ส่อง5แนวคิด “รุกเกมใหม่ เปลี่ยนอนาคต”

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เปิดเผยในงานสัมมนา “Game Changer Part2 เกมใหม่ เปลี่ยนอนาคต” จัดโดยหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ที่โรงแรม ดิ แอทธินี โฮเทล แบ็งค็อก (เพลินจิต) วันที่ 22 พฤษภาคม ว่า โครงการอีอีซีเป็นเกมเชนเจอร์ของไทย มีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ 5 โครงการ มูลค่ากว่า 6.5 แสนล้านบาท ซึ่งอีอีซีจะเป็นแหล่งสะสมการลงทุนและพัฒนานวัตมกรรม ทำให้การลงทุนของไทยกลับมาเติบโตจากที่เคยติดลบ โดยไตรมาสแรก 2562 เติบโตกว่า 4.4% คาดหวังจะผลักดันการลงทุนไปถึง 10% ในอนาคต คนไทยได้ประโยชน์สร้างงานในอีก 5 ปีข้างหน้ากว่า 4.75 แสนตำแหน่ง

นายคณิศ กล่าวว่า อีอีซีจะเป็นต้นแบบพื้นที่อื่นๆ ของประเทศนำไปพัฒนาโมเดลเดียวกันได้ เช่น ขอนแก่น เชียงใหม่ ภูเก็ต และพัฒนาร่วมกับจังหวัดรอบ ๆ แต่จะทำหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับรัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามาสานต่อ ทั้งนี้ ภาพต่อไปพื้นที่อีอีวีจะเชื่อมโยงเป็นพื้นที่เดียวกับกรุงเทพฯ เหมือน นิวยอร์ก-นิวเจอร์ซีย์ โตเกียว-โยโกฮาม่า โซล -อินชอน ทำให้กรุงเทพฯ น่าอยู่และมีพื้นที่ให้ธุรกิจใหม่เติบโต จะเป็นการผลักดันไทยขึ้นมาอยู่ฟรอนเทียร์ในภูมิภาค

นายคณิศ กล่าวว่าความคืบหน้าการลงทุนในอีอีซี โครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด เฟส 3 ได้เสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)แล้วเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคมที่ผ่านมา ซึ่งครม. รับทราบโครงการแต่อยากให้กลับไปเจรจากับกลุ่มกิจการร่วมค้ากัลฟ์และพีทีที แทงค์ เกี่ยวกับการจ่ายผลตอบแทนของรัฐให้กับเอกชนในส่วนของการถมทะเล 1,000 ไร่ มูลค่า 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งตามกรอบเดิมที่จะจ่ายคืนให้เอกชนตามสัยญา 30 ปี ปีละ 500 ล้านบาท ภายใต้ดอกเบี้ย 2.5% เป็นดอกเบี้ยอ้างอิงจากสำนักงบประมาณ แต่จากการศึกษาของบริษัทที่ปรึกษาพบว่าอัตราดอกเบี้ยเอกชนไม่สามารถกู้ได้จริงซึ่งอัตราที่เหมาะสมควรอยู่ระดับ 5-6% และได้ต่อรองดอกเบี้ยลงมาที่ 4.8% หรือปีละ 720 ล้านบาท

นายคณิศ กล่าวว่า จะมีการเสนอให้คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ในวันที่ 27 พฤษภาคมนี้ ก่อนที่จะเสนอให้ ครม.เห็นชอบในวันที่ 28 พฤษภาคม พร้อมกับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ก่อนที่จะมีการลงนามสัญญาต่อไป

Advertisement

“ตั้งใจจะผลักกดันโครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดเฟส 3 และโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ให้แล้วเสร็จก่อนมีรัฐบาลใหม่ ส่วนอีก 3 โครงการ ทั้งท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 สนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ศูนย์ซ่อมอากาศยานอู่ตะเภาจะพยายามให้จบภายในเดือนมิถุนายน แม้ว่าปัจจัยด้านต่างประเทศจะเผชิญกับสงครามการค้า แต่ด้านในประเทศยังแข็งแกร่งจากการลงทุนรองรับ” นายคณิศ กล่าว

นายพิพิธ เอนกนิธิ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า การขับเคลื่อนองค์กรไปสู่ดิจิทัลแต่ละองค์กรจะต้องเปิดรับเทคโนโลยีใหม่เข้ามาใช้และเปลี่ยนวิธีการทำงานเพื่อห้ได้ผลลัพธ์ที่ดีขึ้น เปลี่ยนค่านิยมในองค์กรให้เปิดรับและพร้อมปฏิบัติ รวมทั้งการหาพันธมิตรธุรกิจ ซึ่งไม่ว่าจะเป็นคู่ค้าคู่แข่งต้องสามารถทำงานร่วมกันได้ เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการออกมาตอบโจทย์ผู้บริโภค

นายพิพิธ กล่าวว่า สำหรับธนาคารกสิกรไทยตั้งเป้าหมายเป็นธนาคารอัจฉริยะ(ค็อกนิทีฟ แบงกิ้ง) โดยให้ความสำคัญกับ 3 เทคโนโลยีหลัก ได้แก่ 1.บล็อกเชน โดยธนาคารกสิกรไทยร่วมกับธนาคารพาณิชย์รวม 14 แห่ง จัดตั้งบริษัทไทยแลนด์บีซีไอ เพื่อให้บริการหนังสือค้ำประกัน(แอลจี)อิเล็กทรอนิกส์บนระบบบล็อกเชนเพิ่มความสะดวกรวดเร็วให้กับธุรกิจ ทดสอบอยู่ในศูนย์ทดสอบนวัตกรรมของธนาคารแห่งประเทศไทยและกำลังเปิดให้บริการเป็นการทั่วไปเร็ว ๆนี้

Advertisement

นายพิพิธ กล่าวว่า  2.ปัญญาประดิษฐ์(เอไอ) นำมาวิเคราะห์ข้อมูลต่าง ๆ และ 3.แมชชีนเลินนิ่ง โดยได้เริ่มนำใช้แมชชีนเลินนิ่งมาปล่อยกู้รายย่อย ล่าสุดได้ทดสอบปล่อยกู้ผ่านช่องทางออนไลน์(ดิจิทัลเลนดิ้ง) ผ่านโมบายแบงกกิ้งของธนาคาร หรือเคพลัส ทุกกระบวนการ ทั้งนี้จากเดิมลูกค้ามาขอสินเชื่อเป็นการนำเสนอสินเชื่อให้ลูกค้าที่คาดว่าจะต้องการสินเชื่อแทน เริ่มกับกลุ่มลูกค้าเก่าของธนาคาร พบว่า 5 วัน สามารถปล่อยกู้ได้ 200 ล้านบาท ซึ่งลูกค้าได้รับเงินเพียง 19 นาที และจะเริ่มให้บริการลูกค้าใหม่ช่วงปลายปีนี้

นายพิพิธ กล่าวว่า ผลกระทบจากสงครามการค้ากับธุรกิจธนาคารกสิกรไทยในจีน นั้น บริการธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ (สินเชื่อเทรดไฟแนนซ์) ขยายตัวลดลงตามปริมาณการค้าที่ลดลงและลูกค้าไม่ต้องการใช้วงเงิน อย่างไรก็ตาม ด้านกลยุทธ์สินเชื่อเทรดไฟแนนซ์จะเน้นเจาะกลุ่มธุรกิจที่จะไม่ได้รับผลกระทบจากโดยตรงจากสงครามการค้า ซึ่งยังมีหลายธุรกิจยังเติบโตทำให้สินเชื่อของธนาคารกสิกรไทยในจีนยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง แต่อย่างไรก็ตาม หากสถานการณ์ยืดเยื้อทุกธุรกิจจะได้รับผลกระทบทั้งหมดจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ซึ่งธนาคารต้องเตรียมปรับตัวรองรับด้วย

นางสาวศุภลักษณ์ อัมพุช ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด กล่าวว่า เดอะมอลล์กรุ๊ป ผ่านทั้งวิกฤตค่าเงินบาท วิกฤตการเมือง เหตุการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ และขณะนี้อยู่ในช่วงวิกฤตสงครามการค้า โดยต่อไปข้างหน้ายังคาดการณ์ไม่ได้ว่าจะเจอกับวิกฤตอะไรบ้าง แต่เชื่อว่าทุกวิกฤตมีโอกาสจึงทำให้เดอะมอลล์กรุ๊ปผ่านวิกฤตเหล่านั้นมาได้

นางสาวศุภลักษณ์ กล่าวว่า ภายใต้สถานการณ์ดิจิทัลดิสรัปชั่นทำให้การทำธุรกิจค้าปลีกต้องปรับตัวเพราะไม่ใช่เรื่องหมูๆ อีกต่อไป โดย 3 เรื่องสำคัญ คือ การปรับตัวให้เข้ากับยุคโลกาภิวัฒน์และใช้ดิจิทัล รวมทั้งมีการพัฒนานวัตกรรมใหม่นำมาใช้ในศูนย์การค้า การทำงานร่วมกับพาร์ทเนอร์ต่าง ๆทั้งในไทยและต่างประเทศ และการสนับสนุนภาคการท่องเที่ยว เพราะขณะนี้การส่งออกได้รับผลกระทบ แต่เชื่อว่าการท่องเที่ยวไทยยังเติบโตซึ่งไทยเป็นจุดหมายการท่องเที่ยวสำคัญแห่งหนึ่งของโลก

“ ท่องเที่ยวเป็นตลาดที่ใหญ่มาก โชคดีที่ไทยเป็นจุดหมายการท่องเที่ยวของโลก หากไม่มีเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองในช่วงที่ผ่านมาคาดว่าจำวนนักท่องเที่ยวต่างชาตจะทะลุไปมากกว่า 60-70 ล้านคนแล้ว จากปัจจุบัน 40 ล้านคน  หากรัฐบาลให้การสนับสนุนและมีการลงทุนสร้างแหล่งท่องเที่ยวหรือแหล่งกิจกรรมใหม่ ๆ เพราะประสบการณ์การท่องเที่ยวสมาร์ทโฟนไม่สามารถตอบโจทย์เหล่านี้ได้ ต้องไปสัมผัสเอง อย่างรัฐบาลสิงคโปร์ ที่มีการสร้าง มารีน่า เบย์ แซนด์ มีการ์เด้น บาย เดอะ เบย์ ดึงการแข่งขัน ฟอร์มูล่า 1 เข้ามา เพื่อดึงดูกนักท่องเที่ยวสร้างรายได้เข้าประเทศ ในส่วนของเดอะมอลล์กรุ๊ป ได้เป็นพันธมิตรกับเออีจี ผู้ประกอบธุรกิจบันเทิงและกีฬาระดับโลก ลงทุนพัฒนาแบ็งค็อก อารีน่า ให้เป็นอารีน่าระดับโลกแห่งใหม่ คาดว่าจะมีส่วนช่วยในการพัฒนาเศรษฐกิจ และยกระดับประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางธุรกิจความบันเทิง การท่องเที่ยวได้ และหากร่วมกันทั้งรัฐและเอกชนจำนวนนักท่องเที่ยวไทยคงไปถึง 80 ล้านคนได้ไม่ยาก” นายสาวศุภลักษณ์ กล่าว

นายสมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทพลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การทำธุรกิจต้องสามารถเปลี่ยนแปลงและพัฒนาได้ บริษัทจึงมองหาและสร้างโอกาสให้กับตัวเองมากขึ้น จากการสร้างมูลค่าธุรกิจเพื่อผลตอบแทนที่สูงขึ้น ที่ผ่านมาบริษัทมีการมุ่งพัฒนาธุรกิจมากมาย เช่น การทำธุรกิจไบโอดีเซล ธุรกิจพลังงานเเสงอาทิตย์และพลังงานลม นำปาล์ม นำมาพัฒนาไบโอดีเซล การพัฒนาแหล่งเก็บพลังงาน โดยมีโรงงานผลิตเเบตเตอรี่ขนาด 1 จิกกะวัตต์อาวร์ รวมทั้ง การพัฒนารถยนต์ไฟฟ้า เรือไฟฟ้า และล่าสุด บริษัอยู่ระหว่างพัฒนาระบบการจัดซื้อขายพลังานในอนาคต ที่ทำขายสู่ระดับภูมิภาค ซึ่งจะทำให้บริษัทเห็นข้อมูลเรียลไทม์ถึงดีมานด์การใช้ไฟในประเทศและต่างประเทศได้ เหล่านี้จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการไฟฟ้า และช่วยลดต้นทุนการใช้ไฟ การผลิตไฟฟ้าในที่สุด ซึ่งจะช่วยให้บริษัทสามารถแข่งขันได้ในระยะยาว เหล่านี้ไม่ใช่เพื่อตอบโจทย์เฉพาะคนในประเทศเท่านั้น แต่บริษัทต้องคิดใหม่ทำใหม่ หาโอกาสใหม่ในภูมิภาคด้วย ซึ่งทำให้ในระยะข้างหน้าธุรกิจพลังงานจะเป็นตัวที่ดึงเงินตราต่างประเทศเข้ามาในไทยได้ สิ่งเหล่านี้คือการทรานฟอร์มตัวเองเพื่อไปสุู่โอกาสใหม่ๆ เพื่อให้เราสามารถอยู่รอดได้

นายชานนท์ เรืองกฤตยา ประธานกรรมการบริหาร บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การบริหารองค์กรในอนาคต ผู้นำองค์กรจะไม่สามารถใช้การปกครองในรูปแบบทหาร ใช้การสั่งการและควบคุมได้เหมือนอดีต ผู้นำองค์กรหรือผู้ใหญ่ในองค์กรต้องรับฟังคนในองค์กร เพราะจะมีคนเจเนอเรชั่นใหม่ๆ เข้ามา การบริหารองค์กรต้องผสมผสานแต่ละเจเนอเรชั่นให้สามารถทำงานร่วมกันได้ ผู้ใหญ่ต้องทำตัวเป็นตัวเล็กแล้วฟังความคิดเห็น เพราะหากผู้ใหญ่ดื้อองค์กรก็ตาย ไม่สามารถปรับตัวได้ ดังนั้น การปรับองค์กรให้ทันสมัยและอยู่รอดในยุคดิจิทัลดิสรัปชั่นไม่เฉพาะการใช้เทคโนโลยีเท่านั้น เพราะเทคโนโลยีซื้อมา แล้วสามารถเรียนรู้ต่อยอดได้ ดังนั้น เรื่องสำคัญ คือ การปรับเปลี่ยนทัศนคติของคนในองค์กร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image