30ปี‘เทียนอันเหมิน’ : ศ.ชยานันต์ ศุกลวณิช

วันที่ 4 มิถุนายน ปีนี้ เป็นวันครบรอบ 30 ปี ของ “เหตุการณ์นองเลือดจัตุรัสเทียนอันเหมิน” ปักกิ่ง อันเกิดจากการเรียกร้องประชาธิปไตยครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของการเมืองจีน โดยมีนักศึกษาและประชาชนจำนวนหลายแสนคนชุมนุมประท้วง ทหารใช้อาวุธกระสุนจริงเข้าทำการปราบปรามและสลายการชุมนุม เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนกว่า 1 หมื่นคน และบาดเจ็บอีกประมาณ 4 หมื่นคน

แม้เวลาได้ผ่านมา 30 ปี แต่ความระทมของญาติผู้เสียชีวิตก็ยังไม่คลาย

วันเสียงปืนแตกที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน

วันที่ 3 มิถุนายน 1989 เป็นวัน “เสียงปืนแตก” ดังสนั่นทั้งคืน ทหารจำนวนนับหมื่นทำการกวาดล้างผู้ชุมนุม จัตุรัสเทียนอันเหมินกลายเป็นสมรภูมิเลือด

Advertisement

เลือดทุกหยดเป็นของวีรบุรุษผู้บริสุทธิ์ที่รักชาติ รักประชาธิปไตย และรักสิทธิเสรีภาพ

เป็นเหตุการณ์สังหารหมู่ที่ใหญ่ที่สุดในแผ่นดินใหญ่

และถือเป็นเหตุการณ์ที่เกิดการแบ่งแยกระหว่างรัฐกับประชาชนครั้งยิ่งใหญ่ครั้งหนึ่ง

Advertisement

เชื่อกันว่า การตายของ “หู เอี้ยวปัง” วัย 74 ปี อดีตเลขาธิการใหญ่พรรคเมื่อวันที่ 15 เมษายน 1989 เป็น “ชนวน” ของเหตุการณ์นองเลือดเทียนอันเหมิน

อันเกิดจากการที่มีกลุ่มคนขนาดย่อมออกมาแสดงความอาลัยต่อการจากไปที่หน้าอนุสาวรีย์วีรบุรุษ จัตุรัสเทียนอันเหมิน อีกทั้งทำการบริภาษระบบ “การเมืองคนชรา” กลุ่มหนึ่งซึ่งเป็นฝ่ายอนุรักษนิยมที่ทำการกดขี่ข่มเหงผู้ตายที่พวกเขาเคารพ

นอกจากนี้ ยังมีการโจมตีการปฏิรูปของ “เติ้ง เสี่ยวผิง” จนเหตุการณ์ได้ลุกลามบานปลายในวงกว้าง มีนักศึกษาและประชาชนออกมาเคลื่อนไหวมากขึ้นทุกวัน

การเรียกร้องประชาธิปไตยก็เกิดขึ้นโดยพลัน และลุกลามไปเช่นกัน

จนกลายเป็น “เหตุการณ์ 64” หรือเรียกกันเป็นชื่อต่างๆ เช่น “เหตุการณ์เทียนอันเหมิน” “ความเคลื่อนไหว64” หรือ “เหตุการณ์นองเลือดเทียนอันเหมิน” เป็นต้น

(หมายเหตุ: 64 หมายถึงเดือน 6 วันที่ 4 หรือวันที่ 4 มิถุนายน)

รัฐบาลจีนพยายามปิดบังความจริงที่เทียนอันเหมิน และเรียกชื่อให้ดูว่าเป็นเรื่องธรรมดา แต่ยิ่งนานวันก็ยิ่งถูกเปิดเผยความจริงมากขึ้น การใช้ศัพท์เรียกชื่อก็หนักขึ้นไปด้วย เช่น

กวาดล้าง เข่นฆ่า เจตนาฆ่า สังหารหมู่ เป็นต้น

นิวยอร์กไทม์เปิดเผยสาเหตุนองเลือด

เมื่อปีที่แล้ว ความจริงและต้นเหตุก็ได้ถูกเปิดเผยใน “นิวยอร์กไทม์” บางช่วงบางตอนซึ่งเป็นประเด็นสำคัญ โดยสอดคล้องกับสำนวนจีนที่ว่า

“เรื่องที่ไม่อยากให้คนรู้มีอยู่ทางเดียวคืออย่าทำ”

“นิวยอร์กไทม์” รายงานว่า “หลังจากที่ หู เอี้ยวปัง ถึงแก่กรรม เติ้ง เสี่ยวผิง ประธานกรรมธิการทหารก็เกิดความระแวงว่าจะถูก จ้าว จื่อหยาง เลขาธิการใหญ่พรรคปลดออกจากตำแหน่ง จึงวางแผนสร้างความชอบธรรมเพื่อกำจัดฝ่ายตรงข้าม ประจวบกับการกวาดล้างผู้ชุมนุมประท้วงจึงกลายเป็นสถานการณ์ที่สร้างโอกาสให้แก่ เติ้ง เสี่ยวผิง ทำการกำจัด จ้าว จื่อหยาง ออกจากตำแหน่งเลขาธิการใหญ่ของพรรค”

“เป้า โถง” อดีตเลขานุการของ “จ้าว จื่อหยาง” ได้บอกกับ นิวยอร์กไทม์ว่า “ในการประชุมกรรมาธิการบริหารพรรคครั้งหนึ่งหลังจากที่ ‘หู เอี้ยวปัง’ ถึงแก่กรรม ‘จ้าว จื่อหยาง’ ได้กล่าวว่า เขาเป็น 1 ในผู้บริหารของพรรค เมื่อจากไป พวกเรามีความเศร้าโศก พวกเราก็ไม่มีเหตุผลอันใดที่จะปฏิเสธการไว้อาลัยของนักศึกษาและประชาชน”

“เป้า โถง”ยืนยันว่า ผู้กำกับเหตุการณ์ 64 มีเพียงคนเดียวคือ “เติ้ง เสี่ยวผิง” ทั้งนี้ เพื่อวัตถุประสงค์ในการรักษาสถานะทางการเมือง จึงเป็นปฏิบัติการที่เล็งเห็นผล

เหยื่อแห่ง “ผล” นั้นคือ “จ้าว จื่อหยาง”

เขายืนยันว่า คำสั่งให้ใช้มาตรการรุนแรงปราบปรามการชุมนุมของนักศึกษาได้เริ่มตั้งแต่วันที่ 23 พฤษภาคม 1989 นั้น เป็นคำสั่งที่เกินอำนาจของ “หลี่ เผิง” นายรัฐมนตรี และจะเป็นใครอื่นมิได้ นอกจาก “เติ้ง เสี่ยวผิง” เพียงผู้เดียว

เติ้ง เสี่ยวผิงผู้สั่งสลายการชุมนุม

ไม่ว่าคำสั่ง “หลี่ เผิง” ที่ประกาศใช้กฎอัยการศึกวันที่ 17 พฤษภาคม 1989 ไม่ว่าคำสั่งที่ให้ใช้อาวุธจริงทำการกวาดล้างผู้ชุมนุมที่จัตุรัสเทียนอันเหมินวันที่ 3 มิถุนายน 1989 ล้วนเป็นการตัดสินใจ และลงนามอนุมัติโดย “เติ้ง เสี่ยวผิง”

“เหตุการณ์64” เป็นเรื่องที่ห้ามมิให้วิพากษ์วิจารณ์ในประเทศจีน

รัฐบาลพยายามปกปิดและกลบเกลื่อนไม่ให้ประชาชนรับรู้ความจริง และพยายามทำให้เรื่องราวจางหายโดยใช้คำพูดชนิดอ่อน จึงอุปมาว่าเป็นเพียง “ความไม่สงบทางการเมือง1989” โดยแก้ต่างว่า พิธีการไว้อาลัย “หู เอี้ยวปัง” นั้น เป็นเพียงข้ออ้าง แต่แท้จริงคือพฤติกรรมที่ต่อต้านพรรค เป็นการเคลื่อนไหวที่ต่อต้านลัทธิสังคมนิยม ในขณะที่บทวิเคราะห์ของหนังสือพิมพ์เหรินหมินยื่อเป้าอันเกี่ยวกับ “เหตุการณ์64” นั้นกล่าวว่า คือขบวนการที่วางแผนไว้ก่อน เป็นที่ยอมรับของทางการว่าเป็นความจริง เนื้อแท้คือเป็นการปฏิเสธอำนาจการบริหารของผู้นำพรรค และปฏิเสธระบอบสังคมนิยม

“เหรินหมินยื่อเป้า” เป็นหนังสือพิมพ์ที่ทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงของรัฐบาล

จึงไม่แปลกที่เสนอข่าวที่เป็นไปในทางเดียวกับรัฐบาล

“เหตุการณ์64” เป็นปัญหาที่อ่อนไหวในจีน อุปมาเหมือนกับ “ของแสลง” ของรัฐบาล

เมื่อปี 2014 เป็นปีที่ครบรอบ 25 ปีของเหตุการณ์ มีนักวิชาการหลายคนที่ทำพิธีรำลึกถึงบรรดาวีรบุรุษที่พลีชีพเพื่อประชาธิปไตยที่บ้าน ก็ได้ถูกจับกุมคุมขัง

สิทธิมนุษยชนจีนคือของปลอม

ต้องยอมรับความจริงว่า “สิทธิมนุษยชน” ในเมืองจีนมีเพียงเปลือกนอก

แม้รัฐธรรมนูญของจีนบัญญัติว่า “ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพในการวิจารณ์ ออกสิ่งตีพิมพ์ การชุมนุม คบค้าสมาคม เดินขบวน และทำการประท้วง”

และแม้เหตุการณ์ “จัตุรัสเทียนอันเหมิน” เป็นการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ

แต่ “หลิว เสี่ยวปอ” นักวิชาการซึ่งเป็นแกนนำในการชุมนุมต้องถูกจับกุมดำเนินคดี

และ “จ้าว จื่อหยาง” เลขาธิการใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์ ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังของนักศึกษาในการเรียกร้องประชาธิปไตยครั้งนั้น จึงถูกลมพัดออกจากถนนการเมืองและกักบริเวณ 16 ปี จนถึงวาระสุดท้ายของชีวิตคือวันที่ 17 มกราคม 2005 อายุ 85 ปี

จ้าว จื่อหยางขวัญใจนักศึกษา

“จ้าว จื่อหยาง” เป็นคนที่มีประชาธิปไตยอยู่ในหัวใจ และมีเมตตาต่อกลุ่มนักศึกษาที่เรียกร้องสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพ เขาจึงอยู่ไม่ได้เพราะ “พิษของเผด็จการ”

เหตุการณ์ “เทียนอันเหมิน” จึงเป็นเหตุให้อนาคตทางการเมืองของเขาจบลงโดยพลัน

การชุมนุมเรียกร้อง “สิทธิมนุษยชนและเสรีภาพ” ของนักศึกษาได้เริ่มขึ้นตั้งแต่ต้นเดือนพฤษภาคม 1989 มีการเดินขบวนประท้วง อดอาหาร จุดไฟเผาตัวเอง เป็นต้น

เหตุการณ์ทั่วไปรุนแรงขึ้นเมื่อ 19 พฤษภาคม “จ้าว จื่อหยาง” พร้อมด้วย “เวิน เจีย เป่า” คนข้างกายไปคุยกับนักศึกษาที่ “จัตุรัสเทียนอันเหมิน” มีสาระสำคัญว่า

“การที่นักศึกษาวิจารณ์รัฐบาลและพรรค เป็นเรื่องที่สมควรแก่เหตุ แต่ข้าพเจ้ามาพบก็เพื่อขอให้นักศึกษาเลิกการอดอาหาร สุขภาพขณะนี้อ่อนแอมาก เพราะเป็นเวลา 7 วันแล้ว การอดอาหารเป็นเวลานาน ย่อมทำลายสุขภาพและเป็นอันตรายต่อชีวิต จึงขอให้ท่านทั้งหลายยุติให้เร็วที่สุด ข้าพเจ้าทราบดีว่าการอดอาหารของท่านทั้งหลายเพื่อต้องการได้รับคำตอบที่พอใจจากพรรคและรัฐบาล ข้าพเจ้ารู้สึกว่าการสนทนาของพวกเราเป็นไปในทิศทางที่ดี แต่เนื่องจากขณะนี้สถานการณ์ยังมีความสับสน ปัญหาบางอย่างจำเป็นต้องใช้เวลาสักระยะหนึ่ง จึงจะแก้ไขได้ แต่ท่านทั้งหลายจะรอจนได้รับคำตอบเป็นที่พอใจแล้วจึงยุติการอดอาหารไม่ได้ เพราะท่านทั้งหลายยังมีอายุน้อย มีอนาคตอันยาวไกล ต้องใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพ ท่านทั้งหลายไม่เหมือนกับพวกข้าพเจ้า เพราะพวกข้าพเจ้าแก่แล้ว ที่สำคัญคือการที่บิดามารดาของท่านทั้งหลายกว่าจะได้ส่งให้เรียบจบมหาวิทยาลัยมิใช่เรื่องง่าย การยอมเสียสละชีวิตเช่นนี้เป็นเรื่องที่น่าเสียดาย และเนื่องจากสถานการณ์เข้าขั้นวิกฤต สังคมลุกเป็นไฟ ปักกิ่งเป็นเมืองหลวง เหตุการณ์นับวันรุนแรง ทำลายภาพลักษณ์ของประเทศ หากยืดเยื้อต่อไป รัฐต้องสูญเสียหลักการบริหาร นำภัยมาสู่สังคม จึงขอให้ท่านทั้งหลายยุติการอดอาหาร แต่มิได้หมายความว่าเมื่อยุติอดอาหารแล้ว พรรคและรัฐบาลจะทอดทิ้งข้อเรียกร้อง ข้าพเจ้าขอยืนยันว่าจะต้องพิจารณาต่อไป หนทางแก้ปัญหาย่อมต้องมีอยู่”

เมื่อ “จ้าว จื่อหยาง” พูดจบ ได้แสดงความรักและเมตตาต่อนักศึกษาด้วยการโค้ง มีเสียงปรบมือเกรียวกราวประสานกับเสียงร้องไห้ของนักศึกษาที่ซาบซึ้งในถ้อยคำอันกินใจ และยังมีนักศึกษาจำนวนไม่น้อยเข้าขอลายเซ็นอีกด้วย

เวิน เจียเป่าอยู่ยงคงกระพัน

“เวิน เจีย เป่า” ขณะนั้นเป็นหัวหน้าสำนักงานกลางของพรรค ผู้ซึ่งได้รับฉายาว่า “ตุ๊กตาไม่ล้ม” เพราะเขามีคติว่า “ท่านล้ม ข้าพเจ้าไม่ล้ม เขาล้ม ข้าพเจ้าก็ไม่ล้ม”

ถ้าว่าตามหลักทฤษฎี “โดมิโน” หรือแนวทางการเมือง เขาก็ต้องถูกลมพัดลมเพไปด้วย แต่ก็อยู่ได้ และได้เป็นนายกรัฐมนตรี 10 ปีรวด ตั้งแต่ 2003-2013 เขาเป็น “เด็กปั้นรุ่นแรก” ของ “เติ้ง เสี่ยวผิง” อันเกิดจากหลักเกณฑ์ในขณะที่ปฏิรูปเปิดประเทศเมื่อ 1978 จึงมี “ความขลัง” กอปรกับเป็นคนดีมีความรู้ เป็นผู้ยึดมั่นในหลักการ ไม่หุนหันพลันแล่น เช่น เหตุการณ์ “จัตุรัสเทียนอันเหมิน” เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม เด็กอมนิ้วก็ยังอ่านเกมออกว่า “นายใหญ่” ของเขาตกเก้าอี้แน่แล้ว แต่เขาก็ไม่สะทกสะท้าน และยืนเคียงบ่าเคียงไหล่กับ “จ้าว จื่อ หยาง” จนถึงนาทีสุดท้าย

ว่ากันว่า “เวิน เจียเป่า” ยังเป็น “ขาไพ่บริดจ์” ที่เหนียวแน่นของ “เติ้ง เสี่ยวผิง” อีกด้วย

หลังจากคุยกับนักศึกษาแล้ว เรตติ้งของ “จ้าว จื่อหยาง” สูงขึ้น ความอิจฉาริษยาก็ตามมา

การเดินขบวนประท้วง เริ่มมีการชูป้ายขับไล่ “เติ้ง เสี่ยวผิง” และมีรถมอเตอร์ไซค์คันหนึ่งขับไปชนบ้านพักของเขา จะเป็นเหตุการณ์โดยบังเอิญหรือเจตนาไม่เป็นที่ประจักษ์

อนึ่งคำปราศรัยของ “จ้าว จื่อหยาง” ที่มีต่อนักศึกษาในทำนองสนับสนุนการเรียกร้องของนักศึกษา และคำพูดต่อสาธาณชนที่ว่าการตัดสินใจเรื่องใหญ่ต้องขอความเห็นชอบจาก “เติ้ง เสี่ยวผิง” ก่อน เป็นการให้เกียรติ แต่กลับถูกมองว่าเป็นการพุ่งเป้าโจมตี

และมีความชอบธรรมบางอย่างก็ได้ถูกสร้างขึ้นอย่างแนบเนียน ความเสื่อมจึงมาเยือน

“เติ้ง เสี่ยวผิง” ขณะนั้นอายุ 86 ปี ย่างเข้าปัจฉิมวัยไปนานแล้ว คือแก่หง่อมถึงขั้นยากที่จะทำงานการเมืองได้ การตัดสินใจใด จึงฟังแต่คนข้างกาย โอกาสผิดพลาดจึงมีสูง

เติ้ง เสี่ยวผิงและจ้าว จื่อหยาง
ความเห็นแตกหัก

“เติ้ง เสี่ยวผิง” เตรียมประกาศกฎอัยการศึกและ “เช็กบิล” กับนักศึกษาที่เรียกร้องสิทธิมนุษยชน แต่
“จ้าว จื่อหยาง” ไม่เห็นด้วยและอ่านเกมออก จึงเตรียมใบลาออกจากตำแหน่ง

แต่เพื่อนร่วมพรรคยับยั้งไม่นำใบลาออกไปยื่นต่อกรรมการบริหารพรรค

ความจริงหลังจากที่เขาพูดกับนักศึกษาแล้ว เหตุการณ์ดีขึ้นตามลำดับ แต่ก็ประกาศใช้กฎอัยการศึกจนได้ รถถังออกวิ่ง และสั่งให้ใช้อาวุธสงครามเข้าทำการปราบปรามและสลายการชุมนุม เป็นเหตุให้นักศึกษาเสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก

“เติ้ง” เป็นคนเก่งเหมือน “โจโฉ” ในเรื่อง “สามก๊ก” มีความสามารถที่จะปกครองคนทั้งประเทศ และอีกภาพก็คือมีความชั่วร้ายที่จะทำให้คนเดือดร้อนทั่วประเทศเช่นกัน

แม้ “เติ้ง เสี่ยวผิง” มีคุณต่อประเทศในการปฏิรูปเปิดประเทศ พัฒนาอุตสาหกรรม แต่ไม่เคยให้ความสนใจการพัฒนาจิตใจ คนทั้งโลกพูดถึงแต่คุณไม่เคยพูดถึงโทษ

เขาเป็นคนที่คิดแต่ผลประโยชน์ มุ่งหวังเป้าหมาย แต่ละเลยหลักคุณธรรม จริยธรรม

หลิว เสี่ยวปอ เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ

2010 “หลิว เสี่ยวปอ” ได้รับรางวัลโนเบล รัฐบาลจีนปิดข่าว ห้ามสื่อเสนอข่าว ห้ามไปรับรางวัล และทำการประท้วงคณะกรรมการโนเบล ตลอดจนการโจมตีรัฐบาลนอร์เวย์

พฤติการณ์ของรัฐบาลจีนไม่ชอบด้วยเหตุผล เพราะเป็นการลิดรอนสิทธิมนุษยชน

คณะกรรมการรางวัลโนเบลได้คำนึงถึงความสำคัญของ “สิทธิมนุษยชน” จึงพิจารณาให้รางวัลโนเบลสาขาสันติภาพแก่ “หลิว เสี่ยวปอ” โดยให้เหตุผลว่า “หลิว เสี่ยวปอ” ใช้เวลายาวนานต่อสู้เรียกร้องสิทธิมนุษยชนโดยปราศจากการใช้กำลัง เพราะเขาให้ความสำคัญแก่ “สิทธิมนุษยชนและสันติภาพ”

ก็เพราะการเคลื่อนไหวครั้งประวัติศาสตร์ “หลิว เสี่ยวปอ” จึงเข้า-ออกระหว่างคุกกับบ้านเป็นจำนวนนับครั้งไม่ถ้วน ครั้นเมื่อออกจากคุก ชีวิตส่วนตัวก็ถูกคุกคาม ไร้ความเป็นอิสระ ไม่ว่าจะเดินทางไป ณ ที่ใด จะมีเจ้าหน้าที่ตำรวจสะกดรอยตาม ฟังจาก “วิดีโอ” ของ “หลิว เสี่ยวปอ” เขากล่าวว่า ไปกินข้าวกับผู้ใด ผู้นั้นก็ต้องถูกสอบสวน แม้กระทั่งเพื่อนให้คนส่งเค้กวันคล้ายวันเกิดมาให้ คนนำส่งก็ต้องถูกสอบสวน

ล่าสุด เขาถูกจับกุมในข้อหา “ปลุกระดมโค่นล้มอำนาจการปกครองของรัฐ” เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2008 ต่อมาศาลสูงปักกิ่งได้ตัดสินให้จำคุก 11 ปี

หลิว เสี่ยวปอเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง

วันที่ 28 มิถุนายน 2017 “หลิว เสี่ยวปอ” ขอพักโทษเพื่อรักษาโรคมะเร็งขั้นสุดท้าย ศาลอนุญาต แต่ให้อยู่ที่บ้านหลังเล็กแห่งหนึ่งที่ชานเมือง ก็คือการจำคุกนั่นเอง เพียงเปลี่ยนสถานที่คุมขัง เขาขอไปรักษาตัวที่ต่างประเทศ เนื่องจากมีหลายประเทศแสดงความจำนงจะทำการรักษาดูแลอาการป่วย แต่ศาลไม่อนุญาต

ในที่สุด “หลิว เสี่ยวปอ” ก็จบชีวิตลงในบ้านหลังนั้นเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2017

พฤติกรรมของรัฐบาลจีนจึงไม่ต่างไปจากการ “ฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา”

หลังจากที่ “หลิว เสี่ยวปอ” ได้รับอนุญาตให้พักโทษเพื่อรักษาตัวเพียง 1 วัน คือ

วันที่ 29 มิถุนายน 2017 ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง มาร่วมงานครบรอบ 20 ปีที่ฮ่องกงกลับคืนสู่ประเทศจีน เมื่อลงจากเครื่องบิน ผู้สื่อข่าวมีคำถามเกี่ยวกับ “หลิว เสี่ยวปอ” 3 ข้อ 1.จะให้เดินทางไปรักษาต่างประเทศหรือไม่ 2.เมื่อใดจึงจะปล่อยให้พ้นโทษออกจากคุก 3.เมื่อใดจึงจะได้รับรับอิสรเสรีภาพ

ปรากฏว่า “สี จิ้นผิง” ไม่ตอบ และเดินขึ้นรถภายใต้การคุ้มกันอย่างแข็งขัน

สรุป “หลิว เสี่ยวปอ” ถูกจับสมัย “เติ้ง เสี่ยวผิง” และตายในสมัย “สี จิ้นผิง”

1989 ปีแห่งการเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตย

อดีต 1989 เป็นปีที่มีการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของโลก

ดูประหนึ่งว่า ตะวันออกและตะวันตกกำลังจะอำลาจาก “ระบอบสังคมนิยม”

กล่าวคือ เหตุการณ์เทียนอันเหมิน เรียกกันว่า “ขบวนการ64” และประเทศยุโรปตะวันออกกำลังล้มเลิกระบอบการปกครอง เรียกกันว่า “ฟ้าเปลี่ยนสี”

ทั้ง 2 ขั้วอำนาจได้ดำรงอยู่บนเส้นทางต่างกัน

ทั้ง 2 เหตุการณ์เป็นสัญลักษณ์บ่งบอกถึงการเปลี่ยนแปลงแนวทางการเมืองของค่ายคอมมิวนิสต์อันได้แก่ประเทศจีนและประเทศยุโรปตะวันออก

เวลาผ่านมา 30 ปี “โมเดลจีน” แจ้งเกิด ส่วนตะวันตกต้องตกอยู่ภายใต้ภาวะวิกฤต

นักวิชาการตะวันตกเข้าใจว่า ระบอบเสรีประชาธิปไตยได้รับความสำเร็จ

หากการพัฒนาของประวัติศาสตร์ต่างกับที่คาดเดาไว้ก่อน กล่าวคือ การเมืองตะวันตกประสบปัญหา ลัทธิประชานิยมของฝ่ายขวาแจ้งเกิด เป็นการกระทบต่อลัทธิเสรีอย่างเต็มสูบ ประเทศคอมมิวนิสต์ยุโรปตะวันออกรุ่นหลังเช่น โปแลนด์และฮังการี กลับแตกแถวถอยหลังเข้าคลอง โดยใช้ระบอบ “ประชาธิปไตยไม่เสรี” (illiberal democracy) ในขณะที่ประเทศจีนกลับขึ้น “รถด่วนทันสมัย” และไปไกลแล้ว

ระบอบการปกครองของจีนปัจจุบันคือ “สังคมนิยมแบบประสมประสาน” หมายถึงระบอบ “สังคมนิยม” รวมกับ “ทุนนิยม” ภาษาชาวบ้านก็คือ “พันธุ์ผสม” นั่นเอง

เหตุการณ์นองเลือด64รอยด่างลบไม่ออก

เหตุการณ์กวาดล้างการชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยที่เทียนอันเหมิน คือเรื่องสกปรกซึ่งกลายเป็น “รอยด่าง” ที่ลบไม่ออกของประเทศจีน

เมื่อถึง “4มิถุนา” เมื่อใด เมื่อนั้นก็มีคนรำลึกถึงวีรชนที่เรียกร้องประชาธิปไตย มิเคยว่างเว้น เมื่อถึงวันนั้น รัฐบาลก็จะทำการปิดกั้นทางเข้าใจกลางกรุงปักกิ่งอย่างแน่นหนาและเข้มแข็ง ทั้งนี้เพื่อมิให้ผู้คนเข้าไปในบริเวณที่เกิดเหตุจัดพิธีรำลึก

แม้กระนั้น ก็ยังมีบรรดาญาติหรือมารดาของผู้ตายใน “เหตุการณ์64” จัดการรำลึกด้วยวิธีการอื่น ทั้งนี้ ญาติของผู้ตายได้จัดตั้งเป็นกลุ่มเรียกว่า “มารดาเทียนอันเหมิน”

กรณีสะท้อนให้เห็นถึง “ความยิ่งใหญ่ของมารดา” และความผูกพันระหว่างบุตรกับผู้บังเกิดเกล้า แม้เวลาจะผ่านไปถึง 30 ปี แต่ความผูกพันระหว่างแม่กับลูกยังอยู่ยั้งยืนยง

แม้เวลาจะผ่านไปแล้ว 30 ปี แต่ก็ยังมีมารดาของผู้ตายจำนวนไม่น้อยมีความระทมขมขื่น กล้ำกลืนน้ำตา ในขณะที่ “สี จิ้นผิง” ทำเป็น “ทองไม่รู้ร้อน”

แม้เหตุการณ์มิได้เกิดในสมัย “สี จิ้นผิง” แต่ตามหลักรัฐศาสตร์ “สี จิ้นผิง” ก็ควรแสดงความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์เทียนอันเหมิน

“คราบเลือด”ที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน ก็เป็นเลือดจากบรรพบุรุษเดียวกัน
และอย่างน้อยที่สุด ในฐานะผู้นำสูงสุดของประเทศก็ควรจะเข้าใจถึงหัวอกของคนที่เป็นแม่ที่ต้องสูญเสียลูกไป อันเนื่องจากลูกกระสุนของรัฐบาล

ในประเทศจีน ยิ่งนานวันก็ยิ่งจะทำให้ “เหตุการณ์64” จางหายไป และให้ถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนในการปฏิรูปประเทศ อันเป็นข้ออ้างที่รับฟังมิได้

วาทกรรมที่เหลวไหลสิ้นดี

เมื่อไม่นานมานี้ “เว้ย เฟิ้ง” รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมจีนแสดงความคิดเห็นว่า “การสลายการชุมนุมเมื่อ 30 ปีก่อน เป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง”

เป็นการบิดเบือนประวัติศาสตร์

ประเด็นจึงมีว่า เหตุใดจึงมีคนเป็นจำนวนมากเห็นว่าการจัดการของรัฐบาลจีนอันเกี่ยวกับ “เหตุการณ์64” นั้น ไม่ถูกต้อง เพราะนั่นคือความเป็นจริง

การที่จะทำการประเมินประวัติศาสตร์ จะมองเพียง “ผล” อย่างเดียว โดยละเลย “ขบวนการ” มิได้ ซึ่งเป็นขบวนการที่รุนแรงทำการกวาดล้างประชาชนด้วยอาวุธสงคราม

จะใช้วาทกรรมอย่างไร “ก็ไม่มีทางถูกต้อง” เป็นอันขาด

รัฐบาลจีนไม่ยอมรับความจริงแห่งประวัติศาสตร์ และยังคิดหาทางกลบเกลื่อน

กรณีเป็นการไม่พูดความจริงกับชาวโลก

แม้จะเป็น “โมเดลจีน” แต่ก็ต้องมีสิทธิมนุษยชน และเสรีภาพ

ประเทศจีนอยู่ในยามที่ช่วงชิงศักดิ์ศรีแห่งคุณธรรม จึงจำเป็นต้องยอมรับผิดใน “เหตุการณ์64” หากมิฉะนั้น ก็ยากที่จะได้รับความเชื่อถือจากประชาคมโลก

การฉลอง “4มิถุนา” แม้เป็นเรื่องต้องห้ามในแผ่นดินใหญ่ แต่ที่ฮ่องกงมีการฉลองทุกปี ไม่เคยว่างเว้น คนจีนฮ่องกงให้ความสำคัญกับวันนี้มาก ไม่ว่าวันเวลาผ่านไปนานเท่าใด ความสำคัญของวันนี้ก็ยิ่งมีมากขึ้น

แม้ว่าบางครั้งสภาพอากาศไม่อำนวย ฮ่องกงก็มีการจัดงานฉลองอย่างเสมอต้นเสมอปลาย และได้มีการเรียกร้องให้รัฐบาลยอมรับผิดกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอีกด้วย

เป็นความภูมิใจของคนจีนฮ่องกง ที่ส่งเสริมประชาธิปไตย สิทธิเสรีภาพของประชาชน

ก็เพราะคนจีนฮ่องกงได้รับวัฒนธรรมจากอังกฤษมานาน วิถีชีวิตจึงกระเดียดไปทางฝรั่ง

การจัดงานฉลอง “64” เป็นเรื่องอ่อนไหว รัฐบาลจีนไม่ยอมรับความจริง จึงพยายามทำให้ประวัติศาสตร์จางหายไป แต่การลบ “รอยด่าง” ของประวัติศาสตร์ ทำไม่ได้

เนื่องจากรัฐบาลพยายามทุกวิถีทางทำการอำพราง คนรุ่นใหม่ส่วนใหญ่จึงไม่ทราบต้นเหตุที่แท้จริงอันเกี่ยวกับ “เหตุการณ์64”

ฮ่องกงฉลองยิ่งใหญ่คนร่วม180,000คน

เมื่อถึง “4มิถุนายน” ของทุกปี ในต่างประเทศที่มีคนจีนอาศัยอยู่ส่วนใหญ่ได้มีการจัดงานฉลองเพื่อรำลึกถึงวีรชนที่พลีชีพเพื่อประชาธิปไตย แต่ที่ไหนๆ ก็สู้ที่ฮ่องกงไม่ได้ เพราะที่ฮ่องกงยิ่งใหญ่ที่สุด ปีนี้มีคนร่วมฉลองเกิน 180,000 คน สูงเป็น 5 เท่าตัวของอดีต

ข่าวจากตำรวจฮ่องกงแจ้งว่า ที่ผ่านมายอดสูงสุดคือ 37,000 คน

ตัวเลขที่สูงขึ้นหลายเท่าตัว ย่อมเป็นเครื่องบ่งชี้ว่า “ไม่ตายใจ” กับ “เหตุการณ์64” เพราะรัฐบาลไม่ยอมรับผิด เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่มีคนตายถึงหมื่นกว่าคน

อานิสงส์หนึ่งประเทศสองระบบ

เพราะฮ่องกงได้รับอานิสงส์จากนโยบาย “หนึ่งประเทศสองระบบ” จึงสามารถจัดงานได้ยิ่งใหญ่ขนาดนี้ งานนี้ยังเป็นการบ่งบอกในเชิงสัญลักษณ์ให้คนฮ่องกงรู้ถึงคุณค่าแห่งเสรีภาพ อีกทั้งเป็นเครื่องเตือนใจให้ธำรงไว้ซึ่งสิทธิดังกล่าวต่อไปอย่างเป็นนิรันดร์

ถ้าวันหนึ่งในอนาคต รัฐบาลจีนเล่นบท “ตระบัดสัตย์” โดยสั่งให้ “เขตปกครองพิเศษฮ่องกง” ห้ามจัดงานรำลึกวีรชนที่พลีชีพใน “เหตุการณ์64”

วันนั้น นโยบาย “หนึ่งประเทศสองระบบ” ก็ต้องหมดความหมายลงโดยพลัน

ศ.ชยานันต์ ศุกลวณิช

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image