เครือข่ายครูประชาบาล 20 จังหวัดอีสานรวมพลังค้าน พ.ร.บ การศึกษาฉบับประกอบวิชาชีพครู

เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน ที่ห้องประชุมโรงเรียนอนุบาลนครราชสีมา อ.เมือง จ.นครราชสีมา นายพิสิษฐ์ ชดกิ่ง ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครราชสีมา เขต 1 (สพป.นม.1) พร้อมนายพลชัย โสภากันต์ ประธานชมรมครูประชาบาลภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นายไพทูรย์ อักษรครบุรี ประธานเครือข่ายครูโคราชและนายปฎิพัทธ์ ทองเทียนวิเศษ ผู้อำนวยการ รร.อนุบาลนครราชสีมา ร่วมจัดการประชุมสัมมนาการยกร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ) การศึกษาแห่งชาติ (ฉบับประกอบวิชาชีพครู) โดยมีผู้บริหารและบุคลากรทางการศึกษาที่เป็นตัวแทนสถานศึกษาในพื้นที่ 20 จังหวัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร่วมวิพากษ์และแสดงความคิดเห็นทั้งนี้ได้รับเกียรติจากนายออน กาศกระโทก สมาชิกวุฒิสมาชิก (สว.) ผศ.ดร.อดิศร เนาวนนท์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา (มร.นม.) และนายทอง วิรยะจารุ ที่ปรึกษาสหกรณ์ออมทรัพย์ครูนครราชสีมา ได้บรรยายให้ความรู้และร่วมวิพากษ์ในประเด็นที่เป็นข้อวิตกกังวล

นายออน สว. เปิดเผยว่า ร่าง พ.ร.บ ฉบับนี้ ต้องเปิดรับฟังความคิดเห็นให้ครอบคลุมทุกภาคส่วน โดยเฉพาะกลุ่มที่มีส่วนได้ส่วนเสีย ซึ่งเป็นข้าราชการครูต้องมีสิทธิมีเสียงและสามารถท้วงติงในมาตราที่อาจมีผลกระทบต่อการศึกษาในอนาคต จึงได้รวมตัวเคลื่อนไหว อย่างไรก็ตาม สว.ต้องฟังเสียงครูทั่วประเทศด้วย เพื่อให้เกิดข้อยุติและความพึงพอใจของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยมีเป้าหมายเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาของชาติ

“กรณีใบรับรองวิชาชีพครูได้ปรับเปลี่ยนเป็นใบประกอบวิชาชีพครูมิใช่ใบรับรองวิชาชีพครู การยกเลิกวิทยฐานะ การเปลี่ยนชื่อเรียกจากผู้อำนวยการเป็นครูใหญ่และประเด็นที่รัฐมอบหมายให้เอกชนเข้ามาบริหารจัดการหรือดำเนินการใช้ทรัพยากรของรัฐ บางข้อแม้นไม่ได้กระทบต่อคุณภาพการศึกษา แต่ทำให้เพื่อนครูวิตกกังวล ในฐานะที่ตนเป็น สว. สายวิชาชีพบุคลากรทางการศึกษาจะนำความรู้และประสบการณ์ที่รับราชการครูร่วม 30 ปี ทำความเข้าใจกับคณะกรรมาธิการและ สว. ให้คำนึงถึงเสียงครูทั่วประเทศ” สว.ออนกล่าว

ผศ.ดร.อดิศร อธิการบดี มร.นม. กล่าวว่า ข้อสังเกต พ.ร.บ. ฉบับนี้ บางมาตราเป็นเรื่องดี ประเด็นใบประกอบวิชาชีพครูไม่ปรากฏในร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ได้เลี่ยงเป็นหนังสือรับรองความเป็นครูและชื่อเรียกตำแหน่งครูใหญ่แทนผู้อำนวยการตนเข้าใจเจตนารมณ์ของร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ จึงได้ให้แนวคิดการร่าง พรบ.ฉบับใหม่ ควรพิจารณา พ.ร.บ. ฉบับปี 2542 และฉบับที่คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) เสนอขึ้นมาประกอบกัน จุดที่เป็นปัญหาคือใบประกอบวิชาชีพครูยังคงอยู่และควรมีใบเดียว ที่ผ่านมาการมีหลายใบได้สร้างความยุ่งยาก สับสน ไม่ก่อให้เกิดการพัฒนาต่อการศึกษา ส่งผลกระทบอุดมศึกษา ครูต้องเรียนบริหารการศึกษาให้ได้ใบประกอบอาชีพครูหลายใบ

Advertisement

ควรกระจายงบประมาณสู่โรงเรียนโดยตรงและให้เขตพื้นที่การศึกษาคงอยู่รับผิดชอบดูแลงานด้านวิชาการ บนพื้นฐานของความรับผิดชอบและต้องสร้างกลไกป้องกันไม่ให้เกิดการทุจริต มีความจำเป็นต้องระบุในร่าง พ.ร.บ.พร้อมบทลงโทษอย่างชัดเจน การให้โรงเรียนทั่วประเทศเป็นนิติบุคคลเป็นไปไม่ได้ แต่สิ่งที่จำเป็นต้องสนับสนุนคือโรงเรียนขนาดใหญ่ โรงเรียนที่มีความพร้อม ส่วนโรงเรียนขนาดเล็กการเป็นนิติบุคคลในรูปแบบของการรวมกลุ่ม ซึ่งต้องมีผู้อำนวยการโรงเรียนเพียงคนเดียว ดังนั้นต้องมีความหลากหลายในการบริหารราชการในการดีไซน์ร่าง พ.ร.บ ฉบับนี้ ฝากข้อคิดอย่าให้วิทยฐานะ ความเข้มแข็งของวิชาชีพครูลดน้อยถอยลงกว่าเดิม ต้องสร้างความเชื่อมั่นวิทยฐานะจะต้องไม่ต่ำกว่าเดิม เพื่อขวัญ กำลังใจข้าราชการครู ผศ.ดร.อดิศร กล่าว

นายพรชัย ประธานชมรมครูประชาบาลภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวว่า ครูอีสานมีความห่วงใยการเสนอร่าง พ.ร.บ ฉบับนี้ ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในการบริหารจัดการการศึกษาของประเทศในอนาคต กฎหมายย่อมมีการเปลี่ยนแปลงไปตามสภาวะสังคมพวกเราไม่ได้คัดค้านการเปลี่ยนแปลงไปสู่คุณภาพที่ดีขึ้น แต่ห่วงใยในประเด็นในบางมาตรา การปรับเปลี่ยนจะต้องนำไปสู่คุณภาพที่ดีขึ้น โดยเฉพาะวิชาชีพครูต้องพัฒนาคุณภาพค่าตอบแทนและส่งผลต่อคุณภาพการศึกษาในทิศทางที่ดีขึ้น ประเด็นที่ไม่เห็นด้วยมีดังนี้ 1.ใบประกอบวิชาชีพควรมีเพียงใบเดียวให้ผู้ประกอบวิชาชีพครูมีความมั่นใจและมีศักดิ์ศรีดังเช่นวิชาชีพชั้นสูงอื่นๆ 2.การเปลี่ยนจากผู้อำนวยการโรงเรียนเป็นครูใหญ่ เมื่อไม่ส่งผลต่อคุณภาพการศึกษาก็ไม่ควรเปลี่ยน เราไม่ต้องการล้มล้างร่าง พ.ร.บ ฉบับนี้ ขอให้ผู้ที่มีอำนาจรับฟังความคิดเห็นของครูบ้าง เพื่อนำไปสู่การขัดเกลาร่างกฎหมายให้มีความเหมาะสมมากที่สุด

ด้านนายพิสิษฐ์ ผอ.สพป.นม. 1 กล่าวในฐานะประธานกลุ่มผู้อำนวยการเขตการศึกษานครชัยบุรินทร์ (นครราชสีมา-ชัยภูมิ-บุรีรัมย์-สุรินทร์) ว่า หลังได้รับฟังความคิดเห็นของข้าราชการครู มีประเด็นนำเสนอให้กับรัฐบาลและผู้เกี่ยวข้องทบทวน พ.ร.บ โดยเปิดโอกาสให้ผู้บริหารและข้าราชการครูหรือผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นการร่างโดยรวบรวมความคิดเห็นที่หลากหลาย โดยเฉพาะประเด็นที่มีผลกระทบเป็นวงกว้าง เพื่อให้กฎหมายมีความเหมาะสมและมีคุณภาพมากที่สุด

Advertisement

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image