก์ต้องดูความสามารถชำระหนี้มากขึ้น ไม่ว่าจะกู้ประเภทไหนก็ตาม เพราะรายได้ก็มาจากกระเป๋าเดียวกันนอกจากนี้ธปท.ยังร่วมกับกระทรวงการคลัง จัดทำร่างกฎหมายลำดับรองให้การปล่อยสินเชื่อและการเงินสหกรณ์ออมทรัพย์ให้ได้มาตรฐาน จาก 2 เดือนที่ผ่านมาได้ร่วมกับกรมส่งเสริมสหกรณ์ออกกฎหมายเพื่อลดความเสี่ยง เพราะที่ผ่านมาสหกรณ์ออมทรัพย์เริ่มมีความเสี่ยงจากการนำไปปล่อยกู้ต่อให้กับชุมนุมสหกรณ์ จึงร่วมกันควบคุมเช่น บริหารสภาพคล่อง บริหารความเสี่ยง ตั้งกรรมการ ซึ่งคล้ายกับการบริหารสภาพคล่องกับสถาบันการเงินแต่ไม่ได้เข้มงวดเท่ากับธนาคารพาณิชย์” นายวิรไท กล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image