ถอดบทเรียน13หมูป่าอะคาเดมี วัตรปฏิบัติแห่งการป้องกัน แก้ไขเมื่อภัยมา : โดย ผศ.ดร.รัฐพงศ์ บุญญานุวัตร

หากย้อนกลับไปในปี 2561 หนึ่งในปรากฏการณ์ที่อุบัติขึ้นในประเทศไทยจนกลายเป็นกระแสที่เป็นมิติให้สังคมโลกต้องจับจ้องมาที่บ้านเราคงจะหนีไม่พ้นปรากฏการณ์กรณีที่เยาวชนและโค้ชทีมหมูป่าอะคาเดมี่ จำนวน 13 คน หายเข้าไปในถ้ำที่วนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน ตำบลโป่งผา อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย

จากปรากฏการณ์ในครั้งนั้นทำให้เกิดเป็นมิติที่สะท้อนให้สังคมไทยได้ประจักษ์อย่างหลากหลายโดยเฉพาะความเอื้ออาทร ความเมตตากรุณาที่นำไปสู่ปรากฏการณ์ของการปฏิบัติการด้วยการบูรณาการองค์ความรู้ ความสามารถตลอดจนนวัตกรรมสมัยใหม่รวมทั้งสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ และภูมิปัญญาชาวบ้านภายใต้การผนึกพลังการร่วมแรงร่วมใจของผู้คนที่สะท้อนให้เห็นถึงการเป็นผู้นำและผู้ตามที่มาจากหลายภาคส่วน
จากการรวมพลังเพื่อนำมาซึ่งความสำเร็จสำหรับการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์จึงนำไปสู่ปรากฏการณ์แห่งการรู้รักสามัคคีอันเนื่องมาจากจิตอาสาของมวลมนุษยชาติโดยที่ไม่ได้มีการนัดหมายกันมาก่อนและจากการปฏิบัติการดังกล่าวในครั้งนั้นจึงถือได้ว่าเป็นหนึ่งในปรากฏการณ์ที่โลกต้องจดจำไปอีกนานเท่านาน

อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่าเหตุการณ์สะเทือนโลกในครั้งนั้นจะผ่านพ้นไปเกือบขวบปีแล้วก็ตามแต่ถ้าสังคมตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะนำมิติของปรากฏการณ์มาถอดเป็นบทเรียนเพื่อนำไปสู่การป้องกันและแก้ไขในมิติที่เกี่ยวข้องและไม่คาดคิดว่าน่าจะเป็นต้นทางที่สำคัญและนำไปสู่ประโยชน์ของสังคมโดยรวมอย่างอเนกอนันต์

หนึ่งในมิติของการถอดบทเรียนสำหรับการนำไปสู่การป้องกันและแก้ไขของปรากฏการณ์ที่จะส่งผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนคงจะต้องเริ่มจากการสร้างองค์ความรู้ ทักษะและประสบการณ์เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติการซึ่งในประเด็นนี้คงจะเป็นบทบาทหน้าที่ของสถานศึกษาที่ครู อาจารย์และบุคลากรทางการศึกษาทุกระดับจะต้องดำเนินการเพื่อให้นักเรียน นักศึกษาสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้

Advertisement

จากกรณีนี้สอดคล้องกับการที่ ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เคยสะท้อนแนวคิดสำหรับการถอดบทเรียนภายหลังเกิดเหตุการณ์ในครั้งนั้นไว้น่าสนใจความว่า ควรถอดบทเรียนจากกรณีเยาวชน 12 คน และโค้ช 1 คน รวม 13 ชีวิต ติดอยู่ในถ้ำนานกว่า 17 วัน เพื่อให้คนไทยได้เรียนรู้ทักษะการเอาชีวิตรอดเมื่อเกิดภัยพิบัติโดยถอดองค์ความรู้นั้นควรแบ่งการนำเสนอองค์ความรู้ตามช่วงอายุของเด็ก ได้แก่ ระดับอนุบาล ควรทำหนังสือประเภทตำนาน นิทานของดอยนางนอน โดยสอดแทรกการสอนเรื่องคุณธรรม จริยธรรม ความรัก

สำหรับระดับประถมควรเรียนรู้เรื่องภาษาอังกฤษในชีวิตผจญภัย ทั้งนี้ หากเด็กไทยได้เรียนรู้ภาษาอังกฤษจากเหตุการณ์นักฟุตบอลเยาวชนหมูป่าอะคาเดมีพูดตอบโต้กับนักดำน้ำชาวอังกฤษซึ่งเรื่องที่ทั่วโลกรู้กันจะทำให้เด็กเกิดทรรศนะที่ดีต่อการสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษ กล้าพูดตอบโต้ ระดับมัธยมต้นควรมีทักษะด้านกีฬาอย่างน้อย 1 ชนิด ปลูกฝังการเล่นกีฬาเป็นทีม ความมีระเบียบวินัย มีสมาธิ

ในขณะที่นักเรียนมัธยมปลาย นักวิชาการคนดังกล่าวเสนอว่า ควรเรียนรู้เรื่องการสร้างแรงบันดาลใจเกี่ยวกับอาชีพต่างๆ ที่ทำงานเพื่อผู้อื่น เช่น หน่วยซีล ทหาร หมอ นักนวัตกรรม นักโภชนาการ เป็นต้น ซึ่งทุกสาขาอาชีพที่มาช่วยเหลือเยาวชนทั้ง 13 คน เป็นกลุ่มบุคคลที่ทำงานเพื่อคนอื่นเป็นผู้ที่มีธรรมาภิบาลซึ่งจะเป็นตัวอย่างที่จะสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กไทยรู้จักทำงานเพื่อสังคม

Advertisement

ด้านในระดับอุดมศึกษานั้น ศ.ดร.สมพงษ์เสนอให้เน้นการปฏิบัติด้านวิชาชีพต่างๆ และปลูกฝังอย่างเข้มข้นในเรื่องคุณธรรม จริยธรรม สติ สมาธิ โดยเฉพาะด้านนิเทศศาสตร์ วารสารศาสตร์ที่ต้องปลูกฝังจริยธรรมสื่อ ขณะเดียวกันกระทรวงศึกษาธิการควรปรับปรุงหลักสูตรแกนกลางให้เน้นลงมือปฏิบัติเพิ่มหลักสูตรท้องถิ่นให้เด็กแต่ละภูมิภาคได้เรียนรู้เกี่ยวกับภัยพิบัติ ฯลฯ

และข้อเสนอที่ถือได้ว่าเป็นหนึ่งในมิติที่นักวิชาการท่านนี้สะท้อนไปสู่กระทรวงศึกษาธิการและสังคมไทย ได้แก่ กระทรวงศึกษาธิการและคนไทยต้องไม่ให้เหตุการณ์การค้นหาการช่วยชีวิตและการเอาตัวรอดของเด็กในถ้ำหลวงให้ผ่านไปโดยเปล่าประโยชน์ เพราะทุกวันนี้มีภัยพิบัติเกิดขึ้นมากมายจึงต้องสอนให้เด็กไทยทุกคนได้เรียนรู้ทักษะการเอาชีวิตรอด หากเราปล่อยให้เด็กเรียนหนังสืออย่างเดียวก็จะเอาชีวิตไม่รอดเมื่อเจอภัยพิบัติ

และจากเหตุการณ์ถ้ำหลวง จะเห็นได้ว่าประเทศญี่ปุ่น ออสเตรเลีย จีน สหรัฐ นำไปสอนเด็กๆ ของเขาแล้ว แต่ประเทศไทยยังเงียบมาก ถึงเวลาที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการควรทำเรื่องนี้อย่างจริงจัง

เมื่อย้อนกลับไปในเหตุการณ์กรณีที่ 13 ชีวิตของทีมหมูป่าที่ต้องเผชิญชีวิตติดอยู่ในถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอนครั้งนั้นเชื่อว่าวันนี้ถึงแม้ว่าสังคมไทยบางภาคส่วนอาจจะลืมเลือนไปบ้างแล้วก็ตาม แต่ด้วยปรากฏการณ์ที่เกิดและส่งผลต่อชะตาชีวิตของเยาวชนซึ่งถือได้ว่าเขาเหล่านั้นคือทุนมนุษย์ที่สำคัญของประเทศและที่สำคัญเหตุการณ์ในลักษณะนี้จะเกิดขึ้นได้ไม่บ่อยนักหรือถ้าจะมีก็อาจจะมีน้อยมากหรืออาจจะเป็นศูนย์ก็ว่าได้สำหรับสังคมไทยหรือสังคมโลก

วันนี้ประเทศไทยกำลังเข้าสู่ปรากฏการณ์ของฤดูฝนซึ่งในทุกปีภัยและอุบัติเหตุอันเนื่องมาจากฤดูนี้ส่งผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินของผู้คนเป็นจำนวนมากเกือบทุกพื้นที่ของประเทศ และเมื่อภัยนั้นมาถึงจะเห็นได้ว่าหน่วยงานของรัฐและองค์กรเอกชนจะระดมการช่วยเหลือด้วยการส่งบุคลากร เครื่องมือ และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ตลอดจนสิ่งของเพื่อการยังชีพซึ่งรูปแบบและแนวทางดังกล่าวจะมีการดำเนินการกันเป็นวัตรปฏิบัติแบบเดิมๆ

การสร้างความตระหนักรู้ด้วยการสร้างภูมิคุ้มกันในมิติต่างๆ ที่จะทำให้สังคมเกิดการตื่นตัวและมีจิตสำนึกสำหรับการป้องกันและแก้ไขเบื้องต้นเพื่อให้ผู้คนได้นำไปสู่การปฏิบัติและพร้อมที่จะเผชิญสำหรับภัยที่จะมาถึง แต่จะเห็นได้ว่าสังคมไทยในมิตินี้ถือได้ว่ามีการดำเนินการน้อยมากซึ่งผลที่ตามคือการสูญเสีย

หนึ่งในปรากฏการณ์ที่อาจจะถือได้ว่าเป็นต้นทางของการป้องกันและแก้ไขคงจะต้องโฟกัสไปที่หน่วยงานของรัฐโดยเฉพาะผู้นำหรือผู้มีหน้าที่รับผิดชอบต้องเป็นผู้ที่พร้อมไปด้วยวุฒิภาวะแห่งการเป็นผู้นำ มีภูมิรู้ มีนวัตกรรม มีความเชี่ยวชาญในการสื่อสารที่แหลมคม มีจิตสาธารณะพร้อมที่จะเสียสละอยู่ในตัวตนสำหรับการขับเคลื่อนสร้างการมีส่วนร่วมกับภาคเอกชนและประชาชนทั่วไป

การนำบทเรียนแห่งปรากฏการณ์ที่อุบัติขึ้นมาเป็นสะพานเชื่อมด้วยการถอดบทเรียนในมิติต่างๆ เป็นกรณีศึกษาที่จะส่งผลนำไปสู่การป้องกันแก้ไขจึงถือได้ว่าเป็นหนึ่งในปรากฏการณ์ที่สำคัญยิ่งที่ทุกภาคส่วนซึ่งเกี่ยวข้องต้องนำไปเป็นวัตรปฏิบัติ และไม่ควรปล่อยผ่านให้ภัยมาจึงหาทางแก้ไข

โลกในศตวรรษที่ 21 เป็นโลกแห่งการเปลี่ยนแปลงและการแข่งขันที่สูงยิ่ง การสร้างภูมิคุ้มกันด้วยการเตรียมความพร้อมสำหรับการป้องกันก่อนที่ภัยจะมาเยือนจึงเป็นหนึ่งในมิติที่ทุกภาคส่วนไม่ควรจะมองข้าม ที่สำคัญอย่าให้ชาวบ้านกล่าวขานว่า ฤๅต้องปล่อยให้วัวหายเสียก่อนจึงจะล้อมคอก

ผศ.ดร.รัฐพงศ์ บุญญานุวัตร
ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมการพัฒนาทุนมนุษย์
มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image