‘อัยการธนกฤต’ เปิด 2 เเนวทางคำวินิจฉัยศาล รธน.ปม 41 ส.ส.โดนร้องถือหุ้นสื่อ

‘อัยการธนกฤต’ เปิด 2 เเนวทางคำวินิจฉัยศาล รธน.ปม 41 ส.ส.โดนร้องถือหุ้นสื่อ ชี้ หากใช้หลักเดียวกับคำพิพากษาศาลฎีกาก่อนหน้านี้ส่งผล ส.ส.หลุดระนาว ส่วนหากเปลี่ยนหลักมีผลเฉพาะคดีที่เข้าศาลฎีกาหลังจากนี้ ไม่กระทบคดีตัดสินเเล้ว

เมื่อวันที่ 16 มิ.ย.ดร.ธนกฤต วรธนัชชากุล อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด อาจารย์ผู้บรรยายพิเศษวิชากฎหมายวิธีพิจารณาความและพยานหลักฐาน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รามคำแหง และนิด้า

ได้โพสต์เฟสบุ๊ค กรณีที่มี ส.ส.พรรคอนาคตใหม่เข้าชื่อร้องประธานสภาผู้แทนราษฎร เรื่องขอให้สมาชิกภาพ41 ส.ส.สิ้นสุดลงจากลักษณะต้องห้ามกรณีเป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชน ว่า

แนวทางของคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญกรณี ส.ส. 41 คน ถูกร้องถือหุ้นสื่อ

Advertisement

ตามที่ ส.ส. พรรคอนาคตใหม่เข้าชื่อร้องต่อนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร    ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 วรรคหนึ่ง ว่า สมาชิกภาพของ ส.ส. จำนวน 41 คนได้สิ้นสุดลงตามมาตรา 101 (6) เนื่องจากมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 จากการเป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชน และนายชวน หลีกภัย ได้ส่งหนังสือไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยว่าสมาชิกภาพ ส.ส. ของ ส.ส. จำนวน 41 คน ได้สิ้นสุดลงแล้วหรือไม่ นั้น แนวทางคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในเรื่องนี้ น่าจะมีได้ 2 แนวทาง ดังนี้

1.แนวทางที่เป็นไปในแนวทางเดียวกันกับคำสั่งศาลฎีกาที่ 1356/2562 และ 1706/2562     ที่วินิจฉัยว่า การที่นายคมสัน ศรีวณิชย์ ผู้สมัคร ส.ส. จังหวัดอ่างทอง พรรคประชาชาติ เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการโรงพิมพ์ รับพิมพ์หนังสือจําหน่าย และออกหนังสือพิมพ์ และการที่นายภูเบศวร์ เห็นหลอด ผู้สมัคร ส.ส. จังหวัดสกลนคร พรรคอนาคตใหม่ เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจํากัด ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการสถานีวิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์ และออกหนังสือพิมพ์ นั้น ถือได้แล้วว่าบุคคลทั้งสองเป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชน ซึ่งต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (3) และ พรป. ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ. 2561 มาตรา 42 (3) ถึงแม้ว่าในความเป็นจริงแล้วบริษัทและห้างหุ้นส่วนจำกัดดังกล่าวจะเพียงแค่ระบุให้มีวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนไว้เท่านั้น แต่ในความเป็นจริงไม่ได้ประกอบกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนก็ตาม

ถ้าศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยในแนวทางนี้ก็จะเป็นการวางแนวคำวินิจฉัยที่ทำให้ ส.ส. ที่ถือหุ้นในนิติบุคคลที่เพียงแค่มีวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชน แม้จะไม่ได้ประกอบกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนก็ตาม ต้องตกเป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.และจะส่งผลให้สมาชิกภาพของ ส.ส. จำนวนมากทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านที่มีลักษณะต้องห้ามดังกล่าวต้องสิ้นสุดลง

  1. แนวทางที่พิจารณาว่านิติบุคคลที่ ส.ส. เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้น ประกอบกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนตามความเป็นจริงหรือไม่ โดยแนวทางนี้ ศาลรัฐธรรมนูญน่าจะพิจารณาว่าการที่กำหนดข้อห้ามไม่ให้เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชน เพื่อไม่ต้องการให้ผู้สมัคร ส.ส. ใช้กิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนชี้นำประชาชนในการหาเสียงเลือกตั้ง หรือใช้อิทธิพลหรืออำนาจของตนในการแทรกแซงสื่อ ดังนั้น ศาลรัฐธรรมนูญจึงจะไม่ได้พิจารณาเพียงแค่ว่านิติบุคคลที่ ส.ส. เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นมีวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนเท่านั้น แต่น่าจะพิจารณาด้วยว่า นิติบุคคลนั้นได้ประกอบธุรกิจที่เป็นกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนตามความเป็นจริงหรือไม่ประกอบด้วย ซึ่งหากศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาในแนวทางนี้ ก็จะต้องพิจารณาสมาชิกภาพ ส.ส. ของแต่ละคน การสิ้นสุดสมาชิกภาพ ส.ส. หรือไม่จึงต้องพิจารณาเป็นราย ๆ ไป

หากศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยในแนวทางนี้ก็จะมีผลผูกพันให้ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งต้องวินิจฉัยในแนวทางเดียวกัน หากมีคดีลักษณะเดียวกันนี้ขึ้นสู่การวินิจฉัยของศาลฎีกาในอนาคต แต่ไม่มีผลในการเปลี่ยนแปลงแก้ไขคำสั่งศาลฎีกาที่ 1356/2562 และ 1706/2562 ดังกล่าวที่ถึงที่สุดไปแล้ว

และเรื่องนี้ไม่เข้ากรณีที่คำพิพากษาหรือคำสั่งที่ถึงที่สุดระหว่างศาลขัดแย้งกันในคดีที่มีข้อเท็จจริงเป็นเรื่องเดียวกันตาม พรบ. ว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. 2542 มาตรา 14 ซึ่งใช้บังคับเฉพาะกับศาลยุติธรรม ศาลปกครอง และศาลทหารเท่านั้น ซึ่งจะมีคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลเป็นผู้วินิจฉัยเกี่ยวกับการปฏิบัติตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลที่ถึงที่สุดที่ขัดแย้งกัน

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image