6ปัจจัยกดเศรษฐกิจไทย ม.หอการค้าไทย หั่นจีดีพีปี62เหลือ3.5%

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ศูนย์พยากรณ์ฯได้ปรับประมาณการการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(จีดีพี)ทั้งปี 2562 จาก 3.8% เหลือ 3.5% ผลจากปัจจัยลบ 6 ประเด็น ได้แก่ 1. สงครามการค้าสหรัฐฯ-จีนมีแนวโน้มยืดเยื้อกว่าที่เคยคาดเอาไว้ 2. เศรษฐกิจจีนประสบปัญหาชะลอตัวกว่าที่เคยคาดเอาไว้ 3.ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกทำให้ค่าเงินบาทมีแนวโน้มผันผวน 4.ความไม่แน่นอนทางการเมืองอาจส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติ 5.หนี้เสีย (NPL)ของสถาบันการเงิน และการเพิ่มความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ 6.ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ในตะวันออกกลางทำให้ราคาน้ำมันดิบโลกปรับตัวเพิ่มขึ้น

นายธนวรรธน์ กล่าวว่า การประเมินจีดีพีขยายตัว 3.5% จากสมมุติฐาน จีดีพีภาคเกษตรขยายตัว2.0% จาก 2.6% จีดีพีนอกภาคเกษตร ขยายตัว 3.9% จาก 4.1% การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนขยายตัว 4.1% จาก 5.2% การอุปโภคบริโภคภาครัฐขยายตัว 2.4 % จาก1.5% การลงทุนรวมขยายตัว 3.9% จาก 4.2% มาจากการลงทุนภาคเอกชนขยายตัว 3.4% จาก 3.8% การลงทุนภาครัฐขยายตัว 5.4 % จาก 5.1% การส่งออกสินค้าขยายตัวหดตัวเหลือ 0.5 % จาก 3.9 % การนำเข้าสินค้า -1.4 % จาก 8.7% สัดส่วนดุลการค้าต่อจีดีพี 2.4 % จาก 1.8% สัดส่วนดุลบัญชีเดินสะพัดต่อจีดีพี 7.0% จาก 6.6% อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเท่าเดิมคือ 0.8%

” มีความเป็นได้ 60% ที่เศรษฐกิจไทยปีนี้โตเหลือ 3.5% จากช่วงครึ่งปีแรกโต 3.2% ภายใต้สมมติฐานหากสหรัฐฯและจีนไม่ปรับภาษีเพิ่มขึ้นเพื่อตอบโต้กันมากกว่าระดับปัจจุบัน ทำให้การส่งออกไทยเหลือโตเพียง 0.5% รวมทั้งการเมืองไทยมีรัฐบาลใหม่ที่มีเสถียรภาพ ซึ่งการทำให้การส่งออกไทยโต 0.5% ส่งออกต้องมีมูลค่าเฉลี่ยต่อเดือนกว่า 21,250 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะปี 2561 การส่งออกเฉลี่ยต่อเดือนอยู่ที่ 2 หมื่นเล็กน้อย หากสถานการณ์ที่เทรดวอร์มีแนวโน้มยืดเยื้อถึงเดือนมิถุนายนหรืออาจลากถึงสิ้นปีนี้ จะมีความเสี่ยงสูงขึ้นอาจทำให้การส่งออกไทยลดลงเหลือ 19,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ/เดือน ตัวเลขส่งออกจะลดลงมากกว่า 0.5% ซึ่งเคยเกิดขึ้นแล้วในช่วงเศรษฐกิจโลกชะลอตัวหนัก ส่วนที่จะพยุงเศรษฐกิจคือการลงทุนภาครัฐ การลงทุนภาคเอกชน การบริโภคภาคในประเทศ ” นายธนวรรธน์ กล่าว

นายธนวรรธน์ กล่าวว่า แต่อย่างไรก็ตาม หากสงครามการค้าสหรัฐและจีนรุนแรงกว่าปัจจุบัน อาจทำให้การส่งออกติดลบ 2.2% การนำเข้าติดลบ 4% การเมืองไทยขาดเสถียรภาพ กระทบความเชื่อมั่น จะทำให้จีดีพีลดเหลือ 3.3% ซึ่งมีโอกาสเกิดขึ้น 25% แต่หากครึ่งปีหลังสงครามการค้าไม่ได้รุนแรงมากขึ้นหรือผ่อนคลายมากขึ้น ดีต่อการส่งออกไทยโตได้ 2.4% นำเข้าเพิ่ม 0.4% จะทำให้จีดีพีโตได้ 3.7% ซึ่งมีโอกาสเกิดขึ้นแค่ 15% นอกเหนือจากผลกระทบจากสงครามการค้าโลกแล้วสถานการณ์เงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นและสูงกว่าประเทศคู่แข่ง ยิ่งทำให้ความสามารถในการส่งออกของไทยลดลง เป็นเรื่องที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ต้องดูแลและบริหารเงินบาทแข็งค่ากว่าประเทศคู่แข่ง น่าจะเป็นประโยชน์ต่อการส่งออกและเศรษฐกิจไทย ซึ่งอัตราที่เหมาะสมและทรงตัวควรอยู่ระดับ 32 บาทต่อเหรียญสหรัฐฯ

Advertisement

นายธนวรรธน์ กล่าวว่า ขณะที่การส่งออกดูไม่สดใสมากนัก มองว่าภาคการท่องเที่ยวจะเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจต่อไป เพราะชนชั้นกลางไม่ได้รับผลกระทบในปัจจัยเสี่ยงมากนัก และยังมีศักยภาพสามารถเดินทางมาเที่ยวไทยได้อยู่ แต่รัฐบาลต้องมีการกระตุ้นภาคการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น อาทิ การส่งเสริมการท่องเที่ยวในเมืองรอง การขยายมาตรการฟรีวีซ่า และการดูแลความปลอดภัยให้แก่นักท่องเที่ยว ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะช่วยสนับสนุนให้การท่องเที่ยวไทยเติบโตเพิ่มขึ้นได้ โดยเป้าหมายการท่องเที่ยวที่จะสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยได้ 40 ล้านคน น่าจะสามารถบรรลุเป้าหมายได้ เพราะขณะนี้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.)ยังคงเป้าหมายการท่องเที่ยวไว้เท่าเดิม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image