วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์) สถานที่สำคัญในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก โดย : พระราชปริยัติมุนี

“ความงามของวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม หรือวัดโพธิ์ ถ้าไม่ได้มาเห็นด้วยตาตนเองหลายคนอาจจะจินตนาการไม่ถูก สักครั้งในชีวิตอยากให้ได้มาเห็น มาสัมผัสด้วยตนเองก็จะเข้าใจทันทีว่า วัดที่พระมหากษัตริย์ทรงสร้างจะงดงามมากเพียงใด”

ในช่วงที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงสร้างพระบรมมหาราชวัง พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาวัดโพธาราม ซึ่งเป็นวัดเก่าสร้างปลายสมัยกรุงศรีอยุธยาที่เมืองบางกอกขึ้นพร้อมกัน และพระราชทานนามใหม่ว่า วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาวาส

ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ทรงโปรดฯให้บูรณปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ และขยายอาณาเขตออกไป ให้บรรดาเหล่านักปราชญ์ทำการรวบรวมสรรพวิชาต่างๆ จารึกลงบนแผ่นศิลา จำนวน 1,440 แผ่น ประดับไว้ตามศาลาราย เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ผู้สนใจศึกษาหาความรู้ จึงมีคำกล่าวว่า วัดโพธิ์เปรียบเสมือนมหาวิทยาลัยเปิดแห่งแรกของเมืองไทยก็มาจากเหตุผลดังกล่าว

Advertisement

และในสมัยรัชกาลที่ 4 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนสร้อยนามพระอารามใหม่เป็นวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร มาจนถึงปัจจุบัน และเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ.2554 องค์การยูเนสโก ได้มีมติรับรองให้จารึกวัดโพธิ์ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกความทรงจำแห่งโลก นี่ก็เป็นเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับวัดพระเชตุพนฯ

“การที่เรามาชมวัดโพธิ์ นอกจากจะพบความสวยงามอย่างวิจิตรบรรจง ที่ปรากฏแก่สายตาผู้พบเห็นแล้ว เรื่องราวความรู้ต่างๆ ที่เกิดขึ้น ณ พระอารามหลวงแห่งนี้ เต็มเปี่ยมไปด้วยศาสตร์วิชาแขนงต่างๆ มากมาย ทั้งประวัติศาสตร์ วรรณคดี การเมือง การปกครอง การแพทย์ การสาธารณสุข ศาสนา อาตมามาอยู่วัดโพธิ์ร่วม 30 ปี จำได้ว่าตอนมาอยู่ใหม่ๆ วัดโพธิ์ไม่ได้มีนักท่องเที่ยวมากมายเช่นนี้ แต่ที่เห็นบ้าง ก็มีสถาบันการศึกษาต่างๆ ส่งนักเรียน นักศึกษามาที่นี่มิขาดสาย เพื่อมาศึกษาหาความรู้ มาทำรายงานบ้าง จนถึงวันนี้นักท่องเที่ยวเดินทางมาเยี่ยมชมวัดโพธิ์เพิ่มขึ้นหลายเท่าตัวและมีหลากหลายเชื้อชาติ ทั้งยุโรป อเมริกา เอเชีย ในแต่ละวันก็มีนักท่องเที่ยว ตั้งแต่ 7,000,-10,000 คน ถ้าเป็นช่วงเทศกาล ส่วนนักเรียน นักศึกษา ก็มาทัศนศึกษา มาหาความรู้ที่นี่แทบทุกวัน

Advertisement

“ผ่านมา 230 ปี ความงดงามของวัดโพธิ์ ก็ยังมิได้เสื่อมคลายลงไปแม้แต่น้อย ไม่ว่าจะเป็นพระพุทธไสยาสน์หรือพระนอน พระมหาเจดีย์ 4 รัชกาล ประติมากรรมรูปฤๅษีดัดตนและพระพุทธเทวปฏิมากร งดงามประดุจเทวดาสร้าง เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ ซึ่งสำคัญมาก เป็นประธานในพระอุโบสถ ดังนั้น เป็นประจำทุกปี สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์ จะเสด็จฯมายังวัดพระเชตุพนฯ เพื่อถวายผ้าพระกฐิน ณ พระอุโบสถ”

วัดพระเชตุพนฯ ฉายภาพให้เราได้เห็นและเข้าใจทันทีว่า นอกจากความงามที่เกิดจากฝีมือช่างวังหลวงที่เต็มไปด้วยความสวยงามประณีต ยังเป็นแหล่งเรียนรู้เหนือสิ่งอื่นใด วัดโพธิ์ในฐานะพระอารามหลวงประจำราชวงศ์จักรีชั้นเอกอุ ซึ่งมีปฐมบรมกษัตริย์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์เป็นผู้สร้าง ที่สำคัญเช่นนี้จึงมีบทบาทสำคัญในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระราชพิธีที่ทุกคนรอคอย

โดยในวันที่ 5 พฤษภาคม พุทธศักราช 2562 สมเด็จพระเจ้าอยู่มหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกรู เสด็จฯในขบวนพยุหยาตราสถลมารค สู่พระอุโบสถวัดพระเชตุพนฯ เพื่อทรงถวายต้นไม้เงิน ต้นไม้ทอง ถวายสักการะพระพุทธเทวปฏิมากร พระประธานในพระอุโบสถ และถวายสักการะพระบรมราชสรีรางคารพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ซึ่งถือเป็นราชประเพณีและขั้นตอนที่สำคัญในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ที่เกิดขึ้นในรอบ 69 ปี นับจากพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ 9 เมื่อพุทธศักราช 2493

พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 ครั้งนี้ เป็นพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งที่ 12 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ นับเป็นห้วงเวลาที่พสกนิกรชาวไทยรอคอยด้วยความชื่นชมยินดีและคงสร้างความสุขให้แก่คนไทยทั่วทุกหมู่เหล่าโดยถ้วนหน้า

พระราชปริยัติมุนี
(เทียบ สิริญาโณ รศ.,ดร.)
ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนฯ
หัวหน้าฝ่ายทัศนศึกษา คณบดีคณะพุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image