คาดหวัง‘บิ๊กตู่’ นำรบ.ใหม่ฝ่ามรสุม

หมายเหตุความเห็นนักธุรกิจและนักวิชาการ ต่อความคาดหวังในรัฐบาลผสมของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่เป็นรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ และการไร้อำนาจพิเศษ “มาตรา 44” ในการออกคำสั่งต่างๆ อีกต่อไป


ว่าที่ร้อยเอก จิตร์ ศิรธรานนท์
ประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคกลาง หอการค้าไทย

เรื่องเพิ่งเริ่มอย่าไปมองในแง่ลบนัก รอดูละครหลังจากนี้ก่อนว่าจะไปอย่างไรต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีจะเข้ามาคัดคณะรัฐมนตรี (ครม.) ด้วยตัวเอง ก็น่าจะมีการพิจารณาตรงนี้มากขึ้น เพราะงานข้างหน้าไม่ได้หมู งานที่จะต้องทำต่อไปเป็นงานใหญ่ คิดว่า พล.อ.ประยุทธ์น่าจะไม่อยากเปลืองตัว เพราะหากบริหารงานไม่ดีก็จะต้องโดนด่า คิดว่าน่าจะมีการเตรียมการทำงาน และพิจารณาเลือกสมาชิกที่จะเข้ามาเป็น ครม.อย่างดีที่สุด ไม่ใช่ว่าพรรคการเมืองเสนอชื่อมาก็เลือกตามนั้น น่าจะต้องมีการพูดคุยและหารือร่วมกันก่อน คงจะประนีประนอมกันไปในลักษณะที่ให้อยู่ แต่คงทำได้ไม่ง่าย เพราะเรื่องการเมืองก็อย่างที่รู้ๆ กันอยู่ มีแต่หน้าเก่าๆ แม้จะมีหน้าใหม่เข้ามาบ้าง ก็ไม่รู้ว่าจะพูดรู้เรื่องหรือไม่ทั้งหน้าเก่าและหน้าใหม่

แต่เชื่อว่าน่าจะมีวิธีในการทำงานร่วมกันได้ แม้จะมาจากหลายพรรคการเมือง พล.อ.ประยุทธ์ก็น่าจะมีการบริหารความเสี่ยงของตัวเองอยู่ ถ้าจะเอาให้ได้ดั่งใจทั้งหมดคงเป็นไปไม่ได้ ทำให้ ครม.น่าจะผสมผสานกันไป เพราะรัฐธรรมนูญเขียนไว้แบบนี้ต้องไปแบบนี้เหมือนกัน ปัญหาที่รออยู่ข้างหน้ามันไม่ง่าย แต่พอมันไม่ง่าย ก็ยังมีข้อดีคือ ประเทศไทยต้องหันกลับมาให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจรากหญ้ามากขึ้น ถ้าเป็นแบบเก่าก็มีฟังเสียงรากหญ้าบ้าง ถึงบ้างไม่ถึงบ้าง แต่การเมืองแบบนี้อย่างไรก็ต้องฟัง ต้องรับรู้ความต้องการ รู้ถึงความเดือดร้อนของประชาชนรากหญ้าที่จะสะท้อนขึ้นมา แม้ว่าอาจจะไม่มีอะไร 100% แต่ถ้ามีความตั้งใจในการบริหารงานจริง พล.อ.ประยุทธ์ ที่จะนำประเทศเดินไปข้างหน้าจะเป็นบริบทที่ฉีกแนวไปหรือไม่ ต้องรอดูการบริหารงานหลังจากนี้ก่อน อย่าลืมว่าถ้าบริหารพลาดจะมีคนที่รอซ้ำอยู่ แม้กระทั่งพรรคร่วมรัฐบาลเองอาจจะออกมาตรวจสอบความผิดพลาดตรงนี้ด้วย ตามที่ประกาศกันไว้ของแต่ละคนแต่ละพรรค ถามว่าตรงนี้จะได้ 100% เลยหรือไม่ เชื่อว่าไม่ว่าใครจะเข้ามาบริหารประเทศก็ไม่มีทางทำได้ครบ 100%

Advertisement

เรื่องเสถียรภาพการทำงานบอกได้คำเดียวว่าเหนื่อย เป็นรัฐบาลที่มีหลายพรรคเข้ามาร่วมด้วย การแบ่งเก้าอี้รัฐมนตรีกระทรวงต่างๆ ไม่ลงตัว จนมีข่าวแง่ลบตั้งแต่ต้น เป็นเหมือนกลล่อที่อาจจะเริ่มต้นแข็งๆ แต่ก็กลับมาอ่อนกันได้ คงมีแนววิธีในการบริหารที่เราไม่รู้ พล.อ.ประยุทธ์น่าจะพอมองออกว่าจะต้องเจอปัญหาแบบนี้แน่นอน คงมีวิธีรับมือเตรียมไว้แล้วเพื่อให้ทุกอย่างเรียบร้อยและเดินหน้าไปได้ ต้องรอดูไปสักพักหนึ่งก่อน อย่างน้อยที่สุดปัญหาเก่าน่าจะพอรู้และหาวิธีแก้ไขไว้แล้ว คิดว่าการทำงานมา 4-5 ปีไม่สูญเปล่า แม้จะบริหารงานในลักษณะที่เศรษฐกิจฐานรากยังไม่ดีมากนัก แต่อย่าลืมว่าการค้าโลกกำลังแย่ ไม่ว่าใครจะเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีต้องเจอปัญหานี้เหมือนกัน

ผมไม่กล้ามีข้อเสนอแนะไปแนะนำผู้นำประเทศ เพราะการบริหารธุรกิจและการบริหารประเทศไม่เหมือนกัน การบริหารประเทศต้องมีลูกล่อลูกชนมากกว่าเยอะ ดูว่าอันไหนจะได้ประโยชน์หรือเสียประโยชน์ ต้องปรับสัดส่วนให้สมดุลกันให้ได้ แตกต่างจากบริหารธุรกิจที่สั่งแล้วได้เลย ถ้าไม่ได้ก็ไล่ออก แต่งานราชการถ้าไม่ผิดจริงไม่สามารถไล่ออกส่งเดชได้ เพียงแค่คาดหวังให้ทำงานโดยเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมและเห็นแก่ชาติบ้านเมืองเป็นหลัก เพราะหากสวมวิญญาณนักการเมืองที่เห็นแก่ตัวและพรรคพวกมาก่อน ประเทศไทยแย่แน่นอน


สุพันธุ์ มงคลสุธี
ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)

Advertisement

รัฐบาลชุดใหม่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี แต่รัฐมนตรีกระทรวงต่างๆ ยังไม่สามารถตั้งได้ ทำให้รัฐมนตรีชุดปัจจุบันต้องทำงานไปก่อนนั้น ในมุมเอกชนมองว่าแม้จะทำงานได้เช่นเดียวกับปัจจุบัน เพราะนโยบายต้องเป็นไปตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แต่ก็ยังไม่ใช่คำตอบ เพราะประเทศไทยเข้าสู่การเลือกตั้งแล้ว รัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งควรเข้าบริหารงาน เนื่องจากยังมีอีกหลายนโยบาย หลายภารกิจที่รอให้รัฐบาลชุดใหม่ดำเนินการ ประกอบกับรัฐมนตรีหลายกระทรวงน่าจะมีนโยบายใหม่ๆ เข้ามาขับเคลื่อนตามที่หาเสียงไว้ด้วย

โครงการที่คั่งค้างอยากให้รัฐบาลใหม่เข้ามาสานต่อ อาทิ โครงสร้างพื้นฐานสำคัญ 5 โครงการพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ประกอบด้วย รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน แม้จะได้ผู้ชนะประมูลแล้ว แต่ก็ยังมีรายละเอียดต่างๆ ที่รอรัฐบาลใหม่เข้ามาผลักดัน อาทิ การผลักดันรถไฟเพื่อเชื่อมกับรถไฟในเส้นทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ

นอกจากนี้ยังมีโครงการท่าเรือมาบตาพุด ระยะ 3 ท่าเรือแหลมฉบัง ระยะ 3 เมืองการบินและสนามบินนานาชาติอู่ตะเภา และศูนย์ซ่อม-สร้างอากาศยานที่รอรัฐบาลใหม่เข้ามาผลักดันให้สำเร็จได้ชื่อผู้ชนะประมูลแล้วเช่นกัน

การจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ยังส่งผลโดยตรงต่อความเชื่อมั่นของประชาชน อารมณ์ในการจับจ่ายใช้สอย หากมีรัฐบาลชุดใหม่ แต่ละกระทรวงจะมีมาตรการในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้เศรษฐกิจเกิดความคึกคัก นอกจากความเชื่อมั่นในประเทศ การมีรัฐบาลใหม่ยังสร้างความเชื่อมั่นให้กับการลงทุนไทยที่จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจ

สำหรับประเด็นเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ที่ต้องล่าช้าออกไป 3 เดือน ทำให้ไม่ทันบังคับใช้วันที่ 1 ตุลาคม 2562 ถือเป็นเรื่องน่าห่วงต่อการเบิกจ่ายการลงทุนภาครัฐอยู่แล้ว ยิ่งรัฐบาลใหม่ล่าช้าออกไปอาจทำให้สถานการณ์ของงบประมาณยิ่งประสบปัญหามากขึ้น


ปรีดี ดาวฉาย
ประธานสมาคมธนาคารไทย

ขณะนี้คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) อยู่ระหว่างสรุปรายละเอียดในสมุดปกขาวคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนมิถุนายนนี้เพื่อเตรียมพร้อมเสนอต่อรัฐบาลใหม่ รายละเอียดจะสะท้อนสิ่งที่เอกชนคาดหวังจากภาครัฐ เรื่องจำเป็นและสำคัญคือจะต้องมีเสถียรภาพการเติบโตของเศรษฐกิจ

ช่วงหลายปีก่อน อัตราการขยายตัวเศรษฐกิจ (จีดีพี) เติบโตต่ำ แต่ 3-4 ปีที่ผ่านมา มีการผลักดันจีดีพีให้กลับมาเติบโตที่ระดับ 4% ถือว่าเศรษฐกิจไทยมีเสถียรภาพด้านการเติบโตกลับขึ้นมา อยากให้รัฐบาลใหม่รักษาเสถียรภาพการเติบโตจีดีพีให้อยู่ที่ระดับ 3-4% ต่อเนื่องไปเรื่อยๆ ต้องลงไปดูกรอบต่างๆ เช่น เรื่องกรอบเงินเฟ้อต้องอยู่ในกรอบนโยบายการเงินกำหนดไว้ เรื่องวินัยการเงินการคลังอยู่ในระดับเหมาะสม อัตราแลกเปลี่ยนไม่แกว่งมากกว่าประเทศเพื่อนบ้านจนเกินไป หากทุกอย่างอยู่ในกรอบเศรษฐกิจแบบนี้ธุรกิจยังประคองตัวไปได้ แม้ว่ามีความผันผวนจากสงครามการค้าสหรัฐและจีนที่ยังมีความไม่แน่นอนอยู่

คาดหวังให้จัดตั้งรัฐบาลให้เร็วที่สุด หลายเรื่องต้องเดินหน้าด้วยรัฐบาลที่มีอำนาจเต็ม การที่เป็นรัฐบาลมาจากหลายพรรคการเมืองมีความหลากหลายนโยบายที่ต้องดำเนินการ คาดว่าจะมีการลำดับความสำคัญเรื่องต่างๆ เพื่อแถลงนโยบายต่อรัฐสภา มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจน่าจะทำได้เร็ว แต่มาตรการแก้ไขปัญหาด้านโครงสร้างอาจจะต้องใช้เวลา แม้ว่าจะเป็นรัฐบาลมาจากหลายพรรค ก็น่าจะมีแนวทางทำงานร่วมกันได้ ส่วนการจัดทำกรอบเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ที่ล่าช้าออกไป ต้องประเมินว่าความล่าช้าจะกระทบจุดใดบ้างและมีผลกระทบต่อจีดีพีมากน้อยเพียงใด เมื่อรัฐบาลอำนาจเต็มเข้ามาเชื่อว่าจะเดินเต็มที่เพื่อขับเคลื่อนกรอบงบประมาณปี 2563 ออกมาบังคับใช้ตามปกติตามที่วางแผนไว้


จิตติ ตั้งสิทธิ์ภักดี
ประธานหอการค้าไทย-จีน

จากการพบปะกับคณะนักธุรกิจจีนต่างให้ความสนใจอยากให้ประเทศไทยจัดตั้งรัฐบาลเข้าบริหารประเทศโดยเร็ว จะเป็นตัวช่วยในเรื่องการตัดสินใจเร็วขึ้นในความร่วมมือทางการค้าระหว่างไทย-กวางตุ้งให้เร็วขึ้น ส่วนตัวเห็นว่า การมีรัฐบาลใหม่แต่ยังเป็นบุคคลเดิมจะมีความต่อเนื่องในเรื่องของนโยบายรวมถึงมาตรการที่จะส่งเสริมการลงทุนและสร้างแรงจูงใจจากต่างชาติให้เข้ามา อย่างเช่นประเทศจีนที่มีความก้าวหน้าเพราะมีความต่อเนื่องในการบริหารประเทศที่ไม่มีการเปลี่ยนรัฐบาล

ขณะที่ประเทศไทยมีการเปลี่ยนรัฐบาลบ่อยทำให้เกิดความไม่ต่อเนื่อง เมื่อเปลี่ยนตัวบุคคลหรือทีมใหม่ก็มีการเปลี่ยนนโยบาย แต่เชื่อว่าการจัดรัฐบาลใหม่ครั้งนี้จะมีความต่อเนื่อง ได้คนที่มีความเชี่ยวชาญในการบริหารงาน ขณะนี้ทั่วโลกรวมถึงไทยได้รับผลกระทบจากสงครามทางการค้าทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัว สำหรับจีนเป็นคู่ค้าสำคัญก็อยู่ระหว่างการตัดสินใจในการย้ายฐานการผลิตมาไทย

หากรัฐบาลใหม่จัดตั้งเร็วและแสดงให้เห็นถึงความต่อเนื่องของการบริหารงานและมีนโยบายที่เร่งด่วนต่อการกระตุ้นการตัดสินใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทย วันนี้อาจมีมูลค่าแสนล้านบาทจากคณะจีนมาไทยครั้งนี้ แต่หากเพิ่มความมั่นใจว่ารัฐบาลใหม่จะบริหารได้นานและต่อเนื่อง มูลค่าลงทุนก็จะเพิ่มได้มากขึ้นหลายเท่าตัวในอนาคต จะมีมาตรา 44 หรือไม่ หากบริหารประเทศได้นาน ย่อมเป็นเรื่องที่เอกชนพอใจและรับได้


ดร.ฐิติพล ภักดีวานิช
คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

การรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี สมัยที่ 2 ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผมว่าการจะมีมาตรา 44 หรือไม่มี คงไม่มีนัยยะสำคัญ เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงหลังการรัฐประหารเอง ในฐานะที่ พล.อ.ประยุทธ์เป็นหัวหน้า คสช.และรัฐบาลที่ใช้มาตรา 44 เป็นอำนาจเด็ดขาด เมื่อไม่มีอำนาจตามมาตรา 44 รัฐบาลก็ยังมีกลไกเครื่องมือทางกฎหมายอีกหลายอย่างในการควบคุมกดดันฝ่ายตรงข้าม ผู้ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลไม่ให้เคลื่อนไหว ส่วนการใช้กฎหมายต่างๆ เช่นมาตรา 116 แห่งประมวลกฎหมายอาญาเอง หรือการใช้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ หรืออื่นๆ มองว่ายังเป็นสิ่งที่เราต้องคำนึงถึง

มีหรือไม่มีสำหรับมาตรา 44 มันไม่ได้เปลี่ยนรูปแบบการปกครองในการใช้อำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะนายกรัฐมนตรีมากนัก สิ่งเหล่านี้ยังเป็นพื้นที่ของรัฐบาลยังใช้ได้อยู่ เราก็เห็นแล้วว่าที่ผ่านมารัฐบาลใช้กฎหมายเหล่านี้ด้วยเหมือนกัน ในการควบคุมความคิดที่แตกต่างกัน สะท้อนให้เห็นการไม่ยอมรับหลักการของประชาธิปไตยของรัฐบาล

ในส่วนของรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ ผมว่าสุดท้ายพรรคเหล่านี้ก็ต้องคงประนีประนอมกันบนพื้นฐานของผลประโยชน์ที่แต่ละพรรคได้รับ แม้ว่าเสียงข้างมากจะไม่ได้มากจริงๆ ในสภา แต่คิดว่าพรรคร่วมรัฐบาลก็ต้องการพยุงให้รัฐบาลอยู่ได้ในระยะยาวเช่นกัน เพราะถ้าเกิดมีการเลือกตั้งในระยะเวลาใกล้นี้ พรรคร่วมรัฐบาลเองก็ไม่ได้อยู่ในสถานะที่จะได้เปรียบในการเลือกตั้งด้วยซ้ำ เพราะกระแสการตอบรับกับการเกิดขึ้นของพรรคอนาคตใหม่ค่อนข้างสูงอยู่ เพราะฉะนั้น ผมว่าพรรคการเมืองก็พร้อมประนีประนอมผลประโยชน์ที่แต่ละพรรคมีร่วมกัน เพื่อให้รัฐบาลอยู่ได้ในระยะยาว ส่วนการทำงานก็ไม่น่าจะยาก สุดท้ายถ้าผลประโยชน์ทุกพรรคลงตัว ก็กลับไปสู่การทำงานอย่างเดิม คิดว่าไม่น่าจะไม่มีปัญหา

การทำงานร่วมกันของพรรคร่วมรัฐบาลภายใต้รัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ รัฐบาลเองก็ได้รับการสนับสนุนจากทั้งนักธุรกิจและอีกอย่างหนึ่ง ตอนนี้รัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ ได้รับการฟอกขาวจากการเลือกตั้ง เพราะเป็นรัฐบาลประชาธิปไตยมาจากการเลือกตั้งก็จะช่วยได้มากในเรื่องการดำเนินงานการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ความกดดัน หลายๆ อย่างก็ลดลงไปทั้งภายในและภายนอกประเทศ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image