ความเชื่อมั่นเอสเอ็มอีรูด ปชช.ระวังใช้จ่าย-เงินบาทแข็งกระทบกำลังซื้อนักท่องเที่ยว

ความเชื่อมั่นเอสเอ็มอีรูด ปชช.ระวังการใช้จ่าย-เงินบาทแข็งกระทบกำลังซื้อนักท่องเที่ยว-แล้งกระทบรายได้เกษตรกร

รายงานข่าวจากสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(สสว.) เปิดเผยถึงดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม(เอสเอ็มอี) ภาคการค้าและบริการ ในเดือนพฤษภาคม 2562 ว่า ผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นเอสเอ็มอีภาคการค้าและบริการ ประจำเดือนพฤษภาคม 2562 จากกลุ่มตัวอย่างทั่วประเทศ 1,400 ตัวอย่าง พบว่า ดัชนีอยู่ที่ระดับ 87.2 ลดลงจากเดือนเมษายน 2562 ที่อยู่ระดับ 100 ซึ่งความเชื่อมั่นที่ลดลงอยู่ในระดับต่ำกว่าค่าฐานที่ 100 สะท้อนถึงผู้ประกอบการมีความเชี่อมั่นต่อการดำเนินธุรกิจหดตัวลง และยังคงระมัดระวังการใช้จ่าย เพราะสถานการณ์ทางการเมืองยังไม่มีความชัดเจนและยังไม่สามารถดำเนินนโยบายต่างๆได้ อีกทั้งปัจจัยภายนอกโดยเฉพาะสงครามทางการค้าระหว่างสหรัฐ กับจีน ยังปัจจัยบั่นทอนการส่งออกของไทย และบาทแข็งค่ากระทบกำลังซื้อของนักท่องเที่ยวต่างชาติ บางพื้นที่เริ่มประสบปัญหาภัยแล้งส่งผลต่อกำลังซื้อของภาคการเกษตรที่มีอยู่น้อยให้น้อยลงไปอีก

“เดือนพฤษภาคม 2562 เป็นช่วงการถือศีลอดของผู้ที่นับถือศาสนาอิสลามและต้องงดเว้นกิจกรรมรื่นเริงต่างๆ รวมทั้งมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหาร ส่งผลให้มีการใช่จ่ายต่างๆ ลดลงสำหรับผู้ที่นับถือศาสนาอิสลาม และนักท่องเที่ยวกลุ่มดังกล่าวทั้งในและต่างประเทศลดลงอย่างเห็นได้ชัดเจน” รายงานข่าวระบุ

รายงานข่าวกล่าวว่า สำหรับความเชื่อมั่นคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า ปรับตัวลดลงอยู่ที่ระดับ 100.8 โดยผู้ประกอบการมีความเห็นว่าอีก 3 เดือนข้างหน้าจะขายสินค้าและบริการ รวมถึงมีกำไรลดลงเมื่อเทียบกับเดือนนี้ เนื่องจากเดือนสิงหาคม 2562 อยู่ในช่วงมรสุมพัดผ่านประเทศไทยโดยทั่วกัน อาจก่อให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากในหลายพื้นที่ ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการคมนาคมขนส่ง และการท่องเที่ยว อย่างไรก็ตามยังคงมีปัจจัยเกื้อหนุนในการกระตุ้นการใช้จ่ายในช่วงเดือนสิงหาคมคือวันแม่แห่งชาติ ซึ่งเป็นวันหยุดติดต่อกัน และมักจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางไปท่องเที่ยวสูงกว่าปกติ อีกทั้งภาครัฐและเอกชนมักมีการจัดกิจกรรมเกี่ยวกับวันแม่ซึ่งอาจช่วยกระตุ้นการบริโภคได้บางส่วน

Advertisement

รายงานข่าวกล่าวว่า เมื่อสำรวจถึงปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจของผู้ประกอบการสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1.ค่าวัตถุดิบในการประกอบการที่สูงขึ้น 2.ราคาสาธารณูปโภคสูงขึ้น 3.ราคาเชื้อเพลิงสูงขึ้น 4.ค่าจ้างแรงงานสูงขึ้น และ 5.ค่าขนส่งสูงขึ้น ขณะที่ปัญหาที่ผู้ประกอบการต้องการเร่งให้แก้ไข 5 อันดับแรก ได้แก่ 1. ราคาสาธารณูปโภคสูงขึ้น 2.ค่าวัตถุดิบในการประกอบการที่สูงขึ้น 3.ราคาเชื้อเพลิงสูงขึ้น 4.ค่าจ้างแรงงานสูงขึ้น และ 5.ค่าขนส่งสูงขึ้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image