กสทช.​ รับฟังข้อเสนอก่อนประมูลคลื่น700  ชี้ไม่มีประมูลก็ไม่มีเงินช่วยทีวีดิจิทัล  

ที่​โรงแรมสุโกศล​ กรุงเทพฯ​ นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการสำนักงานกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวระหว่างการเป็นประธาน​เปิดการรับฟังความคิดเห็นสา​ธารณะร่างประกาศสำนักงาน​ กสทช.​ เรื่องการอนุญาตให้ใช้ความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมย่าน​ 703-733  และย่าน​ 758-788 เมกะเฮิรตซ์​ ว่า​ ​ เพื่อให้เกิดความโปร่งใส และยกร่างประกาศให้มีความสมบูรณ์มากขึ้น โดยให้ทุกภาคส่วนตรวจสอบร่างประกาศอย่างเต็มที่ ซึ่งสิ่งใดที่สามารถนำไปแก้ไขได้จะนำไปดำเนินการ แต่ถ้าข้อเสนอแนะไม่เป็นประโยชน์กับประเทศชาติ​ ทางกสทช.คงไม่ได้สามารถแก้ไขให้ได้​

“เรื่องของราคาการเปิดประมูลคลื่น​ 700​ เมกะเฮิรตซ์​ ที่โอเปอร์เรเตอร์​ มองว่ามีราคาที่สูงเกินจริงนั้น​ ทางกสทช.จะนำเรื่องนี้ไปพิจารณาอีกครั้ง​ โดยจะดำเนินการให้เกิดผลกระทบต่อประเทศน้อยที่สุด​ เพราะถ้าในวันที่​ 19​ มิถุนายน​นี้​ ไม่มีเอกชนยื่นคำขอรับใบอนุญาตใช้คลื่นความถี่ 700 ​เมกะเฮิรตซ์​ จะส่งผลกระทบต่อเงินที่จะนำไปช่วยเหลือทีวีดิจิทัล​ทันที ” นายฐากร กล่าว

นายจักรกฤษณ์ อุไรรัตน์ บริษัท ทรูมูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด กล่าวว่า คำสั่งม.44 ของคณะรักษา​ความสงบ​แห่งชาติ​ (คสช.)​ ที่ออกมาจะหมดความหมายหากไม่มีผู้ประกอบการโทรศัพท์มือถือเข้ารับการจัดสรรคลื่น 700​ เมกะเฮิรตซ์​ และก็จะไม่มีเงินนำไปช่วยเหลือดิจิทัลทีวีจะเป็นเหมือนปราสาททรายที่มีแนวคิดสวยงามแต่สุดท้ายก็พังลง โดยส่วนตนมองว่าราคาที่ตั้งขึ้นนี้​ เป็นราคาที่สูงที่สุดในโลก

“ ราคาที่ออกมา 17,584 ล้านบาท กสทช.คิดจากต้นทุนเต็ม 100% แต่ไม่ได้มองว่าผู้ประกอบการสมารถใช้ได้ครบ 100% เพราะอย่างที่ผู้ประกอบการรายอื่น​ ได้ให้ความกังวลว่าคลื่น 700​ เมกะเฮิรตซ์​ นี้ยังมีปัญหาเรื่องคลื่นรบกวนจากต่างประเทศในบริเวณชายแดน เพราะประเทศเพื่อนบ้านยังมีการใช้งานคลื่น 700​ เมกะเฮิรตซ์​ สำหรับอุตสาหกรรมโทรทัศน์ ดังนั้น ควรเอาปัจจัยการรบกวนของคลื่นความถี่มาหักลบอยู่ในราคาประมูลด้วย “

Advertisement

นายนฤพนธ์ รัตนสมาหาร ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานรัฐกิจสัมพันธ์ บมจ.บริษัท​ โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น​ มหาชน​ (จำกัด)​ หรือ​ ดีแทค กล่าวว่า ดีแทคเป็นโอเปอเรเตอร์รายหนึ่งที่ยื่นขอให้รัฐบาลช่วยขยายระยะเวลาในการชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตคลื่น 900 เมกกะเฮิรตซ์​ เป็นการรวมจ่ายทั้งสิ้น 10 งวด แต่ไม่ได้บอกว่าจะเข้าซื้อคลื่นความถี่ใดๆ

นายนฤพนธ์  กล่าวว่า เรื่องการยื่นขอรับใบอนุญาต​ใช้ความถี่​ 700​ เมกะเฮิรตซ์​ ไม่ได้เข้าบอกว่ากสทช.ต้องมัดมือชกบังคับโอเปอเรเตอร์ต้องซื้อคลื่นฯ​ แต่ทาง​ ดีแทค​ ขอให้กสทช.ทบทวนราคาและระยะเวลาจัดสรรให้เหมาะสมกว่านี้ และควรกำหนดเวลามาให้ตายตัวเลยว่าหากเข้ารับการจัดสรรและจะได้รับใบอนุญาตเมื่อไร หรือเป็นวันที่ 1 ต.ค. 2563 ตามนั้นเลยหรือไม่

นายสุเทพ เตมานุวัตร์ หัวหน้าฝ่ายงานธุรกิจสัมพันธ์และพัฒนา บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ท เวอร์ค จำกัด (เอดับเบิ้ลยู​เอ็น) ในเครือเอไอเอส​ กล่าวว่า การเปิดจัดสรรคลื่น​ 700​ เมกะเฮิรตซ์​ครั้งนี้ ทุกฝ่ายทราบดีว่าการไปสู่ 5G​ จะไม่สามารถไปได้ด้วยคลื่นความถี่เพียงย่านเดียว ซึ่งโรดแมปของกสทช.​ ได้มีการพูดถึงการประมูลคลื่นในย่านอื่น​ ๆ​ เพิ่มเติมในปลายปีนี้ถึงปีหน้า ดังนั้น ราคาคลื่น 700 เมกะเฮิรตซ์​ ที่ออกมาจำเป็นต้องมองถึงอีโคซิสเต็มส์ของการมีคลื่นความถี่อื่นในอนาตคมารวมด้วย

Advertisement

“ในการใช้งาน 5G​ ไม่ได้ใช้งานโดยเฉพาะอย่างเช่นกับลูกค้าทั่วไปแต่จะส่งผลดีกับภาคอุตสาหกรรม ดังนั้น สมการคำนวณราคาคลื่นความถี่ต้องมองที่การใช้งานของผู้บริโภคเป็นหลัก ไม่ใช่การให้ราคามาเป็นตัวตั้งเพียงอย่างเดียว อีกทั้ง ปัญหาเรื่องคลื่นรบกวนที่มีมาตลอดซึ่งกสทช.ควรมีการจัดสรรงบประมาณสำหรับกันคลื่นที่จะมาป้องกันปัญหาคลื่นรบกวน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากนี้​ ทาง​ กสทช.จะนำข้อเสนอแนะที่ได้ไปพิจารณา และจะมีการสรุปผลในสัปดาห์​หน้า​ ถ้ามีการปรับแก้เงื่อนไข​ จะประกาศให้ทราบในวันต่อไป​ ก่อนที่จะมีการเสนอข้อเสนอแนะดังกล่าวให้บอร์ด​ กสทช.​ พร้อมทั้งจะมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา​ ลงเว็บไซต์​ของกสทช.​ ก่อนที่จะเปิดเอกชนยื่นคำขอรับใบอนุญาตใช้คลื่นความถี่ 700 ​เมกะเฮิรตซ์​ ในวันที่​ 19​ มิถุนายน​นี้​ต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image