อภัยโทษ… โดย เฉลิมพล พลมุข

ความเป็นคนหรือมนุษย์เราในโลกนี้ชีวิตนอกจากจะดำรงด้วยปัจจัยสี่ทั้งอาหาร เสื้อผ้าที่อยู่อาศัย ความเจ็บป่วยที่ต้องได้รับการดูแลรักษาแล้ว พฤติกรรมหรือการแสดงออกทั้งกาย วาจา ใจในชีวิตประจำวันย่อมต้องมีความผิดพลาดหรือขาดตกบกพร่องเป็นสิ่งธรรมดาของชีวิต การละเมิดต่อประเพณี วัฒนธรรมความเชื่อ ศีลธรรมและกฎหมายของบ้านเมืองได้มีกฎกติกาของสังคมนั้นๆ ได้ให้นิยามถึงสิ่งที่ควร มิควร บุญ-บาป ถูกและผิดกฎหมายของบ้านเมืองไปในแต่ละระดับ

การกระทำความผิดที่ผิดต่อกฎหมายของบ้านเมืองในแต่ละประเทศก็มีบทบัญญัติแห่งการลงโทษไว้แต่ละระดับชั้นตั้งแต่ระดับเบาไปถึงสูงสุด อาทิ การจำคุกตลอดชีวิตหรือการประหารชีวิต ที่ถือว่าเป็นการลงโทษชั้นที่ต้องยุติปัญหาอาชญากรรมของอาชญากรคนนั้นๆ ผู้คนที่กระทำความผิดทั่วโลกทุกวันนี้มีความสลับซับซ้อนไปในสังคมของวัตถุนิยม บริโภคนิยม เงินนิยม ทุนนิยมรวมถึงอำนาจนิยม การกระทำความผิดบางกรณีก็เป็นไปในเรื่องถึงอุดมการณ์ ความคิด ความรู้ ความเชื่อ เราท่านจะพึงเข้าถึงระบบการกระทำความผิดในแต่ละฐานความผิดและบทบัญญัติของการถูกตัดสินลงโทษได้แค่ไหน เพียงไร

ในรัชสมัยของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ กรุงศรีอยุธยาได้มีบทบัญญัติกฎหมายหลายฉบับ อาทิ กฎหมายว่าด้วยการเทียบศักดินา กฎหมายลักษณะอาญาขบถศึก กฎหมายลักษณะอาญาหลวง กฎหมายว่าด้วยกฎมณเฑียรบาล กฎหมายลักษณะทาส กฎหมายลักษณะโจร กฎหมายลักษณะผัวเมีย ชีวิตและสังคมของผู้คนในอโยธยาศรีรามเทพนครในสมัยนั้นบ้านเมืองต้องผจญกับศึกสงคราม
ผู้ชายส่วนหนึ่งถูกเกณฑ์ให้ทำหน้าที่ในการรบเพื่อกู้บ้านเมือง ผู้คนส่วนหนึ่งก็ยังมีพฤติกรรมพื้นฐานที่คงท้าทายต่อระบบศีลธรรมและกฎหมายบ้านเมืองทั้ง การพนันขันต่อ ลัก วิ่ง ชิง ปล้น ฆ่าทำร้ายร่างกายซึ่งกันและมิได้แตกต่างไปจากสมัยปัจจุบัน

การลงโทษของผู้กระทำความผิดในสมัยกรุงศรีอยุธยาก็มีตั้งแต่ระดับชั้นเบาไปถึงชั้นที่ต้องทรมานหรือถึงแก่ความตาย อาทิ ต่อยกระบานศีศะ (กบาลศีรษะ) ให้เปิดออกแล้วเอาคีมคีบก้อนเหล็กแดงใส่ลงไป เอาขอเกี่ยวปากให้อ้าไว้แล้วให้ตามประทีปหรือดวงไฟไว้ในปาก เอาผ้าชุบน้ำมันพันทั่วร่างกายแล้วจุดไฟเผา เชือดเนื้อให้เป็นริ้วตั้งแต่คอไปถึงข้อเท้าแล้วให้ฉุดคร่าตีจำให้เดินไปกว่าจะตาย ให้เคี่ยวน้ำมันให้เดือดพลุ่งพล่านแล้วราดตั้งแต่ศีรษะจนกว่าจะตาย ให้กักขังสุนัขให้อดอาหารดุร้าย แล้วปล่อยให้สุนัขกัดกินจนเหลือแต่ร่างกระดูก และให้ตีด้วยตะบองสั้น ตะบองยาวจนกว่าจะตาย…

Advertisement

การลงโทษของผู้กระทำความผิดของเมืองไทยเราได้มีการแก้ไขปรับปรุงเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัยของบ้านเมืองมาตามลำดับ ในข้อเท็จจริงหนึ่งตัวเลขของผู้กระทำความผิดที่ถูกจองจำอยู่ในเรือนจำทั่วประเทศซึ่งมีตัวเลข ณ วันที่ 1 พฤษภาคม 2562 โดยแบ่งเป็นนักโทษเด็ดขาด เป็นผู้ชาย 280,191 คน ผู้หญิง 42,333 คน รวม 322,524 คน ในจำนวนนี้มีผู้ต้องขังระหว่างอุทธรณ์ฎีกา ไต่สวนพิจารณา สอบสวน เยาวชนที่ฝากขัง ผู้ถูกกักขัง ผู้ต้องกักขัง (correct.go.th)

จำนวนตัวเลขผู้ต้องราชทัณฑ์คดี พ.ร.บ.ยาเสพติดทั่วประเทศ โดยแบ่งเป็นนักโทษเด็ดขาดชาย 216,289 คน ผู้หญิง 35,489 คน รวม 251,778 คน เมืองไทยเราได้ชื่อว่าเป็นเมืองที่มีคนติดคุกตะรางเป็นลำดับที่ 5 ของโลกและมีผู้ต้องขังอันดับที่ 6 ของโลก เป็นลำดับที่ 3 ของเอเชียจากการจัดลำดับของ World Prison Brief ซึ่งรองจากจีนและอินเดีย ขณะที่พื้นที่อยู่อาศัยในเรือนจำรองรับจำนวนนักโทษเพียง 200,000 คน ก่อให้เกิดความแออัด เบียดเสียดของจำนวนนักโทษ รวมถึงการบริหารจัดการ อัตรากำลังของเจ้าหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยเคร่งครัด ปัญหาของจำนวนนักโทษที่เพิ่มขึ้นทุกๆ วัน การทำร้ายร่างกายกันระหว่างนักโทษ การหลบหนีการจองจำของนักโทษ การทำร้ายต่อเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ถึงบาดเจ็บและถึงชีวิตยังมีอยู่ในข้อเท็จจริง…

มีงานวิจัยหลายชิ้นที่ถูกนำเสนอในเรื่องของการแปรรูปเรือนจำในประเทศไทย กรณีศึกษาถึงให้มีเรือนจำเอกชนเพื่อแบ่งเบาภาระหน้าที่ของรัฐ เมื่อเดือนพฤษภาคมของปีที่แล้วเมืองไทยเราได้มีโครงการ “เรือนจำ-เอกชน MOU โครงการประชารัฐสร้างอาชีพใหม่ นักโทษ ปั้นแรงงานผู้ต้องขังกลับคืนสู่สังคม” โดยมีหกเรือนจำเป็นต้นแบบ อาทิ เรือนจำนครราชสีมา เรือนจำ
กลางคลองไผ่ ทัณฑสถานหญิงนครราชสีมา ทัณฑสถานเกษตรอุตสาหกรรมเขาพริก เรือนจำอำเภอสีคิ้ว และเรือนจำอำเภอบัวใหญ่ ซึ่งมีผู้ต้องขังที่อยู่ในการดูแลกว่า 17,000 คน โดยแบ่งงานออกเป็นแรงงานหนัก แรงงานฝ่ายผลิตและแรงงานหัตถกรรมซึ่งเป็นการเตรียมความพร้อมของผู้ต้องขังเพื่อไปประกอบอาชีพหลังจากการพ้นโทษที่ถูกจองจำ…

Advertisement

สังคมไทยเรามีสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นหนึ่งในสถาบันหลักของชาติมาเป็นเวลานาน คนไทยเราส่วนใหญ่ให้การเคารพนับถือเชิดชูต่อสถาบันพระมหากษัตริย์แม้กระทั่งด้วยชีวิต ในโอกาสที่เป็นเวลาที่รอคอยของเหล่าบรรดานักโทษที่ถูกจองจำอยู่ในเรือนจำทั่วประเทศก็มาถึงเมื่อในหลวงรัชกาลที่ 10 ที่พระองค์ท่านได้ครองราชย์และมีพระราชพิธีบรมราชาภิเษกที่ได้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 4-6 พฤษภาคม พ.ศ.2562 ที่ผ่านมา เราท่านบางคนที่สุขภาพมิได้เอื้ออำนวยต่อการไปเฝ้าฯรับเสด็จพระองค์ท่าน ก็ได้ติดตามถ่ายทอดสดในรายการโทรทัศน์อยู่ที่บ้านหลายๆ คนน้ำตาไหลออกมาอย่างมิรู้ตัวที่ว่า เมืองไทยเราเป็นเมืองแห่งความสุขหนึ่งที่เมืองประเทศต่างๆ ทั่วโลกไม่มีสิ่งที่ดีงามเท่าเมืองไทยเรา

พระราชกฤษฎีกา พระราชทานอภัยโทษที่ได้ประกาศในหน้า 1 เล่ม 136 ตอนที่ 59 ก เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ.2562 มีทั้งหมด 20 มาตรา ในมาตรา 5 ผู้ต้องโทษต่อไปนี้ให้ได้รับพระราชทานอภัยโทษปล่อยตัวไป (1) ผู้ต้องกักขัง (2) ผู้ทำงานบริการสังคมหรือทำงานสาธารณประโยชน์แทนค่าปรับ

(3) ผู้ได้รับการปล่อยตัวคุมประพฤติ และในมาตรา 6 (1) ผู้ต้องจำคุกไม่ว่าในกรณีความผิดคดีเดียวหรือหลายคดี ซึ่งมีโทษจำคุกตามกำหนดโทษที่จะต้องได้รับต่อไปเหลืออยู่ไม่เกินหนึ่งปีนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกานี้บังคับ (2) เป็นผู้พิการตาบอดทั้งสองข้าง มือเท้าด้วนทั้งสองข้าง เจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรัง ไตวายเรื้อรัง มะเร็ง โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง (โรคเอดส์) โรคจิต เป็นผู้หญิงซึ่งต้องโทษจำคุกเป็นครั้งแรก

เป็นคนที่มีอยู่ไม่ต่ำกว่าหกสิบปีบริบูรณ์ เป็นผู้ต้องโทษจำคุกเป็นครั้งแรกมีอายุยังไม่ครบยี่สิบปีบริบูรณ์และนักโทษเด็ดขาดชั้นเยี่ยม…

ในเรือนจำกลางจังหวัดนครพนมที่มีผู้ต้องขังกว่า 4,500 คน ในจำนวนนี้มีผู้ต้องขังกว่าสองพันคนได้ร่วมแปรอักษรถวายพระพรเป็นอักษรตัวเลขไทย เป็นตัวหนังสือ ทรงพระเจริญที่สื่อถึงความจงรักภักดีและน้อมถวายพระพรแด่ในหลวงรัชกาลที่ 10 และจะมีพิธีปล่อยตัวผู้ที่ได้รับอภัยโทษในวันที่ 8 พฤษภาคม 2562 จำนวน 100 คนเพื่อให้เขาได้ไปเป็นคนดีของสังคม ขณะเดียวกันที่เรือนจำจังหวัดตรัง ก็มีผู้ต้องกักขังได้รับการปล่อยตัวในจำนวน 41 คน ซึ่งถือว่าเป็นพระมหากรุณาธิคุณที่ได้มีการพระราชทานอภัยโทษมากเป็นประวัติศาสตร์ของชาติไทย…(มติชนรายวัน 9 พฤษภาคม 2562 หน้า 8)

ช่วงวันเวลาที่ผ่านมาในชีวิตของผู้เขียนได้รับเชิญให้ไปเป็นวิทยากรบรรยายบางหัวข้อเรื่องที่สำคัญในเรือนจำอยู่บ่อยครั้ง ข้อสังเกตหนึ่งสำคัญยิ่งก็คือระบบรักษาความปลอดภัยที่เข้มงวดและเคร่งครัดของเจ้าหน้าที่ต่อบุคคลภายนอกและระเบียบปฏิบัติของนักโทษที่จะต้องปฏิบัติโดยเคร่งครัดเช่นกัน ภาพที่เห็นต่อหน้าการบรรยายก็คือจำนวนนักโทษที่นั่งเรียงรายอยู่เป็นจำนวนมาก สภาพรูปร่างหน้าตาร่างกายหลายๆ คนรู้สึกวิตกกังวลถึงการได้รับอิสรภาพของชีวิต ความคิดถึงครอบครัวลูกเมียสามีภรรยาญาติพี่น้อง กิจกรรมด้านประเพณี วัฒนธรรม ศาสนารวมถึงการปลุกจิตสำนึกถึงการเป็นคนดีกระทำความดีต่อประเทศชาติบ้านเมืองหลังการพ้นโทษ มีการบรรยาย อธิบาย ปรับความเข้าใจทั้งด้านจิตวิทยา บริการสังคมเพื่อให้เขาเหล่านั้นได้เป็นคนดี…

จำนวนตัวเลขผู้ต้องขังที่จะได้รับพระราชทานอภัยโทษทั่วประเทศในครั้งนี้คาดว่าจะอยู่ในตัวเลขประมาณ 4-5 หมื่นคน พระเมตตาและพระมหากรุณาธิคุณของในหลวงรัชกาลที่ 10 อาจจักรวมถึงงานของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชร
กิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี ที่พระองค์ท่านได้ทรงงานเกี่ยวกับระบบกฎหมาย และเสด็จไปเยี่ยมเยียนนักโทษในเรือนจำต่างๆ อยู่บ่อยครั้ง ได้มีโครงการให้กำลังใจในพระดำริ ได้ทรงนำเข้าหน้าที่ UN ได้ดูงานการสร้างชีวิตใหม่ให้กับผู้ต้องขังหญิง และการนำศาสตร์ของพระราชามาพัฒนาผู้ต้องขังในการตั้งศูนย์เรียนรู้เกษตรอุตสาหกรรมในเรือนจำรวมถึงเปิดโครงการเพื่อผู้ต้องขัง “ธรรมด้วยพัชรธรรมฯ”

ด้วยเจตนารมณ์ในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่านในหลวงรัชกาลที่ 10 ที่ต้องการให้อดีตนักโทษในตัวเลขดังกล่าวได้กลับสู่สังคมและเป็นคนดีที่จะช่วยกันพัฒนาชาติบ้านเมืองในวันข้างหน้า ข้อเท็จจริงหนึ่งจากสังคมที่มีความเป็นห่วงและวิตกกังวลที่ว่า ชีวิตของเขาเหล่านั้นจักเป็นที่ยอมรับของครอบครัว สังคม เพื่อนๆ หลังจากพ้นโทษด้วยใจพร้อมที่จะให้อภัยต่อทั้งการกระทำความผิดของกฎหมาย หรือบางคนก็อาจจะอยู่ในกรณีของนักโทษที่เป็นแพะรับบาป การได้รับโอกาสจากสังคมเป็นสิ่งสำคัญยิ่งหากทุกๆ คนมีระบบความคิดที่ว่า ชั่วเจ็ดที ดีเจ็ดหน แม้กระทั่งองคุลีมาลยังกลับใจมาปฏิบัติธรรมจนกระทั่งบรรลุธรรม

ผู้ที่ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำทั่วประเทศของเมืองไทยเราในขณะนี้ก็มีอยู่ในหลากหลายสถานภาพทั้งอดีตพระภิกษุที่มีชื่อเสียง นักการเมือง ข้าราชการในระดับสูง นักธุรกิจ นักโทษต่างชาติ รวมไปถึงประชาชนคนทำงานเด็กและเยาวชนของชาติที่ต้องคดีทั้งการทะเลาะวิวาท ยาเสพติดที่เป็นยุวอาชญากรรุ่นใหม่ ระบบการติดตามการต้องโทษในบ้านเรามีความก้าวหน้าที่นำระบบอุปกรณ์ อิเล็กทรอนิกส์ หรือ (EM) Electronic Monitoring ที่เรียกว่ากำไลข้อเท้า มีระบบ GPS คอยตรวจสอบติดตามเพื่อลดความแออัดของผู้ต้องขังในเรือนจำ กรณีได้รับอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว…

เราท่านหลายคนคงจะมิปฏิเสธที่จะซื้อหรือสนับสนุนสินค้าที่เรือนจำต่าง ๆ ได้นำผลิตภัณฑ์ ที่เป็นทักษะฝีมือของเหล่าบรรดานักโทษทำใช้วันเวลาความตั้งใจ ความเพียรพยายามในการทำผลิตภัณฑ์นั้นๆ เพื่อออกจำหน่ายให้แก่บุคคลภายนอก สินค้าหลายชนิดประเภทจัดอยู่ในระดับคุณภาพเกรดเอ ผู้เขียนเข้าใจว่าสินค้าของเรือนจำยังไม่ค่อยปรากฏหรือจัดจำหน่ายอยู่ในห้างสรรพสินค้าต่างๆ ทั่วเมืองไทยเรา สิ่งหนึ่งที่เราท่านทั้งหลายต่างชื่นชมก็คือให้เหล่าบรรดานักโทษผู้ต้องขังได้ออกมาฝึกทักษะชีวิตอาทิ การปรับเรือนจำมาเป็นร้านกาแฟถือว่าเป็นแลนด์มาร์กใหม่ในการปรับธุรกิจจากห้องขังมาเป็นร้านกาแฟที่มีบรรยากาศมิได้แตกต่างจากกาแฟแบรนด์ดังของต่างชาติมากนัก

ชีวิตคนคนหนึ่งหากเลือกได้คงจะไม่มีใครที่จะเลือกชีวิตที่ต้องเข้าสู่กระบวนการความยุติธรรมตั้งแต่ตำรวจจับ ทนายความ อัยการ ศาลพิพากษาคดีความและสุดท้ายคือสถานที่จองจำคือเรือนจำและทัณฑสถานต่างๆ การถูกลงโทษ ต้องโทษเป็นผลแห่งกรรมที่มีมาจากอดีต ปัจจุบันและส่งไปถึงอนาคต มีผู้คนบางคนทั่วโลกที่เลือกจะไม่ต้องถูกจองจำในเรือนจำก็คือการหนีคดีความ หรือหนีหมายจับของศาล สิ่งหนึ่งที่เราท่านรับรู้ก็คือ หนีอะไรก็ได้แต่ไม่สามารถที่จะหนีกฎแห่งกรรมไปได้ด้วยฉะนี้แล…

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image