คลังจ่อปรับลดจีดีพีปีนี้หลังส่งออก-ท่องเที่ยวแย่ ชงรัฐบาลใหม่ออกมาตรการกระตุ้น

นายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน ในฐานะโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ สศค.กำลังติดตามการประชุมจี 20 ระหว่างวันที่ 28-29 มิถุนายนนี้ว่าผู้นำสหรัฐและผู้นำจีนจะมีข้อสรุปในเรื่องสงครามการค้าอย่างไร รวมถึงสศค.กำลังติดตามตัวเลขภาวะเศรษฐกิจในเดือนมิถุนายน เพื่อปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยปีนี้ เดิมสศค.คาดว่าจะโต 3.8% คิดว่าอาจจะต้องปรับลดลง หลังจากที่ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ปรับลดลงเหลือ 3.3% ส่วนสศค.จะลดเท่าใดนั้นรอดูความชัดเจนในเรื่องสงครามการค้าและตัวเลขต่างๆ ก่อน อย่างไรก็ตามมีแนวโน้มเศรษฐกิจครึ่งปีหลังจากขยายตัวมากกว่าครึ่งปีแรก เพราะฐานในครึ่งปีหลังของปีที่ผ่านมาอยู่ในระดับต่ำ

นายพรชัยกล่าวว่า ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาเครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจทั้งในเรื่องการส่งออกและการท่องเที่ยวชะลอตัวลงเห็นได้ชัดเจน โดยการส่งออกสินค้าในรูปแบบสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐติดลบ 5.8% ถือว่าแย่กว่าที่คาดไว้เพราะติดลบต่อเนื่องมานานหลายเดือน ส่วนท่องเที่ยวจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติติดลบ 1% โดยนักท่องเที่ยวจีนติดลบ 2.7% ส่วนรายได้ท่องเที่ยวต่างชาติติดลบ 1% ทำให้ทั้งปีคาดไว้ว่าท่องเที่ยวต่างชาติอยู่ที่ 40 ล้านคน จากปีที่แล้ว 38 ล้านคน อาจไม่ถึงเป้าหมายวางไว้ แต่จะสูงกว่าปีที่แล้ว ซึ่ง สศค.กำลังอยู่ระหว่างประเมินตัวเลขนักท่องเที่ยวใหม่

“การส่งออกและบริการมีสัดส่วน 77% ของจีดีพี และเฉพาะส่งออกอย่างเดียวมีสัดส่วน 55-56% ของจีดีพี ส่วนท่องเที่ยวต่างชาติมีสัดส่วน 12% ของจีดีพี ดังนั้นเมื่อ 2 ส่วนนี้มีตัวเลขที่แย่ลงหลีกเลี่ยงไม่ได้จะกระทบในภาพรวม ขณะนี้กระทรวงการคลังกำลังเตรียมพร้อมมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเสนอต่อรัฐบาลใหม่ เพื่อดูแลเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีปัญหา รวมถึงนำนโยบายหาเสียงของพรรคร่วมรัฐบาล เช่นบัตรสวัสดิการ มารดาประชารัฐ เรื่องเบี้ยยังชีพมาพิจารณาถ้าทำนโยบายดังกล่าวต้องดูไม่ให้มีผลกระทบต่อภาระทางการเงินการคลัง”นายพรชัย กล่าว

นายพิสิทธิ์ พัวพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สศค.กล่าวว่า สำหรับเศรษฐกิจภูมิภาคในเดือนพฤษภาคม 2562 พบว่าขยายตัวเพียง 3 ภาคคือ ภาคตะวันออก จากการขยายตัวของการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน กรุงเทพและปริมณฑล ขยายตัวจากากรบริโภคเอกชน และการลงทุนเอกชน และภาคกลางขยายตัวจากการบริโภคภาคเอกชนและการท่องเที่ยว ส่วนภาคอื่นอยู่ในภาวะทรงตัว ประกอบด้วย

Advertisement

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้ ภาคตะวันตก และภาคเหนือ ส่วนใหญ่เป็นผลจากการบริโภค การลงทุนภาคเอกชน และท่องเที่ยวที่ปรับตัวลดลง
นายพิสิทธิ์ กล่าวว่า สำหรับดัชนีเชื่อมั่นอนาคตภูมิภาค เดือนมิถุนายน 2562 ชี้แนวโน้มอนาคตเศรษฐกิจช่วง 6 เดือนข้างหน้ายังคงขยายตัวดีทั่วทุกภูมิภาค นำโดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือค่าดัชนีอยู่ที่ 71.1 ภาคตะวันออก68.1 และภาคเหนือ 67.7 4 ภาคใต้ 66.3 ภาคตะวันตก 64.9 ภาคกลาง 63.3 กทมและปริมณฑล 58.1 โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนหลักจากภาคอุตสาหกรรมและภาคเกษตร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image