ชาวบ้านริมโขงโอดผลกระทบข้ามแดนจากเขื่อนในลาวหนักหน่วง เกษตรริมน้ำใกล้ล่มสลาย-หาปลายาก

ชาวบ้านริมโขงโอดผลกระทบข้ามแดนจากเขื่อนในลาวหนักหน่วง เกษตรริมน้ำใกล้ล่มสลาย-หาปลายาก

เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างวันที่ 30 เมษายน-วันที่ 3 พฤษภาคม 2562 คณะทำงานของกองเลขาเครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง และมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน ได้ลงพื้นที่ แลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับการสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขงสายหลักและผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับชุมชนริมฝั่งโขง ทั้งนี้ชาวบ้านที่เป็นคนหาปลาและเกษตรกร ที่จ.บึงกาฬ กว่า 30 คน ได้ให้ข้อมูลว่าขณะนี้ผู้ที่อาศัยอยู่ริมโขงกำลังประสบชะตากรรมหนักมากเรื่องน้ำท่วมเมื่อเดือนสิงหาคม 2561 จากการระบายน้ำของเขื่อนน้ำงึม 1 บนลำน้ำสาขาของแม่น้ำโขง ในประเทศลาว ประกอบกับปริมาณน้ำโขงที่หนุนสูงจึงได้รับผลกระทบจากเขื่อนตอนบนในจีนมานับสิบกว่าปีแล้ว

นายสมศักดิ์ กงสี ตัวแทนบ้านโคกกว้าง อ.บุ่งคล้า จ.บึงกาฬ กล่าวว่า ทุกวันนี้น้ำโขงขึ้นลงผิดปกติ น้ำขึ้น 10 วัน ลง 7 วัน ไม่แน่นอน นับตั้งแต่ที่เกิดน้ำท่วมสูงในหน้าแล้งปี 2556 ชาวบ้านก็เข็ดขยาด ไม่กล้าลงทุนปลูกพืชผักริมโขง แต่เมื่อ 1-2 ปีที่ผ่านมา ชาวบ้านเห็นว่ามีหาดทรายเกิดขึ้นอีก ในพื้นที่ ต.บุ่งคล้า เป็นหาดทรายขนาดใหญ่กลางน้ำโขงที่อยู่ใกล้ฝั่งไทย มีชาวบ้านได้ลงไปปลูกผักอีกรอบ แต่น้ำท่วมก็ซ้ำรอยเช่นเดิม ปกติแล้วน้ำโขงไหลไปสู่ที่ไหน ก็จะพาแร่ธาตุไปด้วย เมื่อน้ำลด ดินตรงนั้นก็ปลูกพืชได้งาม แต่หากท่วมขังนานเกินไปพืชต่างๆ ก็จะเสียหาย ต้นไม้ล้มตาย

“ที่น่าเป็นห่วงคือ เมื่อน้ำท่วมไม่มีหน่วยงานใดมาชดเชย และแต่ละหน่วยงานก็ปฏิบัติงานไม่สอดคล้องกัน นโยบาย กรณีน้ำท่วมที่มาจากน้ำโขงก็ไม่เคยมีระบุไว้ เป็นสภาวะที่คนริมโขงต้องเผชิญต่อไปอีก”นายสมศักดิ์ กล่าว

Advertisement

นางสุภาพร ทีหอคำ ชาวบ้านริมแม่น้ำโขงกล่าวว่า เดิมครอบครัวตนเองก็ทำเกษตรริมโขง ทั้งปลูกถั่วลิสงและกะหล่ำปลี ขายได้วันละ 2,000 – 3,000 บาท แต่เมื่อเขื่อนระบายน้ำมาท่วม เกษตรเสียหายหมด ไม่มีรายได้เลย เราเองไม่เคยได้ประโยชน์อะไรจากเขื่อนเลย จนตอนนี้เลิกปลูกไปแล้ว ทุกวันนี้เน้นปลูกข้าวและปลูกพืชสวนครัวไว้กินเองเท่านั้น ปีที่ผ่านมา น้ำท่วมหนักเพราะระดับน้ำโขงหนุนเข้าไปในลำห้วย แม้นาและสวนจะไม่อยู่ติดกับริมแม่น้ำโขง ทำให้สวนมะพร้าวน้ำหอมที่ปลูก กล้วย มะม่วง ไม้ผลต่าง ๆ นาข้าว เสียหายทั้งหมด ช่วงนั้นวัวควายที่เลี้ยงก็แทบจะพาหนีน้ำไม่ทัน ส่วนเป็ดไก่ นับร้อยที่เลี้ยงไว้ก็ตายหมด ถูกพัดพาไปกับน้ำหมด พวกตนติดตามข่าวจึงรู้ว่าเขื่อนน้ำงึมปล่อยน้ำลงมา หลังจากเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อยแตก

นายประดิษฐ์ สีหานาม คนหาปลาบ้านต้าย ต.นากั้ง อ.ปากคาด จ.บึงกาฬ กล่าวว่า บ้านต้ายมีเรือหาปลาทั้งหมด 60-70 ลำ เป็นคนหาปลาทั้งผู้หญิงและผู้ชาย ระบบนิเวศสำคัญของหมู่บ้านคือ มีแก่งหินขนาดใหญ่เรียกว่า แก่งอาฮอง และเป็นปากแม่น้ำใหญ่ทางฝั่งสปป.ลาว ทำให้พื้นที่อุดมสมบูรณ์มาก แต่ละปีชาวบ้านจับปลาได้มากซึ่งเป็นอาชีพ ปีที่ผ่านมาแม้จะไม่ถูกน้ำท่วมหมู่บ้าน เพราะพื้นที่อยู่สูง แต่ก็พบว่า ระดับน้ำเปลี่ยนแปลงไปมาก ไม่เป็นไปตามฤดูกาล ปลาก็สับสน คนก็สับสนเพราะปลาไม่ขึ้นมาตรงกับช่วงเวลาเดิม ๆ อย่างที่เคยเป็น เราทำปฏิทินไว้ตลอด ตอนนี้ก็ไม่ตรงแล้ว เช่นเดือนธันวาคม-กรกฎาคม จะเป็นปลาเอินอพยพขึ้นมา เดิมที่หมู่บ้านเคยจับปลาเอินได้ปีละ 2-3 รถกระบะ แต่ละตัวก็ขนาด 10 กิโลกรัมขึ้นไป และช่วงนี้ (เดือนเมษายน -พฤษภาคม) เป็นช่วงปลาไนขึ้น เพราะจะขึ้นมาวางไข่บนหาดตามแหล่งเทา(สาหร่าย) แต่ปีนี้หาไม่ได้เลย เพราะไม่มีทั้งหาดและเทา คนหาปลาตั้งข้อสังเกตว่า นอกจากการขึ้น-ลงของน้ำเพราะว่ามีเขื่อนทางต้นน้ำแล้ว พื้นที่ตำบลนากั้บยั มีการดูดทราย ทำให้ส่งเสียงดังและความสั่นของเครื่องยนต์ทำให้ปลากลัว ว่ายหนีแตกออกไปทำให้ชาวบ้านหมดทางหา

Advertisement

นางสาว ส.รัตนมณี พลกล้า ทนายความมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน ทนายความในคดีเขื่อนไซยะบุรีกล่าวว่า การลงพื้นที่ครั้งนี้การเก็บข้อมูลเพิ่มเติมต่อการเปลี่ยนแปลงในรอบปีที่ผ่านม เนื่องจากว่าเป็นช่วงที่เขื่อนไซยะบุรีเริ่มทดลองการผลิตกระแสไฟฟ้าตั้งแต่เดือนตุลาคม 2561 และมีรายงานข่าวว่าได้ส่งไฟฟ้าขายให้ กฟผ. จำนวน 175 เมกะวัตต์ ตั้งแต่มีนาคมที่ผ่านมา การลงพื้นที่ครั้งนี้ก็เพื่อสอบถามข้อมูลการเปลี่ยนแปลงและผลกระทบต่อชุมชนที่อยู่ริมฝั่งน้ำโขง และเพื่อเพิ่มเติมข้อมูลเกี่ยวกับการพัฒนาบนแม่น้ำโขงและความคืบหน้าของคดีไซยะบุรีต่อผู้ฟ้องคดี 37 รายที่อยู่ใน 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง รวมถึงทางเครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง ได้ร่วมกันวางแผนเพื่อที่จะติดตามตามและบันทึกผลกระทบข้ามพรมแดน เพื่อเป็นหลักฐานสำคัญก่อนและหลังของการสร้างเขื่อนไซยะบุรี ซึ่งกรณีข้อมูลผลกระทบก่อนการก่อสร้างเขื่อนไซยะบุรี เราพบว่าชุมชนมีการรวบรวมข้อมูลไว้บางส่วนแล้ว ดังนั้นต่อไปคือ แต่ละชุมชนจะต้องมีการเก็บรวบรวมข้อมูลความเสียหายที่จะเกิดขึ้นหลังการมีเขื่อนแล้ว เพื่อเป็นหลักฐานสำคัญในการเรียกร้องให้มีการแก้ไขผลกระทบและเพื่อการพิสูจน์ต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image