ปราชญ์ชาวบ้านปทุมฯ ผุดไอเดียเลี้ยง ‘ผึ้งโพรง’ สร้างรายได้ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ปราชญ์ชาวบ้านปทุมฯ ผุดไอเดียเลี้ยง ‘ผึ้งโพรง’ สร้างรายได้ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งว่ามีชาวบ้านเลี้ยงผึ้งโพรง ที่ตำบลหน้าไม้ อ.ลาดหลุมแก้ว จ.ปทุมธานี จึงลงพื้นที่ไปตรวจสอบพบนายละเอียด โอผล หรือบังฟิก ที่ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง (เชิงเกษตร) เลขที่ 60 หมู่ 2 ต.หน้าไม้ อ.ลาดหลุมแก้ว จ.ปทุมธานี

นายละเอียด โอผล หรือบังฟิก กล่าวว่า ช่วงเดือนพฤษภาคมเป็นฤดูกาลที่ผึ้งโพรงกำลังย้ายรัง ตนก็เลยไปจับมาที่ทางภาคใต้ ได้ผึ้งมาหลายรัง ในส่วนของภาคกลางของจังหวัดปทุมธานี ยังไม่มีใครเลี้ยงและทำเป็นอาชีพเสริมได้ ตนก็เลยลองทำตรงนี้ดูเพื่อให้มันเป็นรายได้เสริม และเมื่อทดลองเลี้ยงดูแล้วยิ่งมั่นใจว่าเป็นเจ้าแรกของจังหวัดปทุมธานี ตนพยายามถามหาเครือข่ายในภาคกลางก็ไม่มีใครเลี้ยงผึ้งโพรงเลย

ตนต้องติดต่อไปยังคนที่เลี้ยงผึ้งโพรงที่จังหวัดพัทลุง จังหวัดพะเยา ทางเหนือกับใต้ที่เขาเลี้ยงผึ้งโพรงกันเยอะมาก แล้วตนก็ได้ดูภาพการเลี้ยงผึ้งโพรงของต่างประเทศ เช่น จีนกับเวียดนาม ที่ทำกันเยอะ เค้าจับผึ้งมาเลี้ยงในเสาไฟฟ้า ถ้าจับตัวนางพญาผึ้งได้เค้าก็จะตามมาอยู่ทั้งรัง เมื่อเช้าตนก็ไปจับมาแต่ก็ไม่ได้นางพญา ด้านตัวนางพญาสังเกตง่ายๆ ตัวเค้าจะใหญ่กว่าผึ้งงาน ปีกจะสั้น ก้นจะดำและยาว ถ้าจับตัวนางพญามาได้ไปไหนเค้าก็จะตามไปด้วยกันหมด

นายละเอียดฝากไปถึงใครที่อยากจะเลี้ยงผึ้งเพื่อหารายได้เสริมว่า สามารถมาศึกษาเรียนรู้กับตนได้ หรือจะดูคลิปจาก google ก็ได้ แต่ตนว่าต้องมาเรียนรู้และลองทำเองไม่งั้นจะทำไม่ถูก การลงทุนทำกล่องไม้เลี้ยงผึ้งโพรง หาซื้อไม้เก่ามาทำเอง หากหาซื้อสำเร็จรูปตามท้องตลาดจะมีราคาตู้ละประมาณ 600 บาท แต่ถ้าทำเองประมาณ 150 บาท วิธีป้องกันมดเข้าไปกินน้ำผึ้งที่รังคือ นำผ้าจุ่มน้ำมันเครื่องที่ใช้แล้วมาผูกที่ต้นเสารังผึ้ง หรือใช้จาระบีทารอบเสามดก็จะไม่ขึ้นมา เพราะน้ำผึ้งหวาน ถ้ามดเข้ารังผึ้งจะหนี ซึ่งตอนนี้ตนทำให้ผึ้งเข้ามาอยู่ได้แล้ว 7 รัง ซึ่งผึ้งโพรงจะให้น้ำหวานภายในสามถึงสี่เดือน สามารถเก็บรังผึ้งได้และย้ายตัวผึ้งไปรังใหม่ ซึ่งตนกำลังต่อรังผึ้งเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ เพื่อจะให้ผึ้งเข้ามาอยู่และทำรังต่อไป

Advertisement

อนึ่ง ผึ้งเป็นดัชนีชีวัดความเป็นเกษตรอินทรีย์ได้อย่างยอดเยี่ยม เพราะหากบริเวณรอบๆ มีการใช้สารเคมีในการทำการเกษตรผึ้งไม่สามารถอยู่รอดได้ ดังนั้นจึงสามารถใช้การเลี้ยงผึ้งเป็นการวัดผล หรือเป็นดัชนีชี้วัดความเป็นเกษตรอินทรีย์ได้ในระดับหนึ่ง

 

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image