บทนำ 20 พ.ค.62 : สรรหารัฐมนตรี

สัปดาห์นี้มีวาระสำคัญทางการเมืองนั่นคือ การเปิดสมัยประชุมรัฐสภา ซึ่งหลังจากนั้นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาจะเลือกประธานของสภาตัวเอง ขณะเดียวกันสมาชิกทั้งสองสภาจะทำหน้าที่ลงคะแนนเลือกนายกรัฐมนตรี เพื่อไปสรรหาบุคคลมาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีตามกระทรวงต่างๆ ต่อไป ซึ่งขณะนี้มีกระแสข่าวอยู่ตลอดเวลาว่าแต่ละพรรคการเมืองที่มีโอกาสเข้าร่วมรัฐบาลต่างมุ่งมั่นที่จะได้กระทรวงดีๆ เอาไปบริหาร ล่าสุด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีในบัญชีของพรรคพลังประชารัฐก็แสดงความเห็นว่าพรรคแกนนำรัฐบาลควรจะเป็นผู้ดูแลกระทรวงเกี่ยวกับความมั่นคง ทั้งกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงกลาโหม ขณะที่มีกระแสข่าวว่าพรรคพลังประชารัฐยังต้องการบริหารกระทรวงการคลังและกระทรวงคมนาคมด้วย

ในระหว่างการต่อรองเพื่อแบ่งโควต้ากระทรวงซึ่งคาดว่าจะยังไม่แล้วเสร็จ อยากจะให้คำนึงถึงภารกิจที่รัฐมนตรีแต่ละกระทรวงต้องเข้ามาแบกภาระ โดยเฉพาะกระทรวงทางเศรษฐกิจที่ต้องรับมือกับภาวะเศรษฐกิจ ทั้งนี้ หากมองดูสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน พบว่าแนวโน้มเศรษฐกิจไทยตกวูบ การเติบโตทางเศรษฐกิจชะงัก ล่าสุดศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยระบุว่า เศรษฐกิจไทยมีปัจจัยลบ 6 ประการ คือ สงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกา สถานการณ์ในตะวันออกกลางมีผลทำให้ราคาน้ำมันดิบสูงขึ้น เศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัว หนี้เสียของธนาคารพาณิชย์ที่ทำให้ต้องเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อ ค่าเงินบาทผันผวน และความไม่แน่นอนทางการเมือง โดยสถานการณ์เช่นนี้ต้องการมืออาชีพเข้ามาดูแล

ดังนั้น บุคคลที่พรรคการเมืองจะเลือกไปทำหน้าที่รัฐมนตรีในกระทรวงต่างๆ โดยเฉพาะกระทรวงเศรษฐกิจ จำเป็นต้องเป็นผู้มีความรู้ มีประสบการณ์ และมีความสามารถ การทำงานของรัฐมนตรีกระทรวงแต่ละกระทรวงทั้งรัฐมนตรีว่าการและรัฐมนตรีช่วยว่าการ จำเป็นต้องสอดคล้องผสมผสาน เพื่อผลักดันผลงานออกมาเป็นรูปธรรม เรื่องเหล่านี้หากตระเตรียมกันตั้งแต่ต้น เมื่อรัฐบาลใหม่เริ่มดำเนินงานก็จะช่วยให้การบริหารเป็นไปด้วยความราบรื่น รัฐบาลมีผลงานเป็นรูปธรรม ประชาชนอยู่ดีมีสุข แต่ถ้าได้รัฐมนตรีที่มีคุณสมบัติตรงกันข้ามก็ถือเป็นโชคร้ายของประเทศและประชาชน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image