พระราชพิธี เสด็จฯเลียบพระนคร

ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 พระราชพิธีที่ถูกกล่าวถึงเสมอและเป็นขั้นตอนที่นับเป็นส่วนหนึ่งของพระราชพิธี คือ “การเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร” ในหนังสือ “เสวยราชสมบัติกษัตรา” โดยสำนักพิมพ์มติชน ได้ระบุไว้ว่า

การเสด็จฯ เลียบพระนคร ธรรมเนียมนี้อาจสืบเนื่องมาจาก “พิธีราชสูยะ” ซึ่งมีการแห่แหนผู้ที่เป็นพระมหากษัตริย์ หลังเสร็จสิ้นการพิธี ในขั้นตอนการรับมอบราชสมบัติและการกระทำสัตย์สาบานว่าจะปกครองบ้านเมืองอย่างเป็นธรรม ซึ่งคล้ายคลึงกับพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในไทย ที่ปรากฏหลักฐานครั้งกรุงศรีอยุธยาว่าจะกระทำเมื่อเสร็จสิ้นพระราชพิธีในวันพระฤกษ์จริงผ่านพ้นไปแล้ว และเป็นธรรมเนียมสืบมาจนสมัยกรุงรัตนโกสินทร์

ความหมายของการเสด็จฯ เลียบพระนคร กระทำขึ้นเพื่อประกาศพระบรมเดชานุภาพของพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ให้เป็นที่ประจักษ์แก่อาณาประชาราษฎร์ และอาจรวมถึงหัวเมืองต่างๆ เพื่อให้ประจักษ์ในพระบารมี ดังนั้น อาจเกี่ยวข้องถึงขอบเขตของการประกอบพระราชพิธีดังที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงสันนิษฐานไว้ในพระราชพงศาวดารรัชกาลที่ 5 ความว่า

“…ประเพณีเดิมเห็นจะเสด็จเลียบถึงเมืองที่รายรอบมณฑลราชธานี ต้องเสด็จโดยทางบกบ้าง ทางเรือบ้าง และประทับรอนแรมเป็นระยะไปหลายวันจนกว่าจะรอบมณฑลราชธานี เพื่อบำรุงความสามิภักดิ์ และให้ประจักษ์พระเดชานุภาพแก่ประชาชนทั้งหลาย ครั้นนานมา เห็นเป็นการลำบากโดยมิจำเป็น จึงย่นระยะทางลงเป็นเพียงเลียบพระนครราชธานี แล้วย่อลงมาอีกชั้นหนึ่ง คงแห่เสด็จเลียบรอบกำแพงพระนครแต่ทางเรือ ส่วนทางบกเป็นแต่แห่เสด็จเลียบรอบบริเวณพระราชวัง…”

Advertisement

การที่เป็นพระราชพิธีที่แสดงพระบารมีให้เป็นที่ประจักษ์แก่ผู้คนจำนวนมากจึงจำเป็นที่จะต้องตระเตรียมขบวนแห่อย่างยิ่งใหญ่มโหฬารด้วยขบวนพยุหยาตรา คล้ายกับการยกกองทัพเพื่อทำสงคราม มีการระบุขุนนางและแม่ทัพนายกองในทุกกรมกองอย่างแน่ชัด และใช้จำนวนคนอย่างมาก เช่น ในสมัยกรุงศรีอยุธยามีการระบุจำนวนคนในขบวนแห่นับหมื่นคน

ลักษณะของขบวนแห่เช่นที่ปรากฏในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นขบวนเสด็จฯ เลียบพระนครสถลมารค (ทางบก) ประกอบด้วย ขบวน 4 ตอน ในตอนที่ 4 ประกอบด้วยเสนากรมต่างๆ เดิน 8 สาย นำหน้า ตอนที่ 2 ขบวนหลวง ตอนที่ 3 เสนากรมต่างๆ ขบวนหลังเดิน 8 สาย ตอนที่ 4 ขบวนเจ้านายทรงม้า และเสนาบดีนั่งเสลี่ยง หรือแคร่ตามบรรดาศักดิ์ตามเสด็จจนสุดขบวน

Advertisement

ก่อนถึงวันพระราชพิธีเจ้าพนักงานจะแต่งถนนด้วยการโรยทรายหรือ “เกลี่ยทรายราบรื่น” เนื่องจากผิวถนนในพระนครนั้นเป็นเพียงถนนดินไม่ได้ราบเรียบ สองข้างทางปักฉัตรเบญจรงค์ 7 ชั้น กั้นราชวัติ ผูกต้นกล้วย อ้อย และธงกระดาษเรียงรายเป็นระยะ มีปี่พาทย์ กลองแขก เครื่องประโคม และตั้งร้านน้ำไว้บริโภคทุกระยะ บริเวณหัวถนนมีกรมอาสาหกเหล่าตั้งกระโจมหอกจุกช่องทุกแห่ง

อย่างไรก็ดี ความหมายของการเสด็จฯ เลียบพระนคร หาได้เป็นการประกาศบุญญาธิการและพระบารมี เมื่อถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 พระองค์ทรงเปลี่ยนความหมายของการเสด็จฯ เลียบพระนคร เป็นการเสด็จฯ ไปนมัสการพระรัตนตรัยตามพระอารามหลวงที่สำคัญโดยทางสถลมารค (ทางบก) และทางชลมารค (ทางเรือ) เพื่อให้ราษฎรได้เฝ้าฯ ชมพระบารมีทั้งทางฝั่งพระนครและฝั่งธนบุรี และในการนี้ ทรงเปลี่ยนแปลงธรรมเนียมการเข้าเฝ้าฯ โดยให้ราษฎรสามารถชมพระบารมี ไม่ต้องปิดประตูบ้านเรือนเมื่อขบวนเสด็จผ่านเหมือนอย่างแต่ก่อนมา ซึ่งทำให้เกิดธรรมเนียมการตั้งเครื่องบูชาสักการะจากบรรดาราษฎรเมื่อขบวนเสด็จฯ ผ่านนับแต่นั้นมา

สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ มีการเสด็จฯ เลียบพระนครทั้งทางสถลมารค (ทางบก) และทางชลมารค (ทางเรือ) โดยการเสด็จฯ เลียบพระนครสถลมารคกระทำในทุกรัชกาล เว้นแต่เพียงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปร
มินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 มิได้เสด็จฯ เลียบพระนครในช่วงท้ายของงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเช่นรัชกาลแต่ก่อนมา แต่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการเสด็จฯ เลียบพระนคร เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ.2506 เนื่องในพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 3 รอบ ครั้งนั้นเสด็จพระราชดำเนินโดยขบวนพยุหยาตราใหญ่เพื่อบูชาพระรัตนตรัย ณ พระอุโบสถ วัดบวรนิเวศวิหาร

ส่วนการเสด็จฯ เลียบพระนครชลมารคกระทำเพียง 4 ครั้ง ได้แก่ รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 เป็นการจัดพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเต็มตามตำราเมื่อปี พ.ศ.2328 หลังจากนั้นในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ซึ่งเป็นช่วงที่การซ่อมแซมเรือพระราชพิธีที่ดำเนินมาแต่ในรัชกาลก่อนเสร็จสิ้นพอดี ต่อมารัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 ในปี พ.ศ.2454 และพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7 ในปี พ.ศ.2468 ซึ่งเป็นครั้งสุดท้ายที่การเสด็จฯ เลียบพระนครชลมารคเนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

สำหรับรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 มิได้มีพระราชพิธีในส่วนนี้ แต่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รื้อฟื้นขบวนพยุหยาตราชลมารคอีกครั้งเมื่อปี พ.ศ.2525 เนื่องในพระราชพิธีสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ครบ 200 ปี

ส่วนในรัชสมัยรัชกาลที่ 10 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินโดยขบวนพยุหยาตราสถลมารคไปยังวัดบวรนิเวศวิหาร วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม และวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม เพื่อทรงนมัสการพระพุทธปฏิมาประธาน และพระบรมราชสรีรางคาร และหลังจากพระราชพิธีบรมราชาภิเษกแล้ว ในปลายเดือนตุลาคม พุทธศักราช 2562 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะเสด็จพระราชดำเนินโดยขบวนพยุหยาตราชลมารค ไปยังวัดอรุณราชวราราม เพื่อทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image