“โกลเบล็ก”จับตาประชุมเฟดสิ้นเดือนนี้ แนะเลือกลงทุนในหุ้นที่มีปัจจัยบวกรองรับ

นางสาววิลาสินี บุญมาสูงทรง ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ โกลเบล็ก จำกัด หรือ GBS เปิดเผยว่า ทิศทางตลาดหุ้นไทยตอบรับปัจจัยบวกจากกรณีสหรัฐฯและจีนเตรียมเจรจาการค้ารอบใหม่สัปดาห์นี้ โดยจีนกำลังพิจารณาที่จะสั่งซื้อสินค้าเกษตรบางรายการจากสหรัฐฯเพิ่มเติม ส่วนปัจจัยลบที่กดดันความเชื่อมั่นการลงทุนในระยะนี้ เป็นเรื่องของการที่สหรัฐฯเปิดเผยตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้น 224,000 ตำแหน่งในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ซึ่งมากกว่าที่ตลาดคาดว่าจะเพิ่มขึ้นที่ 165,000 ตำแหน่ง หลังเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ทำให้เป็นส่วนลดความหวังต่อคาดการณ์ที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในการประชุมช่วงสิ้นเดือนนี้

นางสาววิลาสินี กล่าวว่า รวมถึงการที่ธนาคารโลก (World Bank) ได้ปรับลดคาดการณ์ผลิตภัณฑ์มวลรวม (จีดีพี) ของไทยปีนี้จะโตเหลือ 3.5% จากคาดการณ์เดิมโตที่ 3.8% โดยในปี 2561 จีดีพีไทยโตที่ 4.1% ซึ่งเป็นผลกระทบจากการส่งออกในไตรมาส 1 ของปีนี้ ที่หดตัวในรอบ 3 ปี และการลงทุนของภาครัฐลดลง โดยมีความไม่แน่นอนทางการเมืองที่ยืดเยื้อเป็นความเสี่ยงที่สำคัญ ประกอบกับสถานการณ์ระหว่างสหรัฐฯและอิหร่านตึงเครียดขึ้น หลังอิหร่านประกาศจะละเมิดข้อจำกัดการเสริมสมรรถนะยูเรเนียมที่ใช้ผลิตอาวุธนิวเคลียร์ และธนาคารดอยซ์แบงก์ซึ่งเป็นธนาคารขนาดใหญ่ที่สุดของเยอรมนี ประกาศแผนปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ รวมถึงการปรับลดจำนวนพนักงานกว่า 18,000 ตำแหน่ง  ซึ่งการปรับโครงสร้างในครั้งนี้คาดว่าจะส่งผลให้ผลดำเนินงานในไตรมาส 2 ของปี 2562 ขาดทุนประมาณ 2.8 พันล้านยูโร

นางสาววิลาสินี กล่าวว่า นอกจากนี้ยังคงต้องจับตาในวันนี้ (9 กรกฎาคม) เนื่องจากสหรัฐฯจะเปิดเผยความเชื่อมั่นของธุรกิจขนาดย่อมเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ตัวเลขการเปิดรับสมัครงานและอัตราการหมุนเวียนของแรงงานในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ส่วนในวันที่ 10 กรกฎาคมนี้ ต้องจับตานายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะแถลงการณ์ว่าด้วยนโยบายการเงินและภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯต่อสภาสหรัฐฯ รวมทั้งสหรัฐฯจะเปิดเผยสต็อกสินค้าคงคลังภาคค้าส่ง สต็อกน้ำมัน

นางสาววิลาสินี กล่าวว่า เช้าวันที่ 11 กรกฎาคมนี้ คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (FOMC) จะเปิดเผยรายงานการประชุมเมื่อวันที่ 18-19 มิถุนายนที่ผ่านมา ส่วนจีนจะมีการเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) และดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา และจีนจะเปิดเผยยอดขายรถของเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ส่วนสหรัฐฯจะเปิดเผยจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ และอัตราเงินเฟ้อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา รวมถึงในวันที่ 12 กรกฎาคมนี้ สหรัฐฯจะเปิดเผยดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ส่วนทางสหภาพยุโรป (อียู) จะเปิดเผยการผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา และจีนจะเปิดเผยยอดส่งออก นำเข้า ดุลการค้า รวมถึงยอดปล่อยกู้สกุลเงินหยวนของเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาด้วย

Advertisement

เกาะกระแสเศรษฐกิจ กับ Line@มติชนเศรษฐกิจใกล้ตัว

เพิ่มเพื่อน

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image