ดัชนีผลผลิตอุตฯ เดือนพ.ค. ปรับตัวต่ำสุดในรอบ 3 ปี 5 เดือน (ชมคลิป)

นายณัฐพล รังสิตพล ผู้อำนวยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่าดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (เอ็มพีไอ) เดือนพฤษภา​คม 2562 อยู่ที่ระดับ 103.68 หดตัว 3.99% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ระดับ 107.98 ซึ่งนับเป็นอัตราการหดตัวลงมากสุดในรอบ 3 ปี 5 เดือนนับตั้งแต่เดือนมกราคม 2559 ที่สศอ.ปรับฐานการคำนวณใหม่ เนื่องจากได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างจีน-สหรัฐ ส่งผลให้แนวโน้มมูลค่าการส่งออกชะลออย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนพฤศจิกา​ยน 2561 จนถึงเดือนเมษายน 2562 หดตัวไปแล้ว 1.01% อัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ 67.72%

นายณัฐ​พล​ กล่าวว่า สศอ.ประเมินแนวโน้มดัชนีเอ็มพีไอเดือนมิถุนายน คาดว่าจะปรับตัวลดลงต่อเนื่อง เห็นได้จากการนำเข้าสินค้าทุนเดือนพฤษภา​คมหดตัว 6.1% มูลค่านำเข้าอยู่ที่ 5,177.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ การนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป ไม่รวมทองคำหดตัว 2.3% มูลค่านำเข้าอยู่ที่ 7,561.2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ สะท้อนว่าผู้ประกอบการไม่ได้มีแผนเพิ่มกำลังการผลิตล่วงหน้า ส่วนดัชนีเอ็มพีไอเฉลี่ย 5 เดือนหดตัว 1.26%

“การนำเข้าสินค้าทุนและวัตถุดิบติดลบต่อเนื่อง สะท้อนดัชนีเอ็มพีไอเดือนถัดไปไม่ค่อยดีเท่าที่ควร เป็นไปได้ที่ผู้ประกอบการจะลดอัตรากำลังการผลิตลงแต่อาจจะไม่ลงลึกมากนัก เพราะภาพรวมการนำเข้าไม่รวมทองคำยังขยายตัวได้เล็กน้อย 0.6% มูลค่าอยู่ที่ 20,339.1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเบื้องต้นประเมินทิศทางการค้าโลกยังมองไม่เห็นแนวโน้มที่ดีขึ้น แม้จีนกับสหรัฐมีการเจรจาการค้ากันอีกรอบแต่ในข้อเท็จจริงวิเคราะห์กันว่าเรื่องนี้ไม่น่าจะจบง่ายๆ”

นายณัฐ​พล​ กล่าวว่า หากผลเจรจาการค้าระหว่างจีน-สหรัฐไม่สามารถหาข้อยุติร่วมกันได้ และยืดเยื้อออกไปเรื่อยๆ ไทยควรต้องมีนโยบายดึงดูดการค้าและการลงทุนที่มีเสถียรภาพมากเพียงพอที่จะรองรับแนวโน้มการการย้ายฐานการผลิตและการลงทุนจากต่างชาติเข้ามาในไทยเพื่อชดเชยการส่งออกที่ชะลอตัว รวมถึงการจัดตั้งรัฐบาลที่มีเสถียรภาพโดยเร็ว

Advertisement

นอกจากนี้ หวังว่าการเจรจาการค้าระหว่างจีน-สหรัฐฯ รอบใหม่จะคลี่คลายไปในทิศทางที่ดี ทางสศอ.จึงยังคงประมาณการดัชนีเอ็มพีไอและผลิตภัณฑ์มวลรวม (จีดีพี) อุตสาหกรรมปีนี้อยู่ในกรอบ 1.5-2.5% เป็นเป้าหมายล่าสุดที่คาดไว้ ลดลงจากก่อนหน้านี้คาดไว้ที่ 2-3% ทั้งนี้ สศอ.ยังต้องเฝ้าระวังและติดตามผลกระทบจากสงครามการค้าอย่างใกล้ชิด

อย่างไรก็ตาม สำหรับดัชนีเอ็มพีไอเดือนพฤษภา​คม 2562 ที่หดตัวเป็นผลจากอุตสาหกรรมหลักปรับตัวลดลง อาทิ อุตสาหกรรมอาหารหดตัว 5.8% เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์หดตัว 4.8% การผลิตรถยนต์หดตัว 6.11% เคมีภัณฑ์หดตัว 12.56% ปิโตรเคมีหดตัว 1.21% ผลิตภัณฑ์ยางหดตัวทั้งการผลิตยางรถยนต์ที่หดตัว 2.64% ถุงมือยางและถุงมือตรวจการผลิตหดตัว 0.59% พลาสติกหดตัว 2.35% สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มหดตัวทั้งในส่วนของเส้นใยสิ่งทอที่หดตัว 5.97% เป็นต้น

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image