ก.พลังงานยันต้องตีความกม. นักวิชาการชี้สัดส่วนไร้ผล มีสัญญารัดกุม-กำหนดเวลาซื้อไฟ

ก.พลังงานยันต้องตีความกม.นักวิชาการชี้สัดส่วนไร้ผล มีสัญญารัดกุม-กำหนดเวลาซื้อไฟ

กรณีสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินแจ้งผลการวินิจฉัยกรณีกระทรวงพลังงานกำหนดนโยบายและแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าโดยให้เอกชนเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้า ส่งผลต่อสัดส่วนกำลังการผลิตไฟฟ้าของรัฐลดลงต่ำกว่า 51% ขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 56 วรรคสอง และมีข้อเสนอต่อกระทรวงให้พิจารณาดำเนินการตามข้อเสนอแนะให้แล้วเสร็จภายใน 120 วัน หลังได้รับหนังสือแจ้งผลการวินิจฉัย เพื่อไม่ให้ขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ

แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า กรณีรัฐธรรมนูญ 2562 มาตรา 56 วรรคสอง ที่ระบุว่า โครงสร้างหรือโครงข่ายขั้นพื้นฐานของกิจการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานของรัฐ อันจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของประชาชนหรือเพื่อความมั่นคงของรัฐ จะกระทำด้วยประการใด ให้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของเอกชนหรือทำให้รัฐเป็นเจ้าของน้อยกว่าร้อยละห้าสิบเอ็ดมิได้ นั้น ที่ผ่านมากระทรวงพลังงานตีความจากคำว่า “โครงสร้างหรือโครงข่าย” จึงเห็นว่าหากให้เอกชนเข้ามาผลิตไฟฟ้าเพื่อสร้างการแข่งขันด้านต้นทุนไฟฟ้า แต่รัฐยังเป็นเจ้าของสายส่งและยังดูต้นทุนการผลิตไฟฟ้าของเอกชนอยู่ จึงถือว่าได้ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญแล้ว ทำให้ปัจจุบันการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)มีสัดส่วนผลิตไฟฟ้าของประเทศกว่า 30% ไม่ถึง 51% อย่างไรก็ตามปัจจุบันการผลิตไฟฟ้าของไทยมีความมั่นคงสูง มีปริมาณสำรองมากกว่า 20% จากปริมาณไฟฟ้ารวมทั้งประเทศกว่า 55,000 เมกะวัตต์

นายมนูญ ศิริวรรณ ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน กล่าวว่า การกำหนดสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าของรัฐนั้นเป็นการตีความตามรัฐธรรมนูญ คงต้องให้ทางคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.)ที่มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน พิจารณาว่าจะเห็นด้วยกับแนวทางที่ผู้ตรวจการแผ่นดินเสนอมาหรือไม่ มองว่าการที่ภาครัฐถือหุ้นกำลังการผลิตไฟฟ้ามากกว่าหรือน้อยกว่าภาคเอกชน มีผลทั้งบวกและลบ เนื่องจากการจะให้ภาครัฐมีกำลังการผลิตไฟฟ้าสูงถึง 51% อาจจะช่วยทำให้เกิดความมั่นใจเและเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ แต่ในแง่ของนโยบายเปิดเสรีภาคกำลังการผลิตไฟฟ้า ที่พยายามทำมาตลอด จะทำให้ภาคเอกชนเกิดความไม่ไว้ใจว่า ทำไมนโยบายของภาครัฐถึงมีการเปลี่ยนแปลง สิ่งที่ภาคเอกชนลงทุนไปแล้วจะต้องได้รับผลกระทบ

Advertisement

“เรื่องนี้ควรมีการพิจารณาเรื่องนี้อย่างรอบคอบ เพราะตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561-2580 (พีดีพี 2018) ได้กำหนดสัดส่วนไปแล้วว่า การผลิตไฟฟ้าจะเน้นหนักไปทางภาคเอกชนมากกว่าภาครัฐ”นายมนูญกล่าว

นายมนูญกล่าวว่า อีกมุมหนึ่ง หากภาคเอกชนมีกำลังการผลิตไฟฟ้าสูงขึ้นเรื่อยๆ จะส่งผลกระทบกับความมั่นคงในด้านใดบ้างหรือไม่ มองว่าความจริงแล้วความมั่นคงไม่ได้ขึ้นอยู่กับฝ่ายใดจะเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าได้มากกว่ากัน เพราะขึ้นอยู่กับว่าภาครัฐได้ทำสัญญากับผู้ประกอบการได้รัดกุมมากน้อยแค่ไหนมากกว่า ซึ่งปกติแล้วการทำสัญญากับผู้ผลิตไฟฟ้า(ไอพีพี) จะมีสัญญาที่ชัดเจนแน่นอนอยู่แล้วว่า เมื่อผู้ประกอบการได้สัมปทานการผลิตไฟฟฟ้าไป จะต้องผูกมัดกี่ปีและจะต้องผลิตไฟฟ้าให้ได้ตามที่ตกลงกันและในราคาที่ตกลงกันไว้ เพราะฉะนั้นจึงมีความมั่นคงอยู่แล้ว ไม่ได้จำเป็นว่าต้องให้ภาครัฐผลิตเองถึงจะมั่นคง หรือให้ภาคเอกชนผลิตในสัดส่วนที่น้อยกว่าถึงจะมั่นคง เพราะความมั่นคงจริงๆอยู่ที่การทำสัญญาที่รัดกุมกับผู้ประกอบการ มีเนื้อหาชัดเจน มีมาตรฐานของการทำสัญญา

“อนาคตต้องขึ้นอยู่กับว่าภาครัฐจะคงสัดส่วนกำลังการผลิตไฟฟ้าไว้ที่เท่าใด จะคงสัดส่วนไว้เท่าเดิม หรือเพิ่มสัดส่วนของภาครัฐมากขึ้น โดยให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เพิ่มกำลังการผลิตขึ้นอีก เพื่อให้ภาครัฐเข้ามามีบทบาทเพิ่มขึ้น ซึ่งความจริงแล้วกฟผ. ก็มีบริษัทลูกอยู่ 2 บริษัท ทำให้อาจจะเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้า ไปให้ทั้ง 2 บริษัทลูกเพิ่มมากขึ้นก็ได้”นายมนูญกล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image