หอการค้าคาดเงินสะพัดเปิดเทอม 5.4หมื่นล้านสูงสุดรอบ6ปี

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ภาพรวมการใช้จ่ายช่วงเปิดเทอม ปี 2562 มีมูลค่า 54,972 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.2% จากปี 2561 ที่มีมูลค่า 52,254 ล้านบาท และเป็นการเติบโตสูงสุดในรอบ 6 ปี นับตั้งแต่ปี 2557 ซึ่งเป็นช่วงปีที่มีการปฏิวัติรัฐประหารและมีการจัดตั้งรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ขึ้นมา  ซึ่งการใช้จ่ายช่วงเปิดเทอมเติบโตเพียง 2.21% โดยการใช้จ่ายที่เติบโตดีขึ้นเป็นผลจากเศรษฐกิจฟื้นตัวสะสม โดยอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจ(จีดีพี) ปี 2560 เติบโตราว 4% ปี 2561 เติบโต 4.1% แม้ว่าปีนี้เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มชะลอตัวตามเศรษฐกิจโลกและการเจรจาการค้าสหรัฐและจีนที่ยังไม่ชัดเจน อย่างไรก็ตาม ผู้ปกครองมองว่าการลงทุนการศึกษาเป็นเรื่องที่คุ้มค่า และปัจจุบันมีบุตรเฉลี่ย 1-2 คนต่อครอบครัว ทั้งนี้ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่รัฐบาลมีเติมเงินให้กับผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 1.3 หมื่นล้านบาท เป็นส่วนช่วยพยุงเศรษฐกิจและผู้ปกครองนำเงินมาใช้จ่ายช่วงเปิดเทอม รวมทั้ง ราคาพืชผลเกษตรที่ดีขึ้นเป็นทำให้มีรายได้มากขึ้น

“ผู้ปกครองส่วนใหญ่มีการใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยอยู่ที่ 18,299 บาท แต่พบว่า 40% ของกลุ่มตัวอย่าง 1,200 คน มีเงินไม่เพียงพอต่อไปกู้หนี้ยืมสินมาใช้จ่ายช่วงเปิดเทอม ทั้งการจำนำ การกู้ในระบบผ่านสินเชื่อบุคคล รถแลกเงิน ยืมจากญาติพี่น้อง และมีบางส่วนที่ยังต้องพึ่งพาแหล่งเงินนอกระบบ สะท้อนปัญหาหนี้ครัวเรือนที่แบงก์ชาติกังวลอยู่ เพราะสัดส่วนคิดเป็นกว่า 80%ของจีดีพี ซึ่งภาครัฐมีการดมีการพยายามเข้าไปแก้ปัญหาเฉพาะกลุ่มอยู่” นายธนวรรธน์ กล่าวว่า

นางอุมากมล สุนทรสุรัตน์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า โครงสร้างการใช้จ่ายช่วงเปิดเทอมสัดส่วนมากที่สุด ได้แก่ ค่าเล่าเรียนสัดส่วน 45.4% ค่าบำรุงโรงเรียน(กรณีเปลี่ยนโรงเรียนใหม่/แป๊ะเจี๊ยะ) 28.6% ค่าบำรุงโรงเรียน (ตามปกติ) 6.4% ค่าเสื้อผ้า 5.6% ค่าหนังสือ 5.3% ค่าบริหารจัดการพิเศษ 4.2% ค่ารองเท้า/ถุงเท้า 2.7% ค่าอุปกรณ์การเรียน 1.8% โดยค่าใช้จ่ายที่เพิ่มมากที่สุด คือ ค่าบำรุงโรงเรียน(กรณีเปลี่ยนโรงเรียนใหม่/แป๊ะเจี๊ยะ) รองลงมา คือ ค่าหนังสือ ค่าเล่าเรียน ค่าเสื้อผ้า ค่ารองเท้า/ถุงเท้า ค่าบำรุงโรงเรียน (ตามปกติ) ค่าอุปกรณ์การเรียน และค่าบริหารจัดการพิเศษ ตามลำดับ ส่วนจำนวนสินค้าที่ใช้จ่ายช่วงเปิดเทอมปีนี้เทียบปี 2561 ส่วนมาก 47.2% ยังเท่าเดิม เช่น กระเป๋า ชุดนักเรียน ส่วน 31.6% เพิ่มขึ้น เช่น หนังสือ รองเท้า และลดลง 21.3% เช่น อุปกรณ์การเรียน ด้านราคาสินค้าปีนี้เทียบปี 2561 พบว่าสินค้าที่แพงขึ้นมาก คือ ค่าหนังสือ ค่าชุดนักเรียน รองเท้า/ถุงเท้า อุปกรณ์การเรียน

Advertisement

นางอุมากมล กล่าวว่า สำหรับความคิดเห็นของผู้ปกครองต่อปัญหาด้านการศึกษา ได้แก่ ต้องมีการเรียนพิเศษเพิ่มเติมเพื่อแข่งขันเรียนต่อ ไม่มีโอกาสให้ลูกหลานเรียนสถาบันการศึกษาที่ดี จรรยาบรรณในวิชาชีพครูและอาจารย์ลดลง จำนวนครู/อาจารย์น้อยไม่เพียงพอความต้องการ ขาดความเชื่อมั่นในคุณภาพครู/อาจารย์ หลักสูตรการศึกษาเน้นศีลธรรม/จริยธรรมน้อย และจากการสอบถามทัศนะต่อระบบการศึกษาไทยในปัจจุบันเทียบ 10 ปีที่ผ่านมา พบว่า 62.6% ระบุว่าดีขึ้น สัดส่วน 16.4% ไม่แตกต่าง และ 18.2% แย่ลง และไม่มีความเห็น 2.8% ด้านความพึงพอใจในการปฏิรูปด้านการศึกษาของรัฐบาลระดับคะแนน 7.08 คะแนน จากคะแนนเต็ม 10.0 คะแนน

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image