EEC กับคลองไทย โครงการที่คนไทยและรัฐบาล ต้องทำและค้นหาความจริง : ณรงค์ ขุ้มทอง

ได้ติดตามข่าวที่ท่านนายกฯ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เยือนจีนเพื่อร่วมประชุมในหัวข้อ “ริเริ่มสายแถบการพัฒนา เส้นทางสายไหม” (Belt and Road Forum for International Cooperation – BRF) ระหว่างวันที่ 26-27 เมษายน 2562 ณ กรุงปักกิ่ง เมืองหลวงของจีน ซึ่งมีผู้นำทั่วโลกเข้าร่วม 38 ประเทศด้วยกันท่านนายกฯ พล.อ.ประยุทธ์ได้สรุปการเดินทางครั้งนี้คือ คำนึงและเน้นถึงความโปร่งใส เคารพกฎหมายระหว่างประเทศ เน้นการพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก EEC จะเห็นได้ว่ารัฐบาลให้ความสำคัญกับโครงการ EEC เป็นกรณีพิเศษ ซึ่งเป็นเรื่องที่คนไทยควรยินดี และให้การสนับสนุน เพราะโครงการ EEC สำเร็จเมื่อไหร่ก็นำไทยสู่ 4.0 อย่างแท้จริง

แต่ภาพที่สะท้อนมุมกลับ พบว่าการขับเคลื่อน EEC ยังไม่ถึงเป้าหมายทั้งๆ ที่รัฐบาลพยายามใช้กลไกต่างๆ มากมาย เช่น การให้สิทธิประโยชน์กับผู้ลงทุนโดยเฉพาะชาวต่างชาติค่อนข้างมาก ยืดหยุ่นให้ชาวต่างชาติเข้ามาอยู่อาศัย และกรรมสิทธิ์ที่ดิน โดยให้ระยะเวลา 50 ปี และต่อได้อีก 49 ปี รวมเป็น 99 ปี และยังมีอีกหลายๆ ประเด็นที่สำคัญคือ รัฐและท้องถิ่น ได้รับประโยชน์คุ้มทุนหรือไม่ จากข้อมูลพบว่า EEC มีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ทางกายภาพประมาณ 7.13 แสนล้านบาท ใช้เงินงบประมาณ 21% และจากรัฐวิสาหกิจ 12% และกว่า 60% เป็นการลงทุนโดยภาคเอกชน

แต่สิ่งที่น่าห่วงมากที่สุดคือ พื้นที่ภาคตะวันออก จะเป็นพื้นที่ที่มีภาคอุตสาหกรรมเกือบทุกชนิด อาจจะส่งผลถึงภาวะเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หากมีการวางแผนที่ไม่ดีและรัดกุม พื้นที่ดังกล่าวอาจจะส่งผลกระทบในด้านต่างๆ ทั้งในระยะสั้นและระยะยาวก็อาจจะเป็นได้ ซึ่งรัฐต้องระมัดระวังให้มากที่สุด

EEC คือความหวังของคนไทย รัฐบาลนี้ตั้งใจเป็นพิเศษ แต่มีตัวฉุด EEC คือตลอดระยะ 5-10 ปี ภาวะเศรษฐกิจโลกคนข้างฝืดเคือง/ชะลอตัว/ความขัดแย้งระหว่างอเมริกากับจีน ก็ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงในการส่งออกของประเทศ

Advertisement

จากข้อมูล GDP ของไทย ปี 2561 : 4.1% พอ ปี 2562 : 30% (ครึ่งปี 2562) และแนวโน้มปี 2562 : 3.5-4.0% และหากดูข้อมูลการส่งออก ของ 94 ประเทศทั่วโลก พบว่า 60 ประเทศ การส่งออกติดลบ ส่วนของไทยพบว่าเดือนมีนาคม 62 ติดลบ 4.88% และกลุ่มสินค้าที่กระทบมากที่สุดคือ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ติดลบ 20-30% รัฐบาลวางแผนกระตุ้นเศรษฐกิจจะแจกเงินคนละ 1,500 บาท จำนวน 10 ล้านคน รวมเงิน 1.5 หมื่นล้านบาท เพื่อเที่ยวเมืองรอง 55 จังหวัด แต่ปรากฏว่าโครงการล้มเลิกไป ส่วนหนึ่งมีประชาชนบางกลุ่มวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก ถึงขั้นจะคืนเงินเสียด้วยซ้ำไป แต่รัฐบาลกำลังปรับแผนเป้าหมายใหม่ใช้เงิน 1.3 หมื่นล้านแจกเงิน เช่น ซื้อชุดนักเรียน 500 บาท ให้เกษตรกรซื้อปุ๋ย 1,000 บาท เพิ่มเงินคนพิการ 200 บาท ซื้อของร้านธงฟ้า 500 บาท เป็นต้น

โดยภาพรวม ถ้าดูข้อมูลที่กล่าวมาข้างต้น การส่งออกของไทยโดยภาพรวมติดลบ รายได้ของไทยน่าจะมาจากภาษีของประชาชน และรายได้จากการท่องเที่ยวเป็นหลัก แต่รายได้จากการท่องเที่ยวดูตัวเลขแล้วอยู่ในเกณฑ์สูง 4-5 แสนล้านบาท แต่กลับมีประชาชนย้อนถามว่ารายได้ดังกล่าวประชาชนในพื้นที่ได้รับผลตอบแทนมากน้อยเพียงใด รายได้ที่ว่านี้เป็นของนายทุนเสียเป็นส่วนใหญ่ แต่สิ่งที่สังคมมักจะไม่พูดถึงคือ การทำลายสิ่งแวดล้อมตามแหล่งท่องเที่ยว ซึ่งแต่ละปีอยู่ในสภาพเสื่อมโทรมอย่างหนัก ถึงขั้นแหล่งท่องเที่ยวบางแห่งต้องปิดตัวลง รื้อฟื้นฟูใหม่ เป็นต้น

EEC คือความหวังและหัวรถจักรที่คนไทยหวังและรอคอย แต่ด้วยความเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจ/สังคม/การเมืองของโลกสิ่งที่เราคาดหวังจะให้ EEC ชักลากประเทศให้ก้าวไปข้างหน้าก็คงยาก และเหนื่อย สิ่งที่รัฐบาลควรเร่งสรุป คือโครงการคลองไทยอย่างจริงจังและรวดเร็ว ซึ่งท่านนายกฯได้สั่งการให้สภาความมั่นคง และสภาพัฒนาดำเนินการศึกษาความเป็นไปได้เชิงลึกแล้วก็ตาม รัฐควรเอาคลองไทยมาผลักดันคู่กับ EEC เพื่อผลักดันประเทศไทยโดยเร็ว/รัฐบาลอย่าขลาด/อย่ากลัวนี่แค่พูดยังไม่กล้าเลย/กลัวอะไรออกมาผลักดันคลองไทยอย่างจริงจังประกาศให้คนไทยรู้และรับทราบว่าศึกษาเชิงลึกคุ้มหรือไม่ ถ้าไม่คุ้มก็ประกาศให้คนไทยทราบไปเลย และหยุดดำเนินการ ถ้าคุ้มทุนก็มาช่วยกันคิดและเดินหน้าสร้างคลอง ขุดคลองไทยกันอย่างไร จะแก้ไขสิ่งที่กระทบในการดำเนินการอย่างไร

Advertisement

จากข้อมูลการเสด็จฯ เยี่ยมคลองปานามาของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ช่วงวันที่ 18-20 เมษายน 2562 พบว่า ประเทศปานามาได้ใช้เงินรายได้จากคลองปานามาปีละ 1.7 พันล้านเหรียญ (5-6 แสนล้าน/ต่อปี) มาพัฒนาประเทศ/มาแก้ปัญหาต่างๆ ที่เกิดผลกระทบจากการขุดคลองขยายคลองปานามา และข้อมูลของมหาวิทยาลัยเท็กซัส ประเทศอเมริกา (Texas University of America) ได้สรุปไว้ว่าองค์การบริหารคลองปานามามีแผนงานขยายคลองเพิ่มเติมอีก มีการสร้างท่าเรือรองรับตู้คอนเทนเนอร์ colon รองรับตู้ได้ 2.5 ล้าน TEUs และสร้างท่าเรือนานาชาติปานามา ด้านมหาสมุทรแปซิฟิก และองค์กรคลองปานามาได้มอบเงินให้กับรัฐบาลกลางของปานามาปีละ
1.7 พันล้านเหรียญ (ข่าวพระราชสำนัก พระราชกรณียกิจ สมเด็จพระเทพฯเสด็จฯ เยือนคลองปานามา 18-20 เมษายน 2562)

ด้านคลองสุเอซที่ประสบปัญหามาหลายปีโดยเฉพาะด้านความคล่องตัวของเรือ ขนาดของเรือที่ผ่านซึ่งเดินผ่านได้วันละ 40-50 ลำ/วัน เป็นวันละ 97-100 ลำ/วัน แต่ก็มีเรือ Suez Max ยังไม่สามารถผ่านคลองสุเอซได้ต้องอ้อมไปยังปลายแหลมกู๊ดโฮป ตอนใต้ของแอฟริกา ในช่วงปี 2004-2014 จำนวนสินค้าผ่านคลองสุเอซเพิ่มขึ้นจาก 520 ล้านตัน เป็น 822 ล้านตัน ทั้งๆ ที่เรือแต่ละลำต้องใช้เวลารอคอย ผ่านคลอง 8-11 ชั่วโมง/ลำ จากการรายงานของมหาวิทยาลัยเท็กซัส (Texas University of America) พบว่ารายได้หลักของอียิปต์มาจาก คลองสุเอซ อียิปต์มีรายได้จากค่าธรรมเนียมผ่านคลอง ปีละ 5.4 พันล้านดอลลาร์ และบริษัท SeaIntel ได้ประกาศว่า เรือที่ผ่านคลองสุเอซจากเอเชียไปยังฝั่งตะวันออกของอเมริกา ถูกเก็บเงินเฉลี่ยเที่ยวละ 465,000 ดอลลาร์ (คิดเป็นเงินไทย 14-15 ล้านบาท/เที่ยว)

จากข้อมูลข้างต้น ทั้งคลองสุเอซและปานามา ที่สร้างมายาวนานนับ 100 ปี และได้ผ่านอุปสรรคมามากมาย แต่ด้วยสายตาที่ยาวไกลของผู้นำ ที่นำภูมิที่ตั้งของประเทศมาวางยุทธศาสตร์สร้างรายได้ให้กับประเทศอย่างมหาศาลในแต่ละปี นี่อาจจะเป็นถามและคำตอบที่คนไทย ผู้บริหารของไทยควรหันมาสนใจ ช่วยกันหาช่องทางและคำตอบที่แท้จริง

ส่วนกรณีที่ท่านผู้ทรงคุณวุฒิในคณะโลจิสติกส์ และนักวิชาการ+นักธุรกิจ+นักการเมืองบางคนนำคลองไทยมาเทียบเคียงกับคลองคีล คลองสุเอซ และคลองปานามา ผู้เขียนมองว่าน่าจะไม่ใช่เสียทั้งหมดโดยเฉพาะคลองคีลสร้างขึ้นเพื่อกิจการทางทหารของเยอรมัน ส่วนคลองไทยสร้างขึ้นเพื่อการค้า การเดินเรือใหม่ของโลก และคลองคีลก็สามารถสร้างรายได้ และเป็นศูนย์กลางการเดินเรือยุโรปเหนือ และทำให้เยอรมันเป็นศูนย์กลางการเดินเรือจนถึงปัจจุบัน

ฉะนั้นการที่ท่านผู้ทรงคุณวุฒิโลจิสติกส์เอาคลองคีลมาเทียบกับคลองไทยน่าจะเทียบเคียงกันไม่ได้ แต่ข้อคิดของท่านผู้ทรงคุณวุฒิก็มีประโยชน์ แต่งานใหญ่อย่างคลองไทย ผู้นำไทยต้องใจถึงและใจกว้าง งั้นประเทศเราตามหลังชาติอื่น และนับวันประเทศไทยกำลังหมดช่องทางที่จะหาเงินเข้าประเทศนอกจากขึ้นภาษีจากประชาชน
(ดูตารางประกอบ)

ที่มาของข้อมูล
Working Papers Kid Institute for The Worid Ecouomy Determinning Optimal Transit Charges: The Kid Cannal in Germany: by Nadine Heitmann Katrin Rehdanz and Ulrich Schmidt

ถึงเวลาที่รัฐบาลเลิกกล้าๆ กลัวๆ ที่จะขับเคลื่อนคลองไทยอย่างจริงจัง ถึงเวลาที่รัฐบาลประกาศให้ประชาชนรู้และทราบว่า ประเทศไทยมีความจำเป็นที่จะขับเคลื่อนประเทศด้วยโครงการใหญ่นวัตกรรมใหม่ คือคลองไทยกับ EEC เพื่อสร้างงานสร้างรายได้ให้กับประเทศ ในท่ามกลางที่ประเทศแทบไม่มีช่องทางใหม่ที่นำเงินเข้าประเทศดังข้อมูลของคลองปานามา คลองสุเอซ ข้างต้น EEC เป็นโครงการที่สำคัญยิ่ง แต่ถ้ามีคลองไทยวิ่งคู่ขนานกับ EEC แล้วมั่นใจว่าความมั่งคั่ง ยั่งยืนจะเกิดขึ้นกับประเทศไทยอย่างแน่นอน ถึงเวลาที่คนไทย ผู้นำไทย หยุดวิตกจริต ถึงความเลวร้ายของคลองไทย จนกว่าจะพิสูจน์ได้ว่าคุ้มได้หรือคุ้มเสียกันแน่ ขอเชิญชวนผู้รู้นักวิชาการทั้งหลายรวมทั้งคนไทยออกมาช่วยกันคิด ช่วยกันสนับสนุนช่วยเป็นกำลังใจให้รัฐบาลเร่งตัดสินใจดำเนินการคลองไทย โดยการศึกษาเชิงลึกต่อไป อย่าหวังที่จะใช้เงินภาษีของประชาชนอย่าหวังที่จะเก็บเศษเงินของประชาชน ด้วยการขึ้นค่าโดยสารรถไฟ-รถเมล์ ค่าน้ำ/ค่าไฟอีกเลยสุดท้ายเดี๋ยวจะไม่มีเงินมาลดแลกแจกแถมนะจะบอกให้

และขอวิงวอนผู้รู้ทั้งหลายอย่าวิตกจริตจนเกินเหตุ หันหน้าเข้าหากัน มาช่วยกันหาคำตอบว่าคลองไทยมันดำ มันคุ้มจริงไหม

 

ณรงค์ ขุ้มทอง
ประธานกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน
โรงเรียนนวมินทราชูทิศทักษิณ กรรมการที่ปรึกษาโรงเรียนดาวนายร้อย
กรรมการยุทธศาสตร์ศึกษาธิการจังหวัดสงขลา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image