อ่าวไทยเศร้า ไร้เงายอดปลาทู ‘หน้างอ คอหัก’

ปลาทูจัดอยู่ในวงศ์เดียวกับปลาโอ ปลาอินทรีและปลาทูน่า อาศัยอยู่รวมกันเป็นฝูงในทะเลที่ระดับน้ำลึก 15-200 เมตร ในน่านน้ำอินโด-แปซิฟิก มหาสมุทรแปซิฟิก ส่วนในน่านน้ำไทยนั้นพบได้ทั้งฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน

“ปลาทูแม่กลอง” มีเอกลักษณ์ “หน้างอ คอหัก” ในลักษณะของปลาทูนึ่งในเข่งเล็กๆ แต่มีรสชาติอร่อยสุดยอดอันดับต้นๆ ของเมืองไทย แต่จากข้อมูลของกรมประมงพบว่า ปริมาณการจับปลาทูจากการประมงพาณิชย์และประมงพื้นบ้าน ปี 2559 ในฝั่งอ่าวไทยและอันดามันมีประมาณเท่ากับ 26,657 และ 4,463 ตัน คิดเป็นมูลค่า 1,574 และ 210 ล้านบาท ตามลำดับ ซึ่งจำนวนที่ลดลงอย่างมากเช่นนี้ จนกลายเป็นวิกฤตทำให้ทุกคนเริ่มตระหนักว่า “ปลาทูสูญพันธุ์” จากอ่าวไทย

สถานการณ์เริ่มเห็นชัดขึ้นเมื่อช่วงเดือนมิถุนายน บิ๊กสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย ซึ่งคลุกคลีกับวงการประมงไทยมากว่า 30 ปี ได้ห่วงปลาทูไทยหวั่นสูญพันธุ์ไม่เกิน 5 ปี

นายมงคล สุขเจริญคณา ประธานคณะกรรมการบริหารสมาคมประมงแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สถานการณ์ปลาทูไทยในปัจจุบันอยู่ในขั้นวิกฤต แม้ทุกปีกรมประมงประกาศปิดอ่าวไทยตอนบน (อ่าวรูปตัว ก.ไก่) ตั้งแต่ จ.ชลบุรี ถึง จ.ประจวบคีรีขันธ์ ห้ามจับปลาในฤดูวางไข่สองช่วงคือระหว่างวันที่ 15 มิ.ย.-15 ส.ค. และ 30 ส.ค.-30 ก.ย. เพราะให้สัตว์ทะเลวางไข่และได้เจริญพันธุ์เต็มวัยโดยเฉพาะปลาทู ซึ่งเป็นสัตว์เศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ ที่ผ่านมาเรือประมงพาณิชย์ถูกควบคุมไว้อย่างเข้มงวด แต่ปรากฏว่าประมงพื้นบ้านได้ใช้อวนจมลักลอบจับปลาทูพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ ซึ่งจะทำให้ปลาทูหมดจากอ่าวไทยใน 5 ปี จึงเรียกร้องให้ภาครัฐเร่งแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง

Advertisement

“ปลาทูเป็นปลาผิวน้ำในช่วงที่มีไข่และจะเข้าวางไข่จะว่ายอยู่หน้าดินเพื่อเข้าไปวางไข่ตามแนวชายฝั่ง แต่ในอดีตชาวประมงจะใช้อวนลอยในการจับปลาทู ซึ่งไม่มีปัญหาเพราะปลาทูได้วางไข่ไปแล้ว แต่ระยะหลัง 10 ปีที่ผ่านมา ชาวประมงได้มีการเปลี่ยนแปลงเครื่องมือจากเครื่องมืออวนลอยปรับเปลี่ยนไปเป็นเครื่องมืออวนจม จึงทำให้เป็นเครื่องมือทำลายล้างตัวจริงที่ตัดวงจรชีวิตปลาทูและปลาอื่นๆ ทั้งหมด จนทำให้ทรัพยากรสัตว์น้ำไม่สามารถพลิกฟื้นกลับมาสมบูรณ์อย่างจริงจัง” นายมงคลกล่าว และยืนยันว่า ถ้าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกล้า “ห้ามเรือประมงทุกชนิดออกจับปลาในฤดูวางไข่และเขตอนุรักษ์” สำเร็จ ตนเอาตำแหน่งประธานคณะกรรมการบริหารสมาคมการประมงแห่งประเทศไทยมาเป็นประกันเลยว่าปลาทูกลับมาเต็มท้องทะเลแน่นอน หากไม่จริงตนยินดีลาออกจากตำแหน่งทันที

ทางด้านมุมมองของประมงพื้นบ้าน น.ส.นาตยา พูลทั่วญาติ ผู้จัดการสหกรณ์ประมงบางจะเกร็งบางแก้ว จำกัด ต.บางแก้ว อ.เมือง จ.สมุทรสงคราม เคยพาผู้สื่อข่าวลงพื้นที่ดูปลาเป็ดหรือปลาขนาดเล็กที่นำมาบดให้เป็นอาหารสัตว์ โดยปลาเป็ด 1 ลัง หนัก 30 กิโลกรัม เป็นปลาเศรษฐกิจเกินครึ่งลังถึง 18 กิโลกรัม โดยเป็นลูกปลาหางแข็งขนาด 70 ตัวต่อกิโลกรัม จำนวน 13 กิโลกรัม ลูกปลาทูขนาด 50 ตัวต่อกิโลกรัม จำนวน 5 กิโลกรัม

“ปลาทูสูญพันธุ์น่าจะเกิดจากการใช้อวนดำของชาวประมง และมีการแอบจับปลาในฤดูวางไข่ จึงทำให้ปลาเหล่านี้หายไปจากท้องทะเลไทย อีกทั้งยังอาจจะเกิดจากระบบนิเวศที่เปลี่ยนไป ทั้งนี้ เรือประมงที่ไม่ต้องแจ้งเข้าแจ้งออกจะแอบออกหาปลากันตลอดเวลา อีกทั้งบางทีเจ้าหน้าที่ใช้ดุลพินิจในการบังคับใช้กฎหมาย รวมทั้งการใช้ช่องว่างกฎหมายเอื้อประโยชน์ ดังนั้น ควรบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง จำกัดเรื่องตาอวนไม่ให้เล็กเกินไป กำหนดห้ามเครื่องมือที่ทำลายล้าง อย่างเช่น อวนดำออกจับปลา อีกทั้งในช่วงฤดูปิดอ่าวก็ต้องปิดจริงๆ ห้ามเรือทุกชนิดทำการประมงในช่วงฤดูวางไข่ นั่นคือจะทำให้สัตว์น้ำเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน” น.ส.นาตยากล่าว

Advertisement

ด้าน นายบุญสร้าง บุญกอง ประธานหอการค้าจังหวัดสมุทรสงคราม ยอมรับว่า สถานการณ์ปลาทูที่น้อยลงส่งผลกระทบต่อการจัดงาน “เทศกาลกินปลาทูและของดีเมืองแม่กลอง” ซึ่งปีนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 22 ระหว่างวันที่ 13-22 ธันวาคม 2562 โดยนับวันปลาทูเริ่มหายาก การที่จะเตรียมปลาทูขนาด 20 ตัวต่อกิโลกรัม ถึง 10 ตัน หรือประมาณ 200,000 ตัว เพื่อให้เพียงพอในการจัดงานนั้นยากมาก แต่ยังพอหาได้โดยต้อง
เตรียมปลาทูที่ได้ขนาดแช่แข็งเก็บไว้ก่อนงานประมาณ 3-4 เดือน เพื่อให้เพียงพอในการจัดงานดังกล่าว จึงยืนยันว่าปลาทูในอ่าวแม่กลองยังไม่สูญพันธุ์

“สาเหตุปลาทูสูญพันธุ์ มอง 2 ปัจจัยคือ ปัจจัยของมนุษย์ เกิดจากการจับมากเกินไป และปัจจัยสิ่งแวดล้อม ที่เกิดจาก น้ำเสียจากแหล่งต่างๆ โดยเฉพาะน้ำเสียจากฟาร์มหมูจากต้นน้ำที่ไหลลงสู่ทะเล ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสัตว์น้ำ แม้ว่าที่ผ่านมาจะปรากฏภาพและข่าวมากมายมานานหลายสิบปี แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ยังไม่สามารถแก้ปัญหาอย่างจริงจัง บทสรุปสุดท้ายก็คือทะเลเน่าเสียเป็นกระโถน สัตว์น้ำไม่เกิด ปลาทูหาย หอยแครงหาย เคยตาดำที่ใช้ทำกะปิหาย สุดเศร้าของประเทศไทย” นายบุญสร้างระบุ

ขณะที่ นายอำนาจ ศิริเพชร หัวหน้าสถานีวิจัยและพัฒนาประมงทะเลจังหวัดสมุทรสงคราม มองว่า การเพาะพันธุ์ปลาทูมีความเป็นไปได้ เพราะกรมประมงเองก็เริ่มศึกษาวิจัยการเพาะพันธุ์ปลาทูมาตั้งแต่ พ.ศ.2508 โดยทดลองฉีดฮอร์โมนเข้าในตัวปลาทูแต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร ต่อมาส่วนใหญ่จึงเป็นการศึกษาวิจัยด้านชีววิทยาการดำรงชีวิตการแพร่กระจาย จนทำให้รู้ข้อมูลพื้นฐานของปลาทูสำหรับการเพาะพันธุ์และการรวบรวมพ่อแม่ปลาทู ปี พ.ศ.2555 ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งเพชรบุรีได้วิจัยหาการจัดการที่เหมาะสมในการลำเลียงพ่อแม่พันธุ์ปลาทู ต่อมาศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงสมุทรสาครและสมุทรสงครามจึงร่วมกันเพาะพันธุ์ปลาทูได้สำเร็จ แต่พบปัญหาอาหารปลาทูวัยอ่อนไม่สมบูรณ์ ทำให้ลูกปลาทูหมุนควงสว่านตายลงในที่สุด ปี 2560 ตนมารับตำแหน่งได้พยายามเพาะพันธุ์ปลาทูอีกครั้ง โดยออกทะเลไป 2 รอบในปี 2560-2561 แต่รวบรวมปลาทูได้น้อยและได้มาทดลองเพาะเลี้ยงก็พบว่าปลาทูเป็นปลาฝูงและไม่สามารถแยกเพศปลาทูตัวผู้หรือตัวเมียด้วยตาเปล่า การผสมพันธุ์เพื่อวางไข่ต้องใช้ปลาทูจำนวนมากอย่างน้อยกว่า 200 ตัว จึงยังรวบรวมไม่เพียงพอมาเพาะพันธุ์

“ตอนนี้เจ้าหน้าที่กำลังปรับปรุงสถานที่และระบบน้ำภายในบ่อเพาะฟักให้มีความเหมาะสม เตรียมวัสดุอุปกรณ์ บุคลากรที่มีประสบการณ์ในการเพาะพันธุ์ปลาทูสำเร็จที่ผ่านมา และหารือไปยังศูนย์วิจัยเครือข่ายเพื่อหาองค์ความรู้ร่วมกัน โดยในเดือนตุลาคมและพฤศจิกายน 2562 ทางสถานีวิจัยและพัฒนาประมงทะเลจังหวัดสมุทรสงครามจะรวบรวมพ่อแม่พันธุ์ปลาทูจากอ่าวแม่กลองมาบำรุงเลี้ยงอาหารให้มีความสมบูรณ์ที่สุดเพื่อขยายพันธุ์ มั่นใจว่าการเพาะพันธุ์ปลาทูครั้งนี้จะประสบความสำเร็จอย่างแน่นอน จากนั้นจะนำลูกปลาทูไปปล่อยในทะเลอ่าวแม่กลองเพื่อไม่ให้ปลาทูสูญพันธุ์” นายอำนาจกล่าว

จากสถานการณ์ที่ทุกฝ่ายพบความเสี่ยงการสูญพันธุ์ของปลาทู คงเป็นโจทย์ที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องลงมาแก้ไขอย่างจริงจัง อย่าปล่อยให้ปลาทูต้องสูญพันธุ์จากอ่าวไทย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image