“อเมซอน” บุกอีคอมเมิร์ซไทย จดทะเบียนตั้งทีมงาน AWS ลั่นหนุนเอสเอ็มอีลุยตลาดทั่วโลก

นายเบอร์นาร์ด เทย์ ผู้อำนวยการ อเมซอน โกลบอล เซลลิ่ง ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เปิดเผยว่า อเมซอน โกลบอล เซลลิ่ง เป็นหนึ่งในธุรกิจของอเมซอนที่จัดตั้งขึ้นเพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการทั่วโลกให้สามารถขยายฐานการค้าสู่ตลาดต่างประเทศได้ ผ่านเว็บไซต์ Amazon.com ที่มีฐานลูกค้าขนาดใหญ่เป็นคนอเมริกันและลูกค้าจากทั่วโลก จึงจัดตั้งทีมงานอเมซอน โกลบอล เซลลิ่งขึ้นในประเทศไทย โดยจดทะเบียนในประเทศไทยภายใต้ Amazon Web Services หรือ AWS เนื่องจากเห็นว่าประเทศไทยมีศักยภาพพร้อมเจาะตลาดอีคอมเมิร์ซระหว่างประเทศ อาทิ การที่ไทยเป็นฐานการผลิตสินค้าที่สำคัญและแข็งแรง มีประสบการณ์การส่งออกสินค้าไปจำหน่ายต่างประเทศค่อนข้างสูง รวมถึงประเทศไทยมีการตื่นตัวกับกระแสการเปลี่ยนแปลงของอีคอมเมิร์ซ ด้วยการมีแนวคิดดิจิทัล ไทยแลนด์ ทำให้เพิ่มโอกาสในการประกอบธุรกิจออนไลน์ให้กับอุตสาหกรรมต่างๆ ในประเทศจำนวนมาก จึงเชื่อว่าไทยจะสามารถเป็นตลาดผู้นำในด้านอีคอมเมิร์ซระหว่างประเทศได้

“ถึงแม้จะมีปัจจัยที่ทำให้ประเทศไทยมีจุดแข็งมาก แต่ก็ยังมีจุดอ่อนหลักๆ คือ ผู้ประกอบการไทยส่วนใหญ่ตื่นตัวกับกระแสการค้าอีคอมเมิร์ซในประเทศและระหว่างประเทศน้อยมาก หรือขาดความรู้ในการลงมือทำ อเมซอนจึงเข้ามาช่วยเหลือในการรวบรวมข้อมูล ย่อยข้อมูลเหล่านั้นให้เข้าใจง่าย เพื่อสร้างองค์ความรู้ให้กับผู้ประกอบการ เพื่อให้กระบวนการเหล่านี้ทำได้ง่ายขึ้น โดยมีแผนผลักดันผู้ประกอบการไทย ด้วยการจัดอบรมสร้างความเข้าใจในการประกอบธุรกิจเพื่อการส่งออกระหว่างประเทศ”

นายเบอร์นาร์ด กล่าวว่า จากข้อมูลพบว่าผู้ประกอบการที่ขายสินค้าผ่านช่องทางปกติ มีการเติบโตเพียง 6% แต่ช่องทางอีคอมเมิร์ซโตถึง 28% ซึ่งเป็นการเติบโตมากกว่าช่องทางปกติถึง 4 เท่า แต่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่มักรู้จักเพียงอีคอมเมิร์ซในประเทศ ซึ่งความจริงแล้วตลาดอีคอมเมิร์ซระหว่างประเทศมีการเติบโตสูงขึ้นในทุกปี หากดูส่วนแบ่งทางการตลาดแล้ว 3-4 ปีที่ผ่านมา ตลาดอีคอมเมิร์ซระหว่างประเทศโตขึ้น 15% แต่ในปี 2561 โตขึ้นถึง 29% ประกอบกับปัจจุบัน ผู้ประกอบการธุรกิจเอสเอ็มอีที่จำหน่ายสินค้าผ่านอเมซอนมาจาก 130 ประเทศ โดยมีสัดส่วนยอดขายจากการขายสินค้าเติบโตขึ้นเป็น 58% ในปี 2561 จาก 3% ในปี 2542 โดยมีเอสเอ็มอีกว่า 50,000 รายสามารถสร้างยอดขายบนเว็บไซต์อเมซอนได้รายละกว่า 500,000 เหรียญสหรัฐฯในปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ยังพบว่ามีร้านค้าเอสเอ็มอีที่ขายผ่านเว็บไซต์อเมซอนและสามารถทำยอดขายได้เกิน 1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ มีการเติบโตกว่า 20% ในปีที่ผ่านมา

“ปัจจัยสำคัญในการประกอบธุรกิจอีคอมเมิร์ซระหว่างประเทศคือ การส่งออกสินค้า เพราะการขายออนไลน์ในประเทศและต่างประเทศไม่เหมือนกัน ต่างประเทศมีความแตกต่างในรายละเอียดค่อนข้างมาก อาทิ ความต้องการของลูกค้าที่ไม่เหมือนกัน ข้อห้าม กฎระเบียบ หรือข้อปฏิบัติต่างๆ ก็แตกต่างกัน ทำให้ผู้ประกอบการที่จะเข้ามาขายสินค้าผ่านเว็บไซต์อเมซอน และใช้บริการระบบ Fulfillment by Amazon ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่คอยดูแลสินค้า จัดส่งสินค้า และตอบคำถามลูกค้าให้กับผู้ประกอบการ ทำให้สามารถทำการค้าระหว่างประเทศได้สะดวกมากกว่าเดิม รวมถึงลดต้นทุนในการขนส่งโลจิสติกส์ด้วย”

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image