“กสทช.” แง้ม ทีวีดิจิทัล 7-8 ช่อง เล็งคืนใบอนุญาต (มีคลิป)

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช.

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) เปิดเผยในการประชุมชี้แจงหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการจ่ายค่าชดเชยอันเนื่องมาจากการคืนใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ เพื่อให้บริการโทรทัศน์ในระบบดิจิทัล ว่า สำนักงาน กสทช. ได้กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขการจ่ายค่าชดเชยอันเนื่องจากการคืนใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อให้บริการโทรทัศน์ในระบบดิจิทัล ว่า การกำหนดค่าชดเชยให้แก่ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลที่แจ้งความประสงค์ขอคืนใบอนุญาต โดยมีสูตรการคำนวณ คือ นำค่าธรรมเนียมใบอนุญาตที่ชำระแล้ว คูณด้วยอายุใบอนุญาตที่เหลืออยู่ (10 ปี) จากนั้นหารด้วยอายุใบอนุญาต 15 ปี

ขณะที่ ได้ผลอย่างไร ให้นำสิทธิประโยชน์ที่ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลได้รับระหว่างการประกอบกิจการ ได้แก่ 1.เงินสนับสนุนค่าเช่าโครงข่าย (มักซ์) ตามคำสั่ง คสช. 9/2561 และค่าใช้จ่ายในการส่งสัญญาณผ่านดาวเทียมตามเกณฑ์ (มัสแครี่) ตามคำสั่ง คสช.ที่ 76/2559 ตั้งแต่วันที่ได้รับการสนับสนุนจนถึงวันยุติการให้บริการ และ 2.ผลประกอบการของผู้ประกอบกิจการทีวีดิจิทัล ตั้งแต่เปิดให้บริการจนถึง 11 เมษายน 2562 เฉพาะที่มีกำไรสุทธิ โดยผู้ประสงค์จะขอคืนใบอนุญาตต้องนำส่งผลประกอบการภายใน 60 วัน นับแต่ยื่นหนังสือแจ้งขอคืนใบอนุญาตมาหักออก จากนั้นจึงจะคำนวณค่าชดเชยให้แก่ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลที่ขอคืนใบอนุญาต โดยให้ กสทช. จะจ่ายค่าชดเชยจากการคืนใบอนุญาตให้ใน 60 วัน นับแต่ยุติการให้บริการตามที่ กสทช.กำหนด

“คาดว่า จะมีผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลที่แจ้งความประสงค์ขอคืนใบอนุญาต จำนวน 7-8 ราย โดยจำนวนเงินที่หมุนเวียนอยู่ในกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ (กองทุน กทปส.) กว่า 10,000 ล้านบาท จะเพียงพอสำหรับจ่ายค่าชดเชยให้กับผู้ประกอบการ และเมื่อได้รับเงินจากการจัดสรรคลื่นความถี่ย่าน 700 เมกะเฮิรตซ์ ก็จะนำหักลบกับในส่วนที่ได้จ่ายชดเชยให้กับผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลไป เพื่อใช้ในการดำเนินโครงการเน็ตประชารัฐ ที่ยังไม่แล้วเสร็จ ส่วนสิทธิประโยชน์ที่ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลได้รับระหว่างการประกอบกิจการ ทั้งค่ามักซ์ (สิ้นสุดวันที่ 31 พฤษภาคม 2563) เป็นเงิน 900 ล้านบาท และค่ามัสแครี่ (สิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2562) เป็นเงิน 700 ล้านบาท รวม 1,600 ล้านบาท เชื่อว่า ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลแต่ละรายทราบดีว่า ตัวเองมีค่าใช้จ่ายส่วนนี้จำนวนเท่าใด ซึ่งสามารถนำมาคำนวณ เพื่อให้ทราบค่าชดเชยคร่าวๆ ที่จะได้รับหากขอคืนใบอนุญาต” นายฐากร กล่าว

Advertisement
นายสุภาพ คลี่กระจาย นายกสมาคมผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล

ด้าน นายอริยะ พนมยงค์ กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ขอเวลาสักระยะในการศึกษารายละเอียดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการจ่ายค่าชดเชยอันเนื่องมาจากการคืนใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ เพื่อให้บริการโทรทัศน์ในระบบดิจิทัล ซึ่งภายในวันที่ 10 พฤษภาคมนี้ จะได้รับคำตอบอย่างแน่นอน

“ขณะนี้ ยังไม่มีแผนที่จะคืนใบอนุญาต แม้จะเป็นผู้ถือครอง 3 ใบอนุญาตก็ตาม ทั้งนี้ จากมาตรการการช่วยเหลือผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลที่ออกมา สะท้อนให้เห็นว่า ทั้งรัฐบาล และ กสทช. ได้เล็งเห็นสภาพสิ่งแวดล้อมของการดำเนินธุรกิจในปัจจุบัน จึงได้ให้ความช่วยเหลือดังกล่าว ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ดีที่จะทำให้ธุรกิจสามารถเดินหน้าต่อไปได้” นายอริยะ กล่าว

Advertisement

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมชี้แจงหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข การจ่ายค่าชดเชยอันเนื่องมาจากการคืนใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ เพื่อให้บริการโทรทัศน์ในระบบดิจิทัล มีผู้ประกอบกิจการทีวีดิจิทัล เข้าร่วมรับฟัง เช่น บริษัท กรุงเทพโทรทัศน์และวิทยุ จำกัด, บริษัทจีเอ็มเอ็ม แชนแนล จำกัด, บริษัท ดีเอ็น บรอดคาสท์ จำกัด, บริษัท ทริปเปิล วี บรอดคาสท์ จำกัด, บริษัท ทรู โฟร์ยู สเตชั่น จำกัด, บริษัท ไทย นิวส์ เน็ตเวิร์ค (ทีเอ็นเอ็น) จำกัด, บริษัทบางกอก มีเดีย แอนด์ บรอดคาสติ้ง จำกัด, บริษัท บีอีซี มัลติมีเดีย จำกัด, บริษัท ไบรท์ทีวี จำกัด, บริษัท โมโน บรอดคาซท์ จำกัด, บริษัทวอยซ์ ทีวี จำกัด, บริษัท วัน สามสิบเอ็ด จำกัด, บริษัท สปริง 26 จำกัด, บริษัท สปริงนิวส์ เทเลวิชั่น จำกัด, บริษัท อสมท จำกัด, บริษัท อาร์.เอส. เทเลวิชั่น จำกัด และบริษัท เอ็นบีซี เน็กซ์ วิชั่น จำกัด เป็นต้น

ผู้ประกอบกิจการทีวีดิจิทัล
ผู้ประกอบกิจการทีวีดิจิทัล
ผู้ประกอบกิจการทีวีดิจิทัล
ผู้ประกอบกิจการทีวีดิจิทัล

เกาะกระแสเศรษฐกิจ กับ Line@มติชนเศรษฐกิจใกล้ตัว

เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image